24 ก.พ. 2019 เวลา 16:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“มีคู่ครองหลายคนเป็นเรื่องผิดแค่ไหน ทำไมเราต้องมีคู่ครองเพียงคนเดียว”
ผมชอบซีรี่ส์ชื่อ explained ใน Netflix มากครับ มีตอนหนึ่งที่ผมได้ดูเมื่อนานมากแล้วเกี่ยวกับ ’การมีคู่ครองเพียงคนเดียวและหลายคน’ หรือที่เราเรียกว่า ‘Monogamy’ และ ‘Polyamory ประกอบกับเห็นกระแสช่วงนี้กำลังมาแรงเลยต้องย้อนกลับไปดูใหม่และสรุปย่อมาสั้นๆ เผื่อใครยังไม่มีโอกาสได้ดูได้ลองอ่านกันดูนะครับ ถ้าใครอ่านแล้วสนใจแนะนำว่าให้ไปติดตามโดยด่วนครับ ซีรี่ส์ชิ้นนี้สนุกและได้ความรู้ทุกตอน
ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเกิดพร้อมกับภาพของเทพนิยายสวยหรูช่วยเติมจินตนาการเราว่าเรา ‘จะมีความรักที่สงบสุขไปนิจนิรันดร์’ อย่างเช่นการ์ตูนคลาสสิกที่เราดูกันบ่อยๆ
1
การรักกันแบบสามีภรรยาที่มีคู่ครองเพียงคนเดียวแบบนี้มีคำศัพท์เฉพาะที่เราเรียกว่า “Monogamy” แต่พอเราโตขึ้นมาหน่อยก็รับรู้ความจริงข้อหนึ่งได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่แย่ใน Monogamy มากๆ
ในปี 2016 คู่รักในอเมริกาแต่งงานกัน 2.2 ล้านคู่ หย่าไป 8 แสนคู่ ซึ่งการหย่าร้างถือเป็นเรื่องเจ็บปวดแสนสาหัสเหลือเกิน แต่คำถามก็คือว่าถ้าการจะเป็น Monogamy มันยากขนาดนั้น ทำไมมนุษย์ทั่วโลกถึงมีเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่จะเป็น Monogamy กันล่ะ
ถ้าคุณลองไปถามคู่รักหลายคู่ว่าทำไมถึงอยากมีคู่เพียงคนเดียว คำตอบที่ได้ก็แทบจากไม่ต่างกัน “พวกเราตกหลุมรักกัน” แต่ Monogamy กับ รัก ไม่ใช่เรื่องเดียวกันซะทีเดียว
เราเชื่อว่ารักคือการเลือกใครเพียงคนเดียว และการมีคู่ครองเพียงคนเดียวคือความรัก แต่มันไม่ใช่แบบนั้น แท้จริงแล้วรักเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่การมีคู่ครองเพียงคนเดียวเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์สังคมต่างหาก
“เราตกลงกันว่าเราจะมีเซ็กส์กับคนนี้เพียงคนเดียวนะ และเราก็จะทำสัญญากันทางกฎหมาย หรือที่เราเรียกว่าการแต่งงาน และในหลายประเทศการละเมิดกฎนี้ถือเป็นการก่ออาชญากรรม”
“คนเราจะมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดว่าเออก็ดีนะที่จะมีใครสักคนที่เราพึ่งพาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความรู้สึกสนใจกับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ” - Stephanie Coontz อาจารย์สอนเรื่องประวัติศาสตร์ครอบครัว
“พูดง่ายๆ ก็คือว่าผู้ชายต้องการที่จะมี free sex และขยายเผ่าพันธุ์ของตัวเองไปให้ได้มากที่สุดในขณะที่ผู้หญิงต้องการเพียงใครสักคนที่ค่อนข้างเฉพาะและเลือกเยอะมากๆ เพราะผู้หญิงจะอ่อนแอกว่าและก็ต้องการคนดูแลลูกของเธอได้ด้วย ฉะนั้นผู้หญิงจึงยอมมี sex กับผู้ชายเพียงคนเดียวเพื่อแลกกับการได้รับการดูแลที่ดี” – Christopher Ryan นักเขียน
