4 ก.พ. 2019 เวลา 18:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รัฐบาลญี่ปุ่นจะแฮกอุปกรณ์ไอทีของประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไอทีสำหรับงานโอลิมปิค 2020
ภาพ: flickr.com
เมื่อสักครู่ในขณะที่ผมเล่น facebook อยู่นั้นก็พลันเห็นข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งเด้งขึ้นมาบนฟีด
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปีก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐบาลมีอำนาจในการแฮกอุปกรณ์ไอทีของประชาชนได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไอทีสำหรับงานโอลิมปิค 2020
หลังจากผมอ่านประโยคนี้จบ ผมมีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวคือ “อุปกรณ์ไอทีของคนญี่ปุ่นไปเกี่ยวข้องอะไรกับงานโอลิมปิค 2020?”
หลังจากนั้น ผมก็ลองอ่านข่าวนี้จนจบ
สุดท้ายผมก็ถึง “บางอ้อ”
ภาพอุปกรณ์ไอทีที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ใน “บ้านไฮเทค”ก็ผุดขึ้นมาในหัวของผม
ภาพ: techonmag.com
มีอุปกรณ์ไอทีอะไรบ้างในบ้านของคนญี่ปุ่นที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้?
ผมอยากให้ผู้อ่านลองจินตนาการดูว่าประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆของโลกควรจะมีอุปกรณ์ไอทีอะไรบ้างภายในบ้าน
ผมจะลองไล่เรียงให้ฟังครับ
เริ่มตั้งแต่บริเวณหน้าประตูบ้าน บางบ้านอาจจะมี “กล้องวงจรปิด” ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถควบคุมกล้องบางรุ่นให้หันซ้าย-ขวา ขึ้น-ลง รวมถึงซูมเข้า-ออกได้ ในเวลาที่เจ้าของบ้านอยู่นอกบ้าน
ภาพ: technomag.com​
บางบ้านที่ไฮเทคหน่อยจะมี “แอปเปิด-ปิดประตูบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ” เพื่อที่เจ้าของบ้านจะได้ไม่ต้องลงจากรถมาเปิดประตูบ้าน
พอเปิดประตูบ้านเข้าไป อาจจะเห็นสวนเล็กๆในบ้านที่มี “เครื่องรดน้ำต้นไม้ที่สั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ” เพื่อเจ้าของบ้านจะได้สั่งให้มันรดน้ำต้นไม้ผ่านมือถือได้เวลาที่อยู่นอกบ้าน
ภาพ: flickr.com
แน่นอนว่า มีบางบ้านที่เลี้ยงสัตว์อย่างน้องหมา น้องแมวหรือน้องนกด้วย ด้วยชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของคนญี่ปุ่น อาจจะมี “เครื่องให้อาหารหมา/แมว/นก ที่สามารถสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ” ไว้ประดับบ้านเพื่อประหยัดเวลาด้วย
ภาพ: technomag.com
พอเดินผ่านสวนและกรงสัตว์เลี้ยงมาที่ประตูในบ้าน บางบ้านอาจจะใช้ “ประตูอัจฉริยะแบบไม่ใช้กุญแจ”
ภาพ: technomag.com
ถ้าไม่ใช้กุญแจแล้วจะเปิดประตูยังไง?
แน่นอนครับ มันจะปลดล็อคประตูได้โดยใช้สัญญาณบลูทูธของโทรศัพท์มือถือ
พอเดินเข้าไปในบ้านปุ๊บ บางบ้านที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยล้ำหน้ามาก จะใช้ “หลอดไฟแบบเปิด-ปิดเองโดยอัตโนมัติ” ซึ่งมันจะทำงานโดยใช้แสงอินฟราเรดตรวจจับวัตถุที่เคลื่อนไหวเข้ามาถูกเซ็นเซอร์ ส่วนใหญ่ไฟก็จะเปิดค้างอยู่เป็นเวลา5-10นาทีถึงจะปิดเองโดยอัตโนมัติ
ภาพ: flickr.com
แต่ถ้าบ้านที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีกจะใช้ “หลอดไฟแบบเปิด-ปิด และเปลี่ยนสีของไฟได้ด้วยการสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ”
พอเดินเข้ามาที่ห้องนอน บางบ้านจะใช้ “อุปกรณ์เปิด-ปิด ควบคุณอุณหภูมิแอร์ หรือฮีตเตอร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ”
ภาพ: technomag.com​
หลังจากไปทำงานเหนื่อยๆและกลับมาที่บ้าน เจ้าของบ้านอาจจะอยากทานกาแฟสักแก้วเพื่อความสดชื่น บางบ้านอาจมี “เครื่องชงกาแฟที่สั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ” ด้วย
ภาพ: technomag.com​
สุดท้าย บางบ้านอาจใช้ “เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติที่สั่งงานด้วยโทรศัพท์มือถือได้จากนอกบ้าน”
ภาพ: flickr.com​
จากที่ผมเกริ่นมาซะยาว คุณลองนึกดูครับว่า ถ้าแฮกเกอร์สามารถแฮกอุปกรณ์ทั้งหมดในบ้านของคุณได้จะเกิดอะไรขึ้น
คุณอาจจะคิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เกิดแค่ในบ้านหลังนั้นเท่านั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ!
