28 ม.ค. 2019 เวลา 12:21 • การศึกษา
•ชาวยิวเขาเรียนกันแบบไหน ?•
เยชิวา (Yeshiva) เป็นชื่อเรียกสำหรับโรงเรียนศาสนาในอิสราเอล ถ้าพูดถึงการเรียนศาสนา เราอาจจะนึกภาพว่าต้องเป็นห้องเรียนที่เงียบสงบเหมือนสถานปฏิบัติธรรมแน่ๆ แต่สำหรับชาวอิสราเอลแล้วกลับตรงกันข้ามเลย
เยชิวามีความวุ่นวายไม่ต่างจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ที่เยชิวาถือเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาของชาวยิว ที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ศึกษาความรู้ด้านศาสนา ปรัชญาแต่ที่นี่ยังช่วยฝึกให้พวกเขามีความจำที่โดดเด่น
ว่าแต่ทำไมถึงต้องฝึกความจำด้วยในเมื่อเรามีเทคโนโลยีมากมายในการช่วยจำ ?
คำตอบก็คือ วัฒนธรรมของพวกเขา ชาวยิวเป็นชนชาติเดียวในโลกที่ได้รับบัญญัติทางศาสนาที่บังคับให้พวกเขาต้องจำ
.
เพื่อว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้กฎและเรื่องราวของบรรพบุรุษของเขา เพื่อว่าพวกเขาจะได้เดินไปในเส้นทางเดียวกัน และเพื่อว่าพวกเขาจะอ้างไม่ได้ว่าไม่รู้จักสิ่งที่ดีกว่า
ชนชาติยิวขึ้นชื่อว่าเป็นชนชาติที่ฉลาดที่สุดในโลก และความเก่งของพวกเขาส่วนหนึ่งก็มาจากการฝึกความจำ
1
ถ้าจะมีวิธีไหนที่เราจะสามารถเก่งได้แบบชาวยิว วิธีนั้นก็น่าจะเป็นการเลียนแบบพวกเขา และเราสามารถเริ่มต้นเลียนแบบพวกเขาได้ด้วยศึกษาวิธีเรียนที่เยชิวา
เคล็ดลับในการเรียนที่เยชิวา มีหลักอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ
.
เรียนกับเฮฟรูทาห์ (Hevrutah)
.
เรียนด้วยการส่งเสียงดังและ
.
เรียนขณะที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีความสุข
หลักการ 3 อย่างของพวกเขาเรียกว่าตรงข้ามกับการเรียนของเราโดยสิ้นเชิง การเลียนแบบพวกเขาอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังซักหน่อย มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัว
--เรียนกับเฮฟรูทาห์--
การเรียนกับเฮฟรูทาห์ก็คือการเรียนกับคู่หู นักศึกษาทุกคนมีคู่หูร่วมเรียนกันตลอด ในตอนที่ยังเด็ก ครูจะเลือกคู่หูให้กับพวกเขา และเมื่อโตขึ้นพวกเขาจะรับผิดชอบตนเองในการหาคู่ที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด
การเรียนแบบคู่หูอาจจะดีกว่าฟังอาจารย์สอนในห้องในกรณีที่เราฟังไม่รู้เรื่อง
เพราะปกติเวลาที่เราฟังไม่รู้เรื่อง เรามักจะไม่กล้ายกมือถาม แต่เราจะถามเพื่อนที่นั่งข้างๆแทน ซึ่งถ้าเพื่อนเราเก่ง เราก็จะเอาตัวรอดจากวิชานั้นได้ แต่ถ้าเพื่อนเราไม่เก่ง ผลก็ตรงกันข้าม
ดังนั้นการเลือกเฮฟรูทาห์ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผู้ที่เป็นเฮฟรูทาห์ที่ดีคือผู้ที่กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน
ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า
.