“ชีววิทยาบอกเรื่องนี้กับเรามานานมากแล้วว่าเพศผู้เป็นเพศที่มีแนวโน้มที่จะมีคู่นอนหลายคน สเปิร์มของเพศผู้ถูกผลิตขึ้นมาตลอดเวลา ในขณะที่ไข่ของเพศเมียผลิตขึ้นเพียงเดือนละครั้ง ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมวิวัฒนาการสร้างให้ผู้ชายกลายเป็นไอ้ตัวเจ้าตัณหา” - David Barash อาจารย์สอนจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือพฤติกรรมทางเพศในสัตว์และมนุษย์
ย้อนกลับไปตั้งแต่ 300,000 ปีก่อน สมัยมนุษย์เป็นยังเป็นนักล่านั้นก็มีหลายการค้นพบที่พิสูจน์ว่ามนุษย์เราไม่ได้เป็น Monogamy กันอย่างทุกวันนี้
“อย่างเช่นเรื่องของ Jesuit ที่เดินทางไปอาศัยอยู่กับชนเผ่า Naskapi Indians ช่วงหนึ่ง เขาถามว่าคุณให้ภรรยาของคุณมีอิสระไปนอนกับใครก็ได้ แล้วคุณจะได้รู้ยังไงว่าคนไหนเป็นลูกของคุณ มีบันทึกชนเผ่าตอบว่า คนฝรั่งเศสแบบคุณรักแต่ลูกของตัวเอง แต่เรารักลูกทุกคนในเผ่าของเรา” - Stephanie Coontz
“ถ้ามีเด็กคนหนึ่งร้องไห้แล้วมีคนอุ้มปลอบ จะไม่มีใครบอกว่าลูกของคุณกำลังร้องไห้ แต่ทุกคนจะถือว่าผู้ปกครองของเด็กคนนั้นทั้งหมดในเผ่าในสมัยก่อน” - Christopher Ryan
“อีกตัวอย่างเช่นชนเผ่า Bari ในเวเนซุเอลา มีวัฒนธรรมที่ให้ผู้ชายทุกคนที่เคยหลับนอนกับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องเป็นพ่อของลูกในท้องทั้งหมดทุกคน ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ซึ่งฉันไม่แนะนำด้วย (หัวเราะ) แต่ในชนเผ่านั้นกลับปรากฏว่าเด็กคนไหนที่ยิ่งจำชื่อพ่อได้เยอะเท่าไหร่(เพราะแม่นอนกับพ่อเยอะ) ตัวเด็กเองกลับยิ่งมีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าพ่อทุกคนช่วยกันดูแล” - Stephanie Coontz
จริงๆ เราอาจจะไม่ต้องแปลกใจมากเท่าไหร่ถ้าชนเผ่าหรือสังคมจะมีคู่รักที่เป็น non-monogamy เพราะในธรรมชาติ สัตว์ชนิดอื่นแทบจะไม่มีคำว่า monogamy เลยด้วยซ้ำ
สัตว์ที่โรแมนติกที่สุดในโลกน่าจะเป็น Diplozoon Paradoxum คือพยาธิตัวตืดชนิดหนึ่งที่จะหลอมรวมกับคู่ของมันไปตลอดชีวิต แต่มนุษย์เราไม่ใช่แบบนั้น และสัตว์ที่ใกล้เคียงที่สุดกับพวกเราคือชิมแปนซีและโบโนโบ ซึ่งเจ้าลิงสองชนิดนี้ไม่มีความเป็น Monogamy เลยแม้แต่เสี้ยวเดียว โบโนโบคือลิงที่มีเซ็กส์เวลาทักทายกันกับลิงตัวอื่น มีเซ็กส์ตอนบอกลา มีเซ็กส์ตอนเครียด มีทุกทีทุกเวลาก็ว่าได้
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะวิวัฒนาการของลิงโบโนโบมีเพียงสัตว์เพศผู้มีหน้าที่ปล่อยสเปิร์มของตัวเองไปยังเพศเมีย และเพศเมียก็มีหน้าที่รับสเปิร์มเหล่านั้นมาจากตัวผู้หลายๆ ตัว และให้สเปิร์มเหล่านั้นแข่งกันเพื่อให้ได้สเปิร์มตัวที่คู่ควรกับไข่ของเพศเมียมากที่สุดถึงจะได้ปฏิสนธิ
