Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านอุดมธรรม
•
ติดตาม
20 ก.พ. 2019 เวลา 13:57 • ท่องเที่ยว
มิเพียงเศษซากปรักหักพังเท่านั้นดอกที่เรามองเห็น แต่ลึกลงไปใต้ซอกหลืบของกองอิฐเก่า ๆ มีสำนึกของผู้คนซ่อนอยู่...
ห่างจากปราสาทสำโรง ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปทางทิศใต้ราวสิบกว่ากิโลเมตรก็ถึงเมืองโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือราว 2,500 ปีมาแล้ว นั่นคือเมืองฝ้าย
เมืองฝ้ายเมืองโบราณในเขตลุ่มน้ำลำปลายมาศ เดินทางไปตามถนนสายลำปลายมาศ-หนองหงส์ ถึงกิโลเมตรที่ 18 ก็เป็นทางแยกเลี้ยวซ้ายไปอีก 5 กิโลเมตรก็ถึง
ที่เมืองฝ้ายมีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ชัดได้ว่า เป็นแหล่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่ยุคเหล็ก หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และได้พัฒนาต่อเนื่องเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยทราวดี ดังปรากฎร่องรอยทั้งโบราณวัตถุและซากโบราณสถานปรักหักพังตามกาลเวลากระจายอยู่ทั่วพื้นที่
ซึ่งในวันนี้ มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักปักฐานและได้ฟื้นฟูหมู่บ้านขึ้นเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
จนกระทั่ง......
วันที่ 24 มีนาคม 2513 นายลับ ขุนนาม ชาวบ้านได้ขุดพบพระประธานศักดิ์สิทธ์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทราวดี อายุราวศตวรรษที่ 11 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านเมืองฝ้าย ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ต่อมาไม่นาน ในปี พ.ศ. 2514 นายเสนอ นาคินทร์ชาติและนางอารมณ์ นาคินทร์ชาติ ชาวบ้านฝ้าย หมู่ที่ 1 ได้ขุดพบพระพุทธรูปที่เป็นปฏิมากรรมสำริดจำนวน 3 องค์ได้อีก ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปสามพี่น้อง
พระพุทธรูปดังกล่าวประกอบด้วย
-พระโพธิสัตว์สำริด
-พระพุทธรูปปางประทานพร
-พระโพธิสัตว์สำริดศรีอาริยเมตไตรยศวร
การขุดพบพระพุทธรูปล้ำค่าของชาวบ้านทั้งสามคนในครั้งนั้น เหมือนเป็นการเปิดประตูแห่งประวัติศาสตร์โบราณคดีของหมู่บ้าน ไม่เพียงชาวบ้านเมืองฝ้ายเท่านั้นที่ต่างปลาบปลื้มยินดี แม้ทั่วไทยและทั่วโลกก็พลอยยินดีไปด้วย เช่นกัน
และนอกจากนี้ วัตถุโบราณต่างๆทั้งที่อยู่ในสภาพดีและสลักหักพังที่ชาวบ้านขุดพบในบริเวณต่างๆ ในต่างกรรมต่างวาระก็ถูกทยอยนำมารวมกันไว้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษร่วมกัน
เป็นการรวมชาติ รวมเลือดเนื้อชาตืเชื้อไทย ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฝ้าย ภายใต้การดูแลของ อบต.เมืองฝ้ายและชาวบ้านเมืองฝ้ายร่วมใจกัน
มิเพียงเท่านั้น ยังมีโบราณสถานที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่รอบบริเวณหมู่บ้าน ปราสาทคูกะน๊อบ เป็นปราสาทแห่งแรกที่พบ
คูกะน๊อบอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย ถัดไปทางทิศตะวันออกไปไม่ไกลเช่นกันที่กลางหมู่บ้านมีปราสาทอีกหนึ่งหลังเรียกว่า ปราสาทกลางบ้าน
และบริเวณท้ายบ้านด้านทิศตะวันออกสุดมีอีกหนึ่งหลังชื่อ ปราสาทตาปิ้ง
ปราสาททั้งสามหลัง จะมีลักษณะการก่อสร้างคล้ายกันคือ ใช้อิฐ ปราสาทคูกะน๊อบจะมีร่องรอยหลักฐานที่เป็นซากปรักหักพังให้เห็นชัดเจนที่สุด โดยปราสาทก่อด้วยอิฐและอาจมีส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น เสากรอบประตู ธรณีประตู ทำด้วยหิน จึงสันนิษฐานว่า ชุมชนบ้านเมืองฝ้ายเป็นชุมชนพุทธศาสนา โดยมีโบราณสถานต่าง ๆ เป็นศาสนสถานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-14
การรวบรวมโบราณสถานและโบราณวัตถุมาจัดไว้อย่างเป็นระบบระเบียบเช่นนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนักหรอก
“อ้าว ของล้ำค่าเหล่านี้มีแต่ชาวบ้านขุดพบ แต่ทำไมบางชิ้นจึงไปอยู่เสียที่อื่น” หนึ่งในเพื่อนร่วมทริปถามขึ้นลอย ๆ
เหตุที่มีคำถามเช่นนี้ เพราะโบราณวัตถุสำคัญที่ชาวบ้านเคารพบูชากราบไหว้ ไม่ได้อยู่กับชาวบ้าน
- พระประธานศักดิ์สิทธ์ อายุประมาณศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันอยู่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
- พระพุทธรูปปางประทานพรและพระโพธิสัตว์สำริด อายุประมาณศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันอยู่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
- พระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรยศวรสำริด อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันเป็นสมบัติของนายร็อกกี้ เฟลเลอร์ (J.D. Rocke Feller)
ข้อสงสัยของเพื่อน ทำให้เรานึกย้อนอดีตไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนนี้ !!!
เรายังคงจำกันได้ดีถึงกระแสการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์ุของปราสาทหินพนมรุ้งที่หายไป แต่มีคนไปพบอยู่ที่สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา...จนสามารถนำกลับมาประดิษฐ์ฐานไว้ที่เดิมได้ เมื่อปี 2531
ในครั้งนั้น คนเป็นปากเป็นเสียงให้มีมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คงไม่ต้องถามหรอกว่าชาวบ้านเมืองฝ้ายอยากได้ของที่พวกเขาเคารพกลับมากราบไหว้ในชุมชนของตนเองหรือไม่
แต่เป็นเพราะพวกเขาเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ความหวงแหนมรดกบรรพบุรุษจึงทำได้เพียงการรักษาซากปรักหักพังและกองอิฐเก่า ๆ ไว้ให้ภาคภูมิใจเท่านั้น !!!
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย