27 ม.ค. 2019 เวลา 09:03 • การศึกษา
อธิการฯคนใหม่ จะพา ม.อุบลฯไปทางไหน?
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562
สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณารายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ตามรายชื่อที่ คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอ และมีมติเลือก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่อไป
อธิการคนปัจจุบัน (รองศาสตราจารย์ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข) หมดวาระ 26 เมษายน 2562 คนใหม่เริ่มดำรงตำแหน่ง 27 เมษายน 2562 แต่ต้องรอการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง น่าจะทันวันเข้าดำรงตำแหน่ง หากไม่ทัน สภามหาวิทยาลัยฯสามารถแต่งตั้งให้รักษาราชการระหว่างรอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งได้
UbonConnect ได้เรียบเรียง วิสัยทัศน์ของว่าที่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คนใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา พบว่าจะพามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไปในทิศทางดังต่อไปนี้...
ใน 4 ปีเราจะเห็น
1.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีออกนอกระบบ (เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) เพราะแบบเดิมไม่คล่องตัว บริหารยาก เงินน้อยลง เงินเหลือต้องคืนคลัง รัฐเขาจ่ายมาเป็นรายการ ให้มารายการไหนก็ต้องใช้ตามรายการนั้นเท่านั้น เงินเหลือต้องคืนกระทรวงการคลัง
แต่ถ้าอยู่ในกำกับของรัฐจะปลดล็อคหลายอย่าง รัฐจะจัดสรรให้เป็นก้อน เป็นแบบล่ำซำ ถ้าเงินเหลือสามารถนำมาบริหารจัดการได้ โดยไม่ต้องคืนกระทรวงการคลัง ก็นำส่วนนั้นมาบริหารให้มีประสิทธิภาพ ใช้พัฒนามหาวิทยาลัย หรือนำไปจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพเพื่อสิทธิประโยชน์หรือความมั่นคงของพนักงานมหาวิทยาลัยได้
เรื่องนี้น่าจะเสนอ สกอ.แล้วเสร็จใน 2 ปี (ภายในปี 2563)
2.ปรับยุทธศาสตร์ใหม่เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาของแผ่นดิน ถ้าเราวิ่งตามคนอื่น ทำแบบมหาวิทยาลัยอื่นเราไม่มีทางวิ่งทัน ต้องหาจุดเด่นที่แตกต่าง และเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้คนหันมารู้จักเรา โดดเด่นอย่างแตกต่าง เช่น Medical and Wellness Hub , เกษตรนวัตกรรมใหม่ (ภายในปี 2565)
3.มหาวิทยาลัยอุบลฯจะปรับให้คล่องตัว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก (ภายในปี 2563)
4. บุคลากรต้องมีความเข้าใจตรงกัน มองเห็น และมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ปีแรกจะปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารและบุคลากรให้ทราบสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ถูกต้องครบถ้วน มีการสื่อสารแบบสองทาง พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม (ภายในปี 2563)
5.มหาวิทยาลัยต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเสถียรภาพและความยั่งยืน (ภายในปี 2566)
วิกฤติที่มหาวิทยาลัยอุบลฯต้องเผชิญในมุมมองของอธิการบดีฯคนใหม่
1.วิกฤติมหาวิทยาลัยเจ๊ง! รายได้ไม่พอในการนำมาพัฒนามหาวิทยาลัย รายได้หลักมาจากค่าลงทะเบียน แต่เด็กเกิดใหม่น้อย แถมเด็กยังอยากเรียนจบเร็ว ได้เงินเร็ว ๆ การแข่งขันระดับอุดมศึกษามีสูง
2.วิกฤติงบประมาณของรัฐลดลง เน้นให้บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐร่วมกันให้มากขึ้น
3.วิกฤติ ไม่มีจุดเด่นและชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเชิงกว้าง
4.ความไม่คล่องตัวของระบบราชการ เบิกตรงนั้นก็ไม่ได้ ตรงนี้ก็ไม่ได้ ติดระเบียบ
5.การก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
6.บุคลากรยังขาดความตระหนักรู้เรื่องวิกฤติขององค์กรคิดว่ามันยังมาไม่ถึงตัว
ทางออกวิกฤติของ อธิการบดีฯคนใหม่
1.ปรับองค์กร ออกจากระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะบริหารคล่อง มีโอกาสมีเงินในการบริหารเพิ่มมากขึ้น ดังที่กล่าวผ่านมาแล้ว ,
2.ปรับโครงสร้างองค์กร และอัตรากำลังบุคลากร ใช้ทรัพยากรร่วม ตั้งหน่วยงานใหม่ให้เหมาะสมกับพันธกิจ