"ข้าพเจ้าเรียนรู้มากมายจากแร็บไบ(อาจารย์)ของข้าพเจ้า และเรียนรู้มากยิ่งกว่านั้นจากเพื่อนของข้าพเจ้า"
จากประโยคในคัมภีร์แสดงว่าเราไม่เพียงแต่ต้องหาเฮฟรูทาห์ที่ดี แต่เราต้องทำตัวเป็นเฮฟรูทาห์ที่ดีด้วย การเรียนแบบคู่หูก็ถือเป็นการบีบให้เราพัฒนาตนเองไปในตัว เพราะเราคงไม่อยากที่จะเป็นตัวถ่วงคู่หูของเรา
การหาเฮฟรูทาห์ที่ดีในการเรียนที่เยชิวาก็เหมือนกับที่ต้องหา Co-founder ที่ดีในวงการสตาร์ทอัพ
มีงานวิจัยของ MIT เผยออกมาว่าบริษัทที่ก่อตั้งโดยผู้ก่อตั้งหลายคนจะประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทที่ตั้งโดยคนๆเดียว
ในข้อนี้เราอาจสรุปได้ว่า ถ้าเราอยากเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จ (ไม่ว่าด้านใด) สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ หาคู่หู
--เรียนด้วยการส่งเสียงดัง--
การเรียนแบบคู่หูไม่มีไว้สำหรับการสลับกันฟังและพูด จุดประสงค์ของการเรียนแบบคู่หูคือให้มีการโต้ตอบกัน
ชาวอิสราเอลยึดถือคติที่ว่า "เราขอแย้งตามเหตุผลของเราจนกว่าเราจะตาย" ทำให้พวกเขาเป็นพวกที่รับมือได้ยากเพราะพวกเขาจะเถียงตลอด
สมมติว่าคนอิสราเอลทำการเจรจากับคนไทย คนอิสราเอลอาจจะมีโอกาสที่จะชนะมากกว่าเพราะพวกเขาถูกฝึกให้มีการแสดงความเห็นและไม่ยอมคน
แล้วถ้าคนอิสราเอลทำการเจรจากับคนอิสราเอลด้วยกันล่ะ ?
ก็คงจะเป็นเหมือนคติข้างต้น เถียงจนกว่าจะตายกันไปข้าง
ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่ห้องเรียนเยชิวามีการส่งเสียงดัง พวกเขาเผชิญหน้า ถกเถียง แสดงความเห็น ตะโกน จับผิดจนเหมือนว่าจะเอาคัมภีร์ฟาดหัวอีกฝ่าย
แต่พวกเขาจะไม่ลงไม้ลงมือกัน พวกเขารู้ว่าตรงไหนไม่ควรจะล้ำเส้น พวกเขาตั้งใจไปถึงแค่ตรงเส้นนั้น แต่ไม่ข้ามไป
ส่วนผู้สอนจะใช้วิธีบอกให้นักศึกษาตั้งใจฟังจนจบคงไม่ได้ผลและถ้าสอนผิดพวกนักศึกษาก็พร้อมที่จะโต้ตอบตลอดเวลา
นักศึกษามีโอกาสยกมือถามได้เมื่อมีข้อสงสัยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการขัดจังหวะ ดังนั้นวิธีที่เหมาะกับการสอนที่นี่คือ ผู้สอนจะตั้งคำถามในลักษณะที่ทำให้นักศึกษาคิด ค้นคว้า และได้แนวความคิดและแนวทางที่เป็นไปได้ของตน
โดยวิธีนี้นักศึกษาจะได้ข้อสรุปของตนเองซึ่งทำให้พวกเขาจดจำได้ดีกว่าฟังผู้สอน
นอกจากนี้การเรียนด้วยการส่งเสียงดังทำให้เราเปิดประสาทตาและประสาทหูเพื่อช่วยส่งเสริมความจำ
และวิธีนี้ยังได้ผลเวลาที่เราเจอวิชาที่ไม่น่าสนใจ เพราะการส่งเสียงดังจะสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความกระตือรือร้นเทียม”ได้
--เรียนขณะที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีความสุข--
คงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะเถียงกันโดยที่ยังนั่งนิ่งๆบนเก้าอี้ การถกปัญหาอย่างดุเดือดทำให้พวกเขามีการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นการยืนหรือเดิน
