24 ก.พ. 2019 เวลา 01:42
สุขภาพดีด้วยมวยไท่เก๊ก
วิธีดูแลสุขภาพที่นิยมอีกอย่าง คือการรำมวยไท่เก๊ก ทั้งวิธีการและลักษณะที่แสดงออกต่างจากการฝึกโยคะมาก แต่ทำไมจึงทำให้เกิดผลดีกับสุขภาพได้เหมือนกัน
วันนี้เราจะมาดูจุดต่างและจุดเหมือน รวมทั้งความลับที่ซ่อนอยู่
สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือ การรำมวยไท่เก๊กต้องอยู่ในท่ายืน มีการร่ายรำท่ามวยต่างๆ ซึ่งก็คือการยืดเหยียดแบบเดียวกับโยคะ
ท่ายืนฝึกไท่เก๊ก
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างคือ การทำสมาธิ สมาธิในโยคะ เราใช้ไปในการฝึกลมหายใจ ซึ่งสร้างผลดีต่อสุขภาพตามที่อธิบายไปแล้ว
แต่สมาธิของไท่เก๊กกลับใช้ในลักษณะที่วิ่งไปตามการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าเดินกำลังภายใน
ก่อนจะเกิดการเข้าใจผิด ต้องอธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องของจีนก่อน
ไท่เก๊กคือวิชารำมวยแบบจีน คิดค้นโดยปรมาจารย์ เตียซำฮง จุดประสงค์เพื่อการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่การต่อสู้
โดยเน้นการเคลื่อนไหวในท่วงท่าที่ช้า แต่มีพลังและสมดุล ซึ่งดูภายนอกอาจไม่รู้ การเหยียบพื้นของเท้าทุกย่างก้าวจะเกิดแรงกดพื้นอย่างมั่นคง ให้คนมาลองผลักที่ตัว ก็ไม่ทำให้ตัวเอียงหรือเซได้
สมาธิไปที่แขน
ในขณะรำจะมีการฝึกสมาธิแบบเดียวกับโยคะ แต่ไม่ได้เพ่งไปที่ลมหายใจ กลับใช้สมาธิไปกับการเคลื่อนไหวโดยเพ่งไปทุกส่วนของร่างกาย เหมือนมีแรงวิ่งไปตามจุดที่เราทำสมาธิ
แรงนี้เรียกว่า ฉี (การฝึกเรียกว่า ฉีกง ) หรือแปลเป็นไทยว่า กำลังภายในหรือพลังชีวิต
จุดเคล็ดลับที่ทำให้ การฝึกฉีกงดีต่อสุขภาพ ต้องย้อนไปที่บทความแรก สุขภาพดีด้วยฟิสิกส์ ที่เคยบอกไว้ว่าแรงในร่างกายเรามีอยู่3แบบ
ในขณะที่โยคะไปแก้ปัญหาที่แรงจากน้ำหนักตัว โดยการคิดหาท่า อาสนะที่เปลี่ยนทิศทางของแรงน้ำหนักตัวออกไปจากจุดที่ทำร้ายร่างกายเราได้
การฝึกไท่เก๊กกลับเน้นการแก้ปัญหาตรงแรงที่3 ที่เกิดจากกระดูกสันหลังที่ไม่ตรงจนสึก แล้วไปกระตุ้นเส้นประสาททำให้เกิดแรงผิดปกติมาทำร้ายตัวเราเพิ่มขึ้น
การฝึกกำลังภายในก็คือการสร้างสมาธิให้เกิดแรงในทิศทางที่ต้านสู้กับแรงที่3นี้ ตอนรำมวยไท่เก๊กจึงเห็นการเกร็งกล้ามเนื้อไปด้วยทุกครั้งในขณะเคลื่อนไหว
ข้อเสื่อมกำลังฝึกไท่เก๊ก
การฝึกไท่เก๊กจำเป็นต้องทำในท่ายืนซึ่งต่างจากการฝึกโยคะ เพราะเป็นท่าที่กระดูกสันหลังตั้งตรงมากที่สุด ทำให้การกระตุ้นให้เกิดแรงที่3ซึ่งผิดปกติ ลดน้อยลงด้วย
คนที่ฝึกรำไท่เก๊กต้องเรียนรู้วิธียืนให้ถูกต้องก่อน ในภาษาจีนเรียกว่า ตึ๋งจ๋อ หรือยืนในสภาพย่อเข่า(ไม่ใช่งอเข่า เข่าตรงแต่ไม่มากจนแอ่น) แล้วหย่อนก้นเล็กน้อยเหมือนนั่งบนเก้าอี้ที่ไร้สภาพ
จากนั้นค่อยเคลื่อนตัวไปรำมวยจีนในท่าที่กำหนด โดยคงสภาพเข่าและสะโพกในลักษณะเดิมนี้ตลอดเวลาที่ฝึก
การยืนเช่นนี้จะทำให้กระดูกสันหลังยืดตรงมากกว่าการยืนตามปกติ ทั้งนี้เนื่องจากข้อสะโพกที่มีลักษณะบิดงอเล็กน้อย ในการแพทย์เรียกว่า Anteversion
การยืนแบบยืดข้อสะโพกจึงไปงัดกระดูกเชิงกรานให้กระดก กระทบขึ้นไปถึงกระดูกสันหลังที่ตั้งอยู่ด้านบน ให้แอ่นมากขึ้นได้
การฝึกรำไท่เก๊กบ่อยๆจึงทำให้กระดูกสันหลังตั้งตรงและแข็งแรงขึ้น การทำงานที่ต้องอาศัยพลังงานที่ผ่านไขสันหลังจึงกลับมาปกติได้ สุขภาพจึงดีขึ้น
บทความทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเข้าใจเรื่องฟิสิกส์ในร่างกายสามารถนำมาใช้อธิบายกลไกในศาสตร์ต่างๆที่ช่วยป้องกันสุขภาพให้แข็งแรงและไม่ให้เกิดโรคได้อย่างไร
ถ้าใช้ความรู้ในแนวทางฟิสิกส์นั้น มาอธิบายกลไกการเกิดโรคที่รักษาไม่หายขาด หรือรักษาไม่ได้ ก็จะทำให้เราเกิดความคิดอีกระดับ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ไม่ใช่ยามารักษาโรคเรื้อรังได้อีกแนวทางหนึ่งด้วย
โฆษณา