13 ก.พ. 2019 เวลา 16:37 • กีฬา
Doms ประตูด่านแรก จะไปต่อหรือจะหยุดเพียงเท่านี้
เมื่อคืน มีน้องที่มาออกกำลังกายด้วยกันมีการปวดกล้ามเนื้อมาก จนต้องไปหาหมอ ทำให้ผมนึกถึงวันแรกของการไปออกกำลังกาย โดยมีเทรนเนอร์ วันนั้นหลังจากมีการพูดคุย สอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ เราเริ่มออกกำลังกายกัน ตามตารางครั้งแรกคือออกกำลังกายหัวไหล่(shoulder)แล้วสุดท้ายจบด้วยท่าแพลง(plank) วันแรกของผม คือเก้งก้าง ท่าไม่ค่อยถูกต้องและสวยงามเท่าไหร่ ที่สำคัญรู้สึกว่าเหนื่อยและทรมานมาก ปวดไปหมดโดยเฉพาะที่ไหล่และแขน ตื่นเช้าขึ้นมาแทบจะยกแขนไม่ขึ้น อาบน้ำไม่สามารถจะถูสบู่ได้เลย แอบคิดในใจว่า ถ้าขืนเป็นแบบนี้ทุกวัน คงต้องหยุดเพียงเท่านี้สำหรับการออกกำลังกายของผม แต่โชคดีเทรนเนอร์ได้อธิบาย ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งหลังจากออกกำลังกายไว้ก่อนแล้วคือ Doms หรือ อาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกาย
ได้อ่านบทความที่เขียนโดยนายแพทย์ท่านหนึ่ง เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อหรือDomeได้ดีและน่าสนใจครับ อยากจะแบ่งปัน
 
💥 ขออย่ายอมแพ้ รู้จักกับ DOMS อาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย สัญญาณดีที่บอกว่าร่างกายเราจะพัฒนาขึ้น
✅ สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย เป็นเพราะกล้ามเนื้อยังไม่ชินกับการใช้แรงที่มากกว่าปกติ แต่เมื่อร่างกายเราพัฒนา เราจะออกกำลังกายในระดับเดิมได้โดยที่ไม่รู้สึกปวด
✅ ดอมส์ (DOMS) คืออาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ไม่ใช่อาการที่อันตราย เพราะแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เป็นได้
กว่าจะตัดสินใจเริ่มออกกำลังกายได้ก็ต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่าง แค่จะจัดสรรเวลาให้ได้ก็ไม่ง่าย ทั้งความเหนื่อยแสนสาหัสยามออกแรง แต่วันถัดมาร่างกายกลับปวดระบมจนทำเอาไม่อยากกลับไปยิมอีก อาการปวดตึงกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนนึกท้อแท้จนบอกลากับการออกกำลังกายให้สุขภาพดี แต่แท้จริงแล้วอาการปวดนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เป็นกันได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งเลิกออกกำลังกายเลย เพราะอาการนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก็ได้นะครับ
💯 อาการ DOMS = สัญญาณที่ดีของการออกกำลังกาย
อาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกาย (Delayed Onset Muscle Soreness) หรือหลายคนเรียกว่า ดอมส์ (DOMS) จะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังออกกำลังกาย แต่เราจะรู้สึกได้หลังออกกำลังกายไปแล้ว 12-72 ชั่วโมง และอาการนี้จะหายไปเองใน 7-10 วันโดยไม่จำเป็นต้องกินยา หากอยู่เฉยๆ เราจะไม่รู้สึกปวด แต่เมื่อลองขยับหรือกดกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ จะรู้สึกเจ็บหรือตึง และไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเท่านั้นที่ทำให้เกิดอาการดอมส์ได้ แต่การใช้แรงอย่างการยกของหนัก หรือการเต้นสุดเหวี่ยง ก็ทำให้เกิดอาการดอมส์ได้เช่นกัน
🔜 พันเอก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิภู กำเหนิดดี จากกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คุณหมอได้พูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อนี้ว่า “อาการดอมส์เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ นั่นก็เพราะว่ากล้ามเนื้อของเรายังไม่คุ้นชินกับการออกกำลังกายหนักในระดับนั้น และแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เกิดอาการดอมส์ได้เช่นกัน”
อาจพูดได้ว่าอาการดอมส์เป็นจุดเริ่มต้นของคนที่เริ่มออกกำลังกาย เพราะร่างกายไม่เคยชินกับการออกแรง เมื่อเราออกกำลังกายสม่ำเสมอจนร่างกายพัฒนาและมีความทนทานต่อกิจกรรมที่ใช้แรงมากขึ้น อาการดอมส์จากกิจกรรมนั้นก็จะหายไป แต่เมื่อเราลองทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือใช้แรงมากขึ้นกว่าเดิม อาการดอมส์ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก
“ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดที่รับรองสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอาการดอมส์” นายแพทย์วิภูกล่าว แต่หนึ่งสาเหตุที่พูดถึงกันมากก็คือเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากอาการกล้ามเนื้อฉีกขาด (Muscle Strain) ขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในระดับที่ปลอดภัย เพราะเป็นการฉีกขนาดเล็กที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง และกล้ามเนื้อสามารถซ่อมแซมตัวเองได้
“สำหรับคนทั่วไป อาการดอมส์ไม่ส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย เพียงแค่ทำให้รู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อ ขยับได้ลำบาก แต่สำหรับนักกีฬาอาจส่งผลต่อการแข่งได้ หากไม่วางแผนการฝึกซ้อมให้ดี”
 
แม้อาการดอมส์จะเป็นอาการที่ไม่มีวันหายไป แต่นายแพทย์วิภูก็ให้คำแนะนำในการบรรเทาอาการดอมส์ไว้ว่า “หลังจากออกกำลังกาย ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 5-10 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อ อาจใช้วิธีประคบน้ำแข็ง หรือแช่น้ำเย็นก็จะช่วยบรรเทาอาการดอมส์ได้”
เครดิต : เกณิกา รวยธนพานิช
: พันเอก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิภู กำเหนิดดี
:รูปภาพ อินเตอร์เน็ต
#โค้ชด้วง
#SmartTrainer7
#HealthMePlease
#PersonalTrainer
#PhysicalTherapy
#ออฟฟิศซินโดรมรักษาได้
#แรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย
#ออกกำลังกายเปลี่ยนชีวิต
#นักฟื้นฟูคุณภาพชีวิต
โฆษณา