30 ม.ค. 2019 เวลา 20:01 • การศึกษา
Atlas Story : เมืองมลพิษระดับ Top 5
และเมืองที่แทบไร้มลพิษ
ตั้งแต่จำความได้
ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิต
ที่ผมได้มีโอกาสพบเห็น
ทางการสั่งปิดการเรียนการสอน
ของโรงเรียนทั่วเมืองกรุง
ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากสิ่งที่มองไม่เห็น
(แต่สัมผัสได้ มีอยู่จริง และน่ากลัวมาก)
ปัญหาของสิ่งที่มองไม่เห็นในครั้งนี้
กลายเป็นปัญหาที่หนักหนาและเริ่มยาวนาน
และทำให้พวกเราทุกคนได้เริ่มมองเห็น
ว่าพฤติกรรมที่พวกเราทำ มลภาวะที่พวกเราปล่อย
กำลังค่อยๆย้อนกลับมาทำร้ายเราทีละนิดๆ
นอกจากหน้ากากอนามัย N95
เครื่องฟอกอากาศ
ลามไปจนถึง
เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดพกพา
อีกสิ่งหนึ่งที่หลายท่านผู้ใช้สมาร์ทโฟน
ได้โหลดมาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
ก็คือแอพลิเคชั่นซึ่งรวบรวมข้อมูลสภาพมลภาวะทางอากาศ
หนึ่งในนั้นคือแอพลิเคชั่น AirVisual
ซึ่งในแอพลิเคชั่นนี้
ได้แสดงผลของมลพิษทางอากาศเป็น
US AQI (Air Quality Index)
ซึ่งจะแบ่งเป็นสีตามคุณภาพของอากาศ
โดยจะมีข้อมูลของเมืองต่างๆทั่วโลก
ทั้งในรูปแบบของตารางและแผนที่
ตัวผมเองซึ่งชอบนั่งดูแผนที่อยู่แล้ว
นอกจากดูข้อมูลของฝุ่นในกรุงเทพ
และจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย
ก็ได้ลองขยายมุมมองในแผนที่
เพื่อดูสภาพฝุ่นของประเทศต่างๆ
แล้วก็รู้สึกตกใจที่ได้พบว่า
บนโลกใบนี้(ในขณะเวลาที่ดู)
ยังมีทั้งเมืองที่มีอากาศแย่กว่ากรุงเทพหลายเท่า
(แค่อากาศกรุงเทพในช่วงนี้
หายใจทีก็แสบจมูกมากแล้ว)
และเมืองที่อากาศแสนดี
เหมาะแก่การสูดหายใจให้ทั่วปอด
บนโลกใบเดียวกัน อะไรที่ทำให้แตกต่างกันได้ขนาดนี้
Atlas a lot ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จัก
กับเมืองที่อากาศแย่ (4 เมืองในTop 5)
และเมืองที่อากาศดี (มิวนิคและอัมสเตอร์ดัม)
ณ เวลา 00.42 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2562 ครับ
..
