14 ก.พ. 2019 เวลา 15:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Permeable Paving… นวัตกรรมถนนน้ำซึมผ่านได้ หมดปัญหาน้ำท่วมขัง
3
เชื่อว่าคนกรุงเทพจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบฤดูฝน และเชื่อว่าเหตุผลไม่ใช่แค่กลัวเปียกเฉอะแฉะ แต่ปัญหาการเดินทางและการจราจรอันแสนสาหัสจนแทบเป็นอัมพาตในช่วงฝนตกต่างหากที่เราเบื่อหน่ายซะเหลือเกิน สาเหตุหนึ่งที่ฝนตกแล้วทำให้รถติดคือปัญหาน้ำรอระบายจนกลายเป็นน้ำท่วมขังบนท้องถนน ทำให้การเดินทางทั้งทางเท้าและทางรถยนต์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ข่าวดีคือปัจจุบันมีถนนที่นอกจากน้ำจะไม่ท่วมขังแล้วยังสามารถดูดซึมน้ำลงไปได้แทบจะทันทีทำให้ถนนเหมือนจะแห้งอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะอ่านบทความต่อไปลองดูความอัศจรรย์ของถนนชนิดนี้จากคลิปนี้กันก่อน
มันคืออะไร?
ถนนชนิดนี้มีชื่อว่า Permeable Paving ซึ่งก็หมายถึงถนนที่น้ำซึมผ่านได้ ที่น่าแปลกใจคือถนนชนิดนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ถูกคิดค้นตั้งแต่ปี 1977 โดย Franklin Institute โดยเริ่มแรกเป็น Porous Asphalt Pavement แปลเป็นไทยตรงๆ ได้ว่าถนนยางมะตอยแบบรูพรุน และตั้งแต่นั้นมาก็มีใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรป ปัจจุบันมีหลากหลายวัสดุที่นำมาใช้ทำถนนน้ำซึมผ่านได้นอกจากยางมะตอย เช่น คอนกรีต หินปูถนน และพลาสติก
ซ้าย: ถนนธรรมดา, ขวา: ถนนน้ำซึมผ่านได้ เครดิตภาพจาก National Asphalt Pavement Association (NAPA)
ถนนปูหินแบบน้ำซึมผ่านได้ที่เมือง Santarém ประเทศโปรตุเกส (เครดิตภาพจาก Wikipedia)
ถนนถนนน้ำซึมผ่านได้ที่ประเทศญี่ปุ่น (ภาพจากบริษัท Central Nippon Expressway Company Limited)
คอนกรีตแบบน้ำซึมผ่านได้ (เครดิตภาพจาก Wikipedia)
หลักการทำงาน
ถนนน้ำซึมผ่านได้จะถูกสร้างบนรากฐานที่ไม่ได้บดอัด (Uncompacted Subgrade) เพื่อให้น้ำซึมลงดินได้ ซึ่งต่างจากถนนทั่วไปที่ต้องบดอัดรากฐาน หลังจากนั้นจะถูกปูทับด้วยแผ่นผ้า Geotextile ที่น้ำซึมผ่านได้ ก่อนจะถมหินชั้นถัดไปคือ Stone Reservoir หรือ Stone Recharge Bed ซึ่งชั้นนี้คือหัวใจสำคัญของระบบ ชั้นนี้จะเป็นกรวดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ว่างประมาณ 40% ทำหน้าที่เก็บกักน้ำระหว่างที่กำลังซึมลงไป หินชั้นต่อมาคือ Stabilizer Course เป็นก้อนกรวดขนาดเล็กถมให้มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว ทำหน้าที่ปรับสภาพพื้นผิวก่อนจะถมชั้นสุดท้ายซึ่งก็คือยางมะตอยชนิดรูพรุนนั่นเอง
เครดิตภาพจาก U.S. Department of Transportation, Federal Highway Administration
หลักการของถนนน้ำซึมผ่านได้ก็คือให้น้ำซึมผ่านชั้นยางมะตอยอย่างรวดเร็ว และเก็บกักในชั้น Stone Recharge Bed ก่อนจะค่อยๆ ซึมลงดินเหมือนการระบายน้ำตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้ระบบท่อระบายน้ำของเมืองเป็นช่องทางหลัก ซึ่งอาจมีปัญหาได้ถ้าปริมาณน้ำมากและซึมลงดินไม่ทันจึงต้องมีระบบ Overflow หรือท่อน้ำล้นด้วยเพื่อระบายน้ำที่ซึมลงดินไม่ทันเข้าระบบระบายน้ำของเมืองตามภาพนี้
