Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านอุดมธรรม
•
ติดตาม
10 ก.พ. 2019 เวลา 16:33 • ท่องเที่ยว
ในวัยเด็กเขาได้มีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ขนชิ้นส่วนที่สำคัญบางชิ้นของปราสาทขึ้นเกวียนไปเก็บไว้ในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันหัวขโมย ขุดคุ้ยของโบราณไปเป็นของตัวเอง
.... มาบัดนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์โบราณสถานแห่งนี้อยู่อย่างผู้มีจิตสำนึกที่งอกงามมาแต่วัยเยาว์..
เราเพิ่งจับกลุ่มกันเป็นทีมจักรยานที่ปั่นไปด้วยกันเป็นทริปแรก เพราะเห็นว่า จักรยานเป็นพาหนะที่สร้างสังคมได้ดี เป็นวิธีการที่คนสมัยนี้นิยมใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาแวดวงสังคมที่มีรสนิยมคล้ายกัน
และวันนี้...
เราเริ่มด้วยทริปท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามที่ตกลงกัน เป็นโบราณสถานที่อยู่ไม่ไกลจากจุดนัดหมายเท่าใดนัก..
เช่นเคย ปั๊มน้ำมันเป็นที่ที่หาง่าย มีของกินของใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทางอย่างครบครัน ปตท. ลำปลายมาศคือ จุดรวมพลที่พวกเรา 3 คนเห็นพ้องกันว่าเวลา 9.00 น.คือ เวลาออกตัว
จักรยานวิ่งไล่กันไปตามถนนสายลำปลายมาศ-ห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา อย่างไม่เร่งรีบ
อากาศยามเช้ายังอุ่น ๆ แสงแดดเหลืองอ่อน ทาบทาผิวถนน ซึ่งมีไหล่ทางกว้างขวาง สลับด้วยร่มเงาของแมกไม้สองข้างทางที่ขึ้นเรียงรายไปตามขอบถนนตลอดทาง ทำให้การขับขี่รู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนานเหมือนสมัยวัยเด็กที่จับกลุ่มกันปั่นเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ จนลืมความเหน็ดเหนื่อยและลืมไปว่า เราผ่านบ้านหนองกระทิงเขตอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์มาถึงบ้านห้วยแคน เขตอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมาแบบไม่รู้ตัว...
เห็นหลักถนนบอกระยะทางได้ 16 กิโลเมตร มีเหงื่อชุ่มตัวตามเคย
ก่อนถึงบ้านห้วยแคน ที่ทางแยกบ้านหนองแต้มีป้ายบอกทางของกรมศิลปากร ชี้ไปทางซ้ายมือ..ปราสาทห้วยแคน
ปราสาทห้วยแคน บ้านห้วยแคน ตำบลห้วยแคน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโบราณสถานสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลง จำนวน 1 หลัง
พวกเราเลี้ยวซ้ายไปตามลูกศร ปั่นไปตามถนนในหมู่บ้านที่เป็นถนนคอนกรีต ราว 1 กิโลเมตรก็ถึงบ้านห้วยแคน สังเกตดูตามทางแยกจะมีป้ายของกรมศิลปากรบอกทางไปตลอด ซึ่งผิดกับสถานที่โบราณแห่งอื่นในเส้นทางราชมรรคา..,
วรณัย พงศาชลากร นักโบราณคดีกล่าวว่า ปราสาทห้วยแคน ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้วเพียงแห่งเดียว ใน 9 แห่ง
ซึ่งก็จริงดังคำกล่าว เพราะทะลุหมู่บ้านห้วยแคนไปแล้ว ยังคงมีป้ายแบบเดียวกันบอกทางไปเป็นระยะ ๆ จนถึงท้ายหมู่บ้าน ประมาณ 3 กิโลเมตรก็ถึงตัวปราสาท
ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้า เพียงประตูเดียว ผนังอาคารด้านทิศใต้ เจาะช่องหน้าต่าง ส่วนผนังด้านทิศเหนือก่อทึบ..
มองไปจากถนน ปราสาทตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในผืนนาของชาวบ้าน มีหินคลุกโรยเป็นทางลงไปสู่ปราสาท...
ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ รอบตัวปราสาท มีเสียงของปลายไม้กวาด ลากใบไม้ไปมาดังแกรกกราก ๆ อยู่เพียงลำพัง
ปลายด้ามอยู่ในมือของชายร่างเล็ก
ผู้ซึ่งพิทักษ์สวนศิลาแลงแห่งนี้อย่างเดียวดายขณะนั้น
บุญมี ชาวบ้านห้วยแคน ลูกจ้างกรมศิลปากร ทำหน้าที่ดูแลปราสาทมากว่าสิบปี วัย 57 ปีของเขายืนยันความเป็นปัจจุบันของปราสาทแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เขาหยุดกิจกรรมเก็บกวาดทันทีที่เราไปถึง
“ปราสาทแห่งนี้เป็นธรรมศาลา ผมเห็นมาแต่เกิด” เขาเล่าอย่างตั้งใจ
เหมือนเป็นหน้าอีกอย่างหนึ่ง เพิ่มเติมจากหน้าที่รักษาความสะอาด
“ในสมัยโบราณ ใช้ทำพิธีทางศาสนาของพุทธ ลัทธิมหายาน” เขาเล่าพร้อมกับชี้มือไปรอบ ๆ อาณาเขตที่ยาวไปชิดของถนนคอนกรีตและแปลงนาแปลงไร่ของชาวบ้าน
“หากวันหนึ่งทางราชการขอเวนคืนเพื่อพัฒนาปราสาท ชาวบ้านก็ต้องให้หมดครับ” เขาขยายความ
นอกจากนี้..บุญมี ยังเล่าถึงตอนเด็ก ๆ ได้มาช่วยผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ขนเสาหินขึ้นเกวียนไปเก็บ เพื่อกันคน
“เมื่อก่อน มันก็เป็นกองหินทับกันอยู่ บางคนก็พากันมาขุดหาของเก่า ชาวบ้านก็หวง พากันเอาเกวียนมาขนเสาหินไปไว้กันขโมย”
ประสบการณ์ในครั้งนั้น อาจเป็นการสั่งสมจิตสำนึกให้เขารักมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ได้รับการคัดเลือกจากคนในหมู่บ้านให้มาเป็นผู้ดูแลปราสาทอย่างใกล้ชิดในตำแหน่งลูกจ้างกรมศิลปากร ..
ปราสาทห้วยแคน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณได้โปรดให้สร้างขึ้น ถัดจากกู่ศิลา บ้านกู่ศิลาขันธ์ ที่อยู่ถัดจากปราสาทหินพิมายไม่ไกลกันนัก ถึงเที่ยงวันเราก็เดินทางกลับ...,เพราะบุญมีจึงได้มา !!!เ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย