2 มี.ค. 2019 เวลา 03:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พบวัตถุใหม่ที่ “ไกลยิ่งกว่าไกล” ณ ขอบระบบสุริยะ //
01/03/19
เวลาเราวัดระยะทางในอวกาศ เราเริ่มจากกิโลเมตรหรือไมล์ และหากเป็นระยะทางในระบบสุริยะเราเอง เราจะใช้ LD และ AU หากไกลออกไปนอกระบบสุริยะ เราจะใช้ปีแสง และหากไกลกว่านั้น เราอาจใช้พาร์เซ็ก หรือใช้ปีแสงต่อไปในลักษณะพันปีแสงหรือล้านปีแสง
แต่เนื่องจากในบทความนี้เรายังไม่พูดถึงระยะทางนอกระบบสุริยะ เพราะสิ่งที่เราค้นพบใหม่นี้อยู่ในระบบสุริยะของเราเอง ดังนั้นหน่วยวัดระยะทางเราจะพูดถึงก็คือ LD และ AU
LD คือ ระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ มีค่า 384,000 กิโลเมตร นิยมใช้วัดพวกดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ว่าจะพุ่งเฉียดโลกแค่ไหน คำนี้ย่อมาจาก “Lunar Distance”
AU คือ ระยะห่างโลก-ดวงอาทิตย์ มีค่า 150 ล้านกิโลเมตร นิยมใช้วัดระยะห่างของดาวเคราะห์ดวงหลักทั้ง 8 ดวง ดาวเคราะห์แคระ แถบวงแหวนดาวเคราะห์น้อย และอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ดาวศุกร์อยู่ห่างดวงอาทิตย์ 0.723 AU โลกห่างดวงอาทิตย์ 1 AU ดาวอังคารห่างดวงอาทิตย์ 1.5 AU เป็นต้น คำนี้ย่อมาจาก “Astronomical Unit”
เอาล่ะ ทีนี้เรามาดูว่ามีการค้นพบอะไรใหม่
เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีก่อน (2018) มีการประกาศการค้นพบวัตถุที่ระยะไกลถึง 120 AU ด้วยการส่องกล้อง คาดว่าวัตถุที่พบน่าจะมีขนาดราว 500 กิโลเมตร และด้วยขนาดประมาณนี้ก็น่าจะมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะเกิดสมดุลไฮโดรสแตติก ทำให้มันน่าจะมีรูปร่างกลม จึงพอจะอนุมานได้ว่า มันคือ “ดาวเคราะห์แคระ” ที่อยู่ไกลที่สุดที่เคยพบกันมาในระบบสุริยะ และตั้งโค้ดเนมเอาไว้ว่า 2018 VG18
ระยะ 120 AU นี่ไกลแค่ไหน ลองนึกถึงดาวเคราะห์หลักดวงสุดท้ายที่ไกลที่สุดคือเนปจูนนั้น อยู่ห่างไปที่ระยะ 30 AU ฉะนั้นเจ้า 2018 VG18 ก็จะห่างออกไปไกลโข คือไกลออกไปอีกถึง 4 เท่าของระยะเนปจูน มีการตั้งชื่อเล่นเจ้าดาวเคราะห์แคระดวงนี้ว่า “Farout” คือประมาณว่า “ไกลจัง”
แต่สถิตินี้อยู่ได้ไม่ถึง 2 เดือน เมื่อล่าสุดมีการประกาศการพบ “FarFarOut” หรือประมาณว่า “ไกลยิ่งกว่าไกล”
มันคือผลงานการค้นพบของดอกเตอร์ Scott Sheppard กับทีมงานซึ่งตั้งหน้าตั้งตามองหา “ดาวเคราะห์หลักดวงที่ 9” หรือที่ฝรั่งเรียก Planet 9 (บางทีก็เรียก Planet X) คือทีมนี้กำลังมองหาดาวเคราะห์ขนาดใหญ่กว่าโลกที่โคจรอยู่ไกลออกไป แต่กลับไปพบเจ้า “FarFarOut” นี้เข้าเสียก่อน จากคำให้สัมภาษณ์ ทีมงานยังไม่อาจบอกได้ว่าเจ้าวัตถุ “ไกลยิ่งกว่าไกล” ที่พบใหม่นี้ มันมีขนาดหรือมวลประมาณไหน บอกได้แค่ว่ามันดูจางมากเมื่อมองจากในกล้อง เราจึงไม่อาจตัดสินลงไปได้ว่ามันควรจะเป็นดาวเคราะห์แคระ (กลม) หรือดาวเคราะห์น้อย (หยึกหยัก) ทั้งหมดต้องรอการยืนยันจากกล้องตัวอื่นในเวลาอื่นอีกครั้ง และในเวลานี้ก็เพียงแต่รับรู้ว่ามีเจ