กลับมาถึงช่วงประมาณ 10,000 ปี ระหว่างที่มนุษย์เรียนรู้การทำฟาร์มและหยุดการไล่ล่า เราเริ่มเรียนรู้การเป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของทรัพย์สินต่างๆ เราเริ่มรู้จักการไม่รุกล้ำหรือละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน และในขณะนั้นเองการแต่งงานก็กลายเป็นหนึ่งในกฎที่สร้างขึ้นมาเพื่อการเป็นเจ้าของในความสัมพันธ์เช่นกันเดียวกัน
“แต่การแต่งงานนั้นไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก อย่าง Anthony และ Cleopatra แต่งงานกันไม่ใช่เพราะรัก แต่เพียงเพื่อที่สองคนจากจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่พยายามจะควบคุมจักรวรรดิเหล่านั้นเฉยๆ และไอเดียของการแต่งงานกับใครสักคนด้วยความรักเพิ่งจะมีในสังคมตะวันตกเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้นเอง” - Stephanie Coontz
แต่ในปัจจุบันก็มีความสัมพันธ์รูปแบบ non-monogamy หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่การมีคู่ครองเพียงคนเดียว กำลังเป็นที่โด่งดังขึ้นมาเรื่อยๆ หรือที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า “Polyamory”
ในปี 2016 มีผลการศึกษาพบว่า 1 ใน 5 ของคนอเมริกันเคนตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบ non-monogamy และมีอีกการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ยินดีที่จะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้
3
“วิวัฒนาการของเรามันก็เหมือนกับดินแดนที่ไม่ถูกค้นพบ ตอนนี้มนุษย์เรากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ไปในรูปแบบที่ไม่ถูกบังคับ การบังคับผู้หญิงในเรื่องของเศรษฐกิจและกฎหมาย การบังคับในเรือนร่างของผู้หญิง การบังคับในเรื่องของสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของผู้ชาย มนุษย์เราน่าจะกำลังพยายามหาจุดที่เหมาะสม” - Christopher Ryan
“Monogamy ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ผมหมายถึงว่าเราต้องจำข้อนี้ไว้ให้ดี เพราะธรรมชาติไม่ได้สร้างมันขึ้นมา มันคือสิ่งที่เราจะต้องทุ่มเทให้กับมันถ้าเราอยากจะให้มันสำเร็จ หนึ่งสิ่งที่ทำให้มนุษย์น่าสนใจและน่าจะมีในสปีชี่ส์เดียวเลยก็คือ เราสามารถทำสิ่งที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติได้” - David Barash
“Monogamy ก็เหมือนกับกินมังสวิรัติ เราเลือกจะกินก็ได้นะ มันก็จะทำให้คุณสุขภาพดี ทำให้คุณมีศีลธรรม เป็นการตัดสินใจที่มหัศจรรย์ แต่เพราะคุณเลือกที่จะกินมังสวิรัติไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ได้กลิ่นอาหารอร่อยนี่นา” - Christopher Ryan
ในอนาคตอีกสักหน่อยเราคงไม่ได้ต้องมานั่งนึกกันนะว่าเราจะต้องอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบไหน แต่เราน่าจะสามารถออกแบบความสัมพันธ์ที่เราอยากจะมีกันมากกว่า ถ้าเราโชคดีนะ เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกพัฒนามาให้เป็น monogamy แต่มนุษย์ถูกพัฒนามาให้ปรับตัวได้ต่างหาก
โฆษณา