และมันก็เป็นผลดีกับพวกเขาไปในตัวเพราะการโยกตัวเป็นการให้จังหวะที่ช่วยให้เรามีสมาธิและเพิ่มออกซิเจนไปสู่สมอง ออกซิเจนที่เพิ่มขึ้นช่วยปรับปรุงความสามารถในการคิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยให้พวกเขาควบคุมอารมณ์ได้ดีขณะที่เรียนอยู่
อารมณ์ที่ขัดขวางการเรียนอย่างได้ผลก็คืออารมณ์โกรธ
เวลาที่เราโกรธ หงุดหงิด เรามักจะนึกอะไรไม่ออกเลยทั้งๆที่มันเป็นสิ่งที่เราก็รู้คำตอบ ดังนั้นถ้าเราจัดร่างกายให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมจะทำให้เราคุมอารมณ์ได้อยู่หมัด
ลองกางแขน แหงนหน้ามองฟ้า แล้วยิ้ม จากนั้นตะโกนว่า "ฉันหงุดหงิด ฉันอารมณ์เสีย!" ดูสิ คุณจะเห็นว่ามันทำได้ลำบากกว่าปกติ
เพราะพฤติกรรมของเรา(ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย) มีผลต่อวิธีคิดของเรา การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทุกครั้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
David Ben-Gurion วีรบุรุษของชาวอิสราเอลก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
Ben-Gurion ในวัย 71 ปีมักจะทำท่าหกสามเส้าเป็นครั้งเป็นคราว เขาเคยทำท่านี้ท่าชายหาดจนมีคนถ่ายรูปแล้วมาทำเป็นโปสเตอร์และยังมีคนทำรูปปั้นเลียนแบบท่าของเขาอีกด้วย
ถ้าจะหาคนมาเป็นนายกฯหรือคณะรัฐมนตรี การวัดสมรรถภาพทางกายด้วยท่าหกสามเส้าอาจจะเป็นความคิดที่ดีก็ได้
เพราะตอนเข้ามาเขาอาจจะเก่ง แต่หลังๆอาจจะมีฟอร์มตกกันบ้าง การมีร่างกายที่ดีก็เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามีความคิดเพี้ยนๆออกมา
การเรียนที่เยชิวาอาจจะดูเป็นวิธีที่ประหลาด ซึ่งมันก็ประหลาดจริงๆนั่นแหละ อีกอย่างมันก็ไม่เข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทยซักนิด แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นวิธีที่นอกกรอบการเรียนรู้แบบเดิมๆ
เราอาจจะเลียนแบบทั้งหมดทันทีไม่ได้ แต่อย่างน้อยการค่อยๆฝึกทำก็เป็นแนวทางที่ดี
เร่ิมต้นด้วยการหาคู่หูการเรียนที่กล้ามีการโต้ตอบ (แต่อย่าให้ถึงลงไม้ลงมือ)
จากนั้นก็ไปฝึกโต้แย้งกันในห้องที่เล็กๆ ที่คุณกล้าแหกปากใส่กัน (อย่างมีเหตุผล)
และสุดท้าย อย่าลืมฝึกท่าหกสามเส้า
พอดีผมส่งบทความเรื่อง "myAgro ช่วยเกษตรกรให้หลุดพ้นความยากจนด้วยระบบเติมเงินมือถือ" ที่เคยเขียนใน Blockdit เข้าแข่งขันในงาน Techsaucier of the Year และเข้ารอบ 5 บทความสุดท้ายซึ่งวัดผลกันด้วย Like กับ Share
ขอให้เพื่อนในที่นี้ช่วยกันกดโหวตให้หน่อยนะครับ โดยกด Like&Share ผ่านลิ้งค์นี้ โหวตได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562
ขอบคุณครับ :D
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ Jerome becomes a genius
หนังสือ Start-up nation
โฆษณา