จริงๆแล้ว
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในเมืองคือ
"กระแสลม" ครับ
ซึ่งหากเราสังเกตแผนที่มลพิษดีๆ จะพบว่า
เมืองที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล
มีลมพัดเป็นประจำ
และมีการระบายของลมได้ดีกว่า
(บางชายฝั่งก็ไม่มีลมพัด เช่น แถบทะเลทราย)
จะมีค่าของมลภาวะ
ต่ำกว่าเมืองที่ตั้งอยู่ภายในแผ่นดิน
นั่นคือสาเหตุที่ทำให้หลายครั้งที่ดัชนีค่ามลภาวะของกรุงเทพ ต่ำกว่าเชียงใหม่
ทั้งๆที่มีปริมาณการก่อสร้าง
และการใช้รถยนต์ที่มากกว่าหลายเท่าตัว
ซึ่งเมื่อดูที่ตั้งของเมืองที่มีมลพิษระดับ Top 5 แล้ว
4 ใน 5 เมือง
คือ เดลี โกลกาตา (อินเดีย)
ธากา (บังคลาเทศ) และกาฐมาณฑุ (เนปาล)
ตั้งอยู่ในเขตที่ราบ Indus-Ganga
(Indo-Gangetic Plain)
ซึ่งเป็นเขตที่ราบใหญ่ที่ลากยาวจากแม่น้ำสินธุ
ในปากีสถาน
มาจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร
ในอินเดียและบังคลาเทศ
รูปภาพจาก Wikipedia
ทางทิศเหนือของที่ราบใหญ่
ติดกับเทือกเขาหิมาลัยอันสูงชัน
ส่วนทางทิศใต้ติดกับที่ราบสูงโชตนาคปุระ
(Chota Nagpur Plateau)
โดยปกติแล้วในช่วงฤดูฝน
บริเวณที่ราบลุ่มขนาดใหญ่นี้
จะชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน
จากลมมรสุมที่พัดมาจากอ่าวเบงกอล
แต่เมื่อไร้ลมใดในฤดูแล้ง
(ช่วงเปลี่ยนฤดูจากหนาวสู่ฤดูแล้ง)
ประกอบกับมีภูเขาสูง
มาบดบังการระบายของลมถึงสองด้าน
เมื่อนั้น
ที่แห่งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับตู้อบควันดีๆนี่เอง
แต่อีกสาเหตุของฝุ่นที่ขาดไม่ได้
ก็คือกิจกรรมของมนุษย์
ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร
ได้ชื่อว่าเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก
(มากกว่า 1,000 คนต่อตารางกิโลเมตร)
โดยเมืองใหญ่ทั้ง เดลี มีประชากร 22 ล้านคน
โกลกาตา 14.6 ล้านคน
ธากา 13.9 ล้านคน
และกาฐมาณฑุ 3 ล้านคน
ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในเขตเมืองเหล่านี้
มีฐานะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
(คือยากจนนั่นเอง)
หลายคนอยู่ในชุมชนแออัด
ที่อาจประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้
พลังงานที่พอจะหาได้จึงเป็นถ่านไม้ หญ้าฟาง
หรือวัสดุอะไรก็ได้ที่ติดไฟและหาได้ในท้องถิ่น
เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มาเผารวมกัน
เพื่อให้ได้พลังงานมาใช้
จึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันมากมาย
ปะปนอยู่ในอากาศ
เช่นเดียวกับปัญหาการใช้เชื้อเพลิงปลอมปน
(Fuel Adulteration)
เช่น การใช้น้ำมันดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในยานพาหนะ ทั้งรถส่วนตัว รถแท็กซี่
และรถโดยสาร
ซึ่งจะปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ
มากกว่าเชื้อเพลิงปกติ
ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันให้มลภาวะ
ในเมืองพุ่งสูงจนถึงขั้นวิกฤติ
แต่ถึงแม้จะมีปัญหามลพิษที่สะสมมาอย่างยาวนาน
การบรรเทาหรือเยียวยาจากรัฐบาล
ก็ดำเนินอย่างเชื่องช้า
ประชาชนในเขตเมืองเหล่านี้จึงต้องทนสูดฝุ่นควัน
และปล่อยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอด
ลดลงเรื่อยๆ
จนต่ำกว่าชาวยุโรปถึง 30%
(ข้อมูลเฉพาะชาวอินเดีย)
..
ในตอนหน้า
Atlas a lot จะพาทุกท่านไป
อ่านเรื่องราวของเมืองอากาศดีๆ
คือมิวนิค และอัมสเตอร์ดัมครับ
สิ่งที่ทำให้สองเมืองนี้
ก้าวขึ้นมามีอากาศที่หายใจได้เต็มปอดคืออะไร
จะเป็นสายลมรึเปล่า?
หรือมีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ในสายลม
🍃
ที่มาข้อมูล
1. Indians have 30% weaker lungs than European, Times of India. Sep 2, 2013.
2. en.m.wikipedia.org. Indo-Gangetic Plain, Delhi, Air pollution in India.
3. Windows of the World, India.
4. AirVisual Application
โฆษณา