11 ก.พ. 2019 เวลา 10:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อยากเล่าเรื่องรถไฟฟ้า ภาค3
ครั้งที่แล้ว ลุงเล่าประวัติของรถไฟฟ้า กับ รถยนต์ ให้ฟังว่า ความจริงแล้วรถไฟฟ้าคิดค้นได้ก่อนรถยนต์เสียอีก รถไฟฟ้ามีการคิดค้นตั้งแต่ปีค.ศ.หนึ่งพันแปดร้อยกลางๆ แต่รถยนต์ผลิตค.ศ.หนึ่งพันแปดร้อยปลายๆ
1
ก็เริ่มมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น และทุกคนคงรู้ว่า รถยนต์ชนะอย่างขาดลอย รถไฟฟ้าหายสาบสูญไปจากโลกนี้ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ที่รถไฟฟ้าเริ่มจะมาปรากฏอีกครั้ง
สาเหตุที่ทำให้รถยนต์ ได้รับชัยชนะมาจากเหตุผล 2 ข้อ
1) เทคโนโลยี่ด้านแบตเตอรี่ ยังไม่ดีพอ ทำให้รถยนต์ชนะเพราะวิ่งระยะทางได้ไกลกว่ารถไฟฟ้า
ใช้เวลาเติมน้ำมันน้อยกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้า
2) บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด ผลิตรถยนต์โมเดล T ด้วยระบบ Mass Production ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 ทำให้รถยนต์ราคาถูกกว่ารถไฟฟ้ามาก และช่วงนั้นน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีปริมาณมหาศาล และราคาถูกมาก
1
สองเหตุผลนี้ทำให้รถยนต์ได้รับชัยชนะเหนือรถไฟฟ้าอย่างขาดลอย และพาหนะทั้งโลกก็แทบจะเป็นรถยนต์ทั้งหมด
แต่เมือเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ และมอเตอร์ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้น รถไฟฟ้าก็เริ่มแข่งขันกับรถยนต์ได้มากขึ้น รถไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร โดยแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาในการชาร์จแบบ Quick Charge ประมาณ 1 ชั่วโมง (แต่รถยนต์เติมน้ำมันเต็มถัง ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที และวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 500 กิโลเมตรนะจ๊ะ...)
ปริมาณรถไฟฟ้า หรือ EV มีสัดส่วนแค่ประมาณ 1% ของปริมาณรถทั้งโลก ส่วนรถยนต์หรือ ICE มีสัดส่วนมากถึง 99% (Source: Bloomberg New Energy Finance) แต่รถไฟฟ้าก็มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว
1
แนวโน้มที่รถไฟฟ้าจะมีมากขึ้นเพราะมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
1)การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Development รถยนต์ไฟฟ้าไม่มีควันไอเสีย ไม่สร้างก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์หรือก๊าซพิษอื่นๆ ไม่ทำให้เกิด PM2.5 ไม่มีเสียงดัง ทำให้คุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของเมืองดีขึ้น ประเทศในยุโรปหลายประเทศ ประเทศจีน มีนโยบายที่จะเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย
พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ ก็มาจากพลังงานสะอาด เช่น จากโซลาร์เซลล์ หรือ จากพลังงานลม ฯลฯ ซึ่งไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
รถไฟฟ้าทุกคันจะมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่อยู่ในรถ ในทางทฤษฎีแล้วแบตเตอรี่ในรถไฟฟ้าสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บพลังงานได้ โดยรถที่จอดไว้ตามออฟฟิศหรือทีทำงาน สามารถชาร์จแบตเตอรี่ด้วยไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในช่วงกลางวัน แล้วอาจนำไปใช้ที่บ้านหลังเลิกงานได้ (อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วยนะครับว่าจะให้ต่อไฟจากรถเข้าระบบไหม)
1
2) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของรถไฟฟ้าสูงกว่ารถเครื่องยนต์มาก วิธีที่ฝรั่งเขาใช้ในการเปรียบเทียบ เขาใช้คำว่า Well to wheel efficiency หรือ วัดประสิทธิภาพตั้งแต่น้ำมันดิบขึ้นจากหลุม ส่งตามท่อไปโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อกลั่นแยกเป็นน้ำมันชนิดต่างๆ ขนสั่งไปยังปั๊มน้ำมันและเติมใส่รถยนต์เพื่อให้ล้อรถหมุน เปรียบเทียบกับน้ำมันดิบขึ้นจากหลุมส่งเข้าโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วส่งตามสายส่งไปยังสถานีชาร์จ ค่าดัชนีตัวนี้ของรถยนต์จะอยู่ประมาณแค่ 22% ในขณะที่รถไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 35% ถ้าเราดูสองค่านี้อาจจะไม่ต่างกันมาก แต่ในทางวิศวกรรมแล้ว 35% ของรถไฟฟ้าดีกว่า 22% ของรถเครื่องยนต์เกือบ 60% ทีเดียว
3) ความสะดวกสบายในการใช้รถไฟฟ้า รถไฟฟ้ามีชิ้นส่วนอะไหล่น้อยกว่า ระบบเกียร์หรือระบบส่งกำลังไม่ซับซ้อนเท่ารถยนต์ การซ่อมบำรุงก็จะน้อยตามชิ้นส่วนอะไหล่ที่น้อยกว่า การชาร์จแบตเตอรี่สามารถชาร์จที่บ้านได้ ไม่ต้องขับรถไปที่ปั๊มน้ำมัน
1
4) ด้านเศรษฐกิจ รถไฟฟ้าอาจจะมีราคาสูงกว่ารถยนต์ แต่ค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงน้อยกว่า ค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟจะต่ำกว่าค่าน้ำมันมาก ชิ้นส่วนอะไหล่จะสึกหรอช้ากว่าทำให้รถไฟฟ้ามีอายุการใช้งานที่นานกว่า โดยรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายในการใช้งานหรือ Total Cost of Ownership ของรถไฟฟ้าจะต่ำกว่ารถยนต์
1
อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าก็ยังมีจุดอ่อน เช่น การชาร์จแบบปกติยังต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง สถานีชาร์จแบตเตอรี่ยังมีจำกัด ให้นึกถึงเมื่อหลายปีก่อนตอนรัฐบาลเริ่มรณรงค์ให้ใช้ก๊าซ NGV ตอนนั้นปั๊ม NGV ยังมีน้อย รถต้องไปจอดรอกันครึ่งค่อนวัน หรือบางครั้งไปต่างจังหวัดต้องรอกันข้ามวันข้ามคืนก็มี สถานีชาร์จไฟก็เหมือนกัน ในช่วงแรกยังมีน้อยและรถแต่ละคันใช้เวลาชาร์จนาน ประเด็นสุดท้ายคือ ราคาซื้อรถใหม่และราคาแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้า ยังมีราคาสูงมาก ในหลายๆประเทศ รัฐบาลจะมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยให้การซื้อรถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายน้อยลง เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับการซื้อรถไฟฟ้า
1
วันนี้เล่าเท่านี้ก่อนนะครับ
โฆษณา