เครดิตภาพจาก U.S. Department of Transportation, Federal Highway Administration
ความหนาของชั้นหินแต่ละชั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานถนนนั้นว่าต้องรับน้ำหนักมากแค่ไหน เครดิตภาพจาก U.S. Department of Transportation, Federal Highway Administration
ต้นทุนการก่อสร้าง
ต้นทุนการก่อสร้างของถนนประเภทนี้จะสูงกว่าถนนธรรมดาประมาณ 2-3 เท่า
1
ข้อดี
นอกจากน้ำไม่ท่วมขังและลดปัญหาการจราจรแล้ว ถนนชนิดนี้ช่วยลดการเกิดน้ำกระเด็นเวลารถวิ่งทำให้เพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่และปลอดภัยต่อคนเดินถนน ถนนชนิดนี้ยังลื่นน้อยกว่าถนนปกติเวลาฝนตกทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุลงด้วย
และที่สำคัญคือต่างประเทศถือว่าถนนชนิดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดภาระของระบบระบายน้ำของเมือง เพราะถนนชนิดนี้ออกแบบให้น้ำซึมลงสู่พื้นดินด้านล่างเหมือนที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติแทนที่จะต้องไหลลงระบบระบายน้ำของเมืองทั้งหมดเหมือนถนนทั่วไปซึ่งเป็นภาระให้ระบบระบายน้ำของเมือง
ข้อดีอีกอย่างที่ไม่คาดคิดคือลักษณะที่เป็นรูพรุนของถนน ยังช่วยลดเสียงบนท้องถนนลง ทำให้ลดมลภาวะทางเสียงได้ด้วย
ข้อจำกัดและการบำรุงรักษา
ถึงจะมีข้อดีมากมายแต่ถนนน้ำซึมผ่านได้ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญอยู่คือมันกลัวการอุดตัน ถ้าสภาพแวดล้อมมีฝุ่นและโคลนมาก จะมีโอกาสที่วัสดุที่น้ำซึมได้จะเกิดการอุดตันและไม่ระบายน้ำในที่สุด ในต่างประเทศถนนชนิดนี้จะต้องมีการทำความสะอาดด้วยเครื่องดูดฝุ่นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และในประเทศที่หิมะตกจะห้ามโรยทรายและขี้เถ้าบนถนนโดยเด็ดขาด แต่ต้องใช้สารเคมีละลายน้ำแข็งแทน อย่างไรก็ตามหิมะและน้ำแข็งที่เกาะบนถนนนี้จะละลายได้เร็วกว่าหิมะและน้ำแข็งบนถนนปกติ
สรุป ถึงถนนรูพรุนจะมีข้อดีมากมายที่น่าเอามาใช้แก้ปัญหาในกรุงเทพได้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่น่ากังวลคือเรื่องการอุดตันของวัสดุ เพราะกรุงเทพนั้นมีฝุ่นควันมากกว่าต่างประเทศ ถ้านำมาใช้อาจต้องมีการทดลองและวิจัยปรับสูตรวัสดุเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของบ้านเรา และอีกเรื่องที่สำคัญคือต้องมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่องด้วย เช่นการดูดฝุ่นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
MaterialNext
สื่อกลางนำเสนอข้อมูลเชิงลึก รีวิว และข่าวสารเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและตกแต่งภายใน
สามารถติดตามบทความของเราได้ทาง
- Blockdit: MaterialNext
โฆษณา