3 .ปรับระบบการจัดการศึกษา ปรับหลักสูตรเดิมให้โดดเด่น เพิ่มหลักสูตรใหม่ สร้างหลักสูตรระยะสั้นสำหรับทุกช่วงวัย โดยนำทั้งปัจจัยภายในและภายนอกมาร่วมปรับ , ต้องพัฒนาอาจารย์ พัฒนานักศึกษา พัฒนาระบบสิ่งแวดล้อม
4.ปรับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย หูตาต้องไว ยุทธศาสตร์ 5 ปี 10 ปีไม่ทันแล้ว ต้องคอยดูบริบทเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นเรื่องอะไร ตามนโยบายรัฐ ตั้งวิสัยทัศน์ให้เป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน ให้ชุมชนรับรู้ ประทับใจ บอกต่อ ขยายวงกว้างจากชุมชน สังคม ประเทศ ยุทธศาสตร์ก็ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน ทบทวนแผนทุก 2 ปี
4.พัฒนาระบบจัดการองค์กร เน้นการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาล ความสุขความผูกพัน ความสามัคคีขององค์กร ปรับสิ่งที่มันลำบากกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อให้เราทำงานเชิงรุกให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่หลุดจากกรอบเก่า เน้นบริหารบุคคลแบบมุ่งผลงานและสมรรถนะ , ปรับการประเมินใหม่ สร้างแรงจูงใจให้ทำงานได้ , คิดถึงองค์กรเป็นหลัก , นำเกณฑ์คุณภาพมาใช้ให้ตรงใจคนทำงาน ขณะที่เหลือบตามองคู่แข่งไปพร้อมกัน , สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ , ปลายทางเป็น Green University
5.พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จัดระบบข้อมูล ดึงฐานข้อมูลต่าง ๆ มารวมไว้ในถังเดียว วิเคราะห์ สังเคราะห์ ดึงมาใช้โดยง่าย เป็นปัจจุบัน (MIS) , นำข้อมูล มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริหาร และนำไปสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ประวัติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา ว่าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จบปริญญาตรี เภสัชศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
จบปริญญาโท เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบปริญญาเอก เภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประกาศนียบัตรบัณฑิต การแพทย์ทางเลือกโฮมีโอพาธีย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หลักสูตรนักบริหารระดับสูงมหาวิทยาลัย (นบม.) รุ่นที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
หลักสูตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA assessor) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ผู้ประเมินตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx assessor) ของสำนักงานการอุดมศึกษา
ประสบการณ์ด้านการบริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผน (พ.ศ.2542-2544)
ประสบการณ์ด้านการบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
พ.ศ.2553-ปัจจุบัน คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ 2 วาระ
พ.ศ.2549-2553 รองคณบดีฝ่ายบริหาร
พ.ศ.2549-2549 หัวหน้ากลุ่มวิชาชีวเภสัชศาสตร์
พ.ศ.2537-2542 รองคณบดีฝ่ายบริหาร
เรียนจบมาใหม่ ๆ ก็ทำงานบริษัทยา เห็นมุมมองการบริหารงานของเอกชน ทั้งด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์เชิงรุกต่าง ๆ แต่งงานและมาอยู่จ.อุบลราชธานี ในปี 2534 สามีเป็นรองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองวารินชำราบ
เริ่มทำงานม.อุบลต้นปี 2535 มาช่วยในโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ บรรจุปลายปี 2535 เป็นข้าราชการคนแรกของคณะที่ได้บรรจุ ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา ทำงานด้านบริหารมาโดยตลอด เริ่มจากรองคณบดี แล้วก็มาเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย วางแผนในสมัยท่านศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ เป็นคณบดี
แล้วก็มาเป็นคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ 2 วาระ รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย
เรียบเรียงจากการแสดงวิสัยทัศน์ ผู้ตอบรับการทาบทามที่มีคุณสมบัติและความเหมาะสมเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ที่โรงแรมยูเพลส
ขอบคุณภาพจาก
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Facebook : Chutinun Prasitpuriprecha
โฆษณา