ในปี2016 มีรายงานว่าแฮกเกอร์ได้ใช้บอทที่ชื่อว่า "Mirai” เข้าแฮกอุปกรณ์ไอทีต่างๆของเจ้าของบ้านเป็นจำนวนมากกว่าหกแสนชิ้นเพื่อใช้ในการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของอเมริกาจนทำให้เกิดเหตุการณ์อินเตอร์เน็ตล่มเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
แฮกเกอร์กลุ่มนี้ใช้วิธีการโจมตีที่เรียกว่า "DDos Attack"
วิธีการโจมตีนี้คล้ายๆกับการที่เรารวมหัวกับเพื่อนสักร้อยคนเพื่อส่งเมลรัวๆไปที่อีเมลปลายทาง จนทำให้อีเมลปลายทางเต็มจนใช้การไม่ได้
แตกต่างกันตรงที่แฮกเกอร์ใช้ ip address ของอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ (ที่มีจำนวนมากถึง 6แสนชิ้น) เพื่อส่งคำสั่งไปยังเว็บไซต์เป้าหมายเพื่อทำให้เว็บล่ม
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหรัฐในเวลานั้น
1
ดังนั้น ผมไม่แปลกใจเลยที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจ take action ในเรื่องดังกล่าว เพราะถ้าแฮกเกอร์อยากจะป่วนงานโอลิมปิค 2020 ที่กำลังจะจัดที่ญี่ปุ่นในปีหน้านั้น แฮกเกอร์เหล่านั้นอาจใช้วิธีการเดียวกันกับการแฮกที่อเมริกาข้างต้นก็เป็นได้
ภาพ: flickr.com
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เป็นผู้ครอบครองอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ แต่กลับไม่มีการตั้งค่าความปลอดภัยทางไอทีอย่างเหมาะสม เช่น ยังตั้งพาสเวิร์ดที่เดาง่ายอย่าง “admin” หรือ “1234” กันอยู่หลายคน
ภาพ: flickr.com​
ก่อนจะจากกันไป ผมขอทิ้งท้ายว่า ยิ่งคุณใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีล้ำยุคมากเท่าไหร่ โอกาสที่อุปกรณ์นั้นๆจะใช้การไม่ได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น แฮกเกอร์ก็จะมีสูง รวมถึงเวลาที่อุปกรณ์พวกนี้พัง คุณจะต้องนำไปส่งซ่อมและใช้เวลารอนานกว่าจะซ่อมเสร็จ
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การใช้เตาอบไมโครเวฟแบบมือหมุนเทียบกับแบบดิจิตอล ถ้าคุณซื้อแบบดิจิตอลมาแล้วพัง คุณจะต้องส่งซ่อมสถานเดียวและต้องรอซ่อมนานด้วย
แต่ถ้าคุณซื้อแบบมือหมุนมาแล้วที่บิดมันเกิดเสีย คุณอาจหาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเองได้ง่ายกว่า และช่างซ่อมมักจะมีองค์ความรู้ในการซ่อมมากกว่าเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานกว่า20ปีแล้ว
ดังนั้น ถ้าในอนาคตคุณตัดสินใจที่จะใช้อุปกรณ์ล้ำยุคเหล่านี้ อย่าลืมนำความเสี่ยงพวกนี้มาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ อย่าลืมกด “Follow” กด “Like” หรือกด “Share” เพจนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความดีๆ ต่อไปด้วยครับ
ติดตาม​ Netflix Addict จากช่องทางอื่นและแวะมาพูดคุยกันได้ที่​ Facebook: https://www.facebook.com/netflixaddict1
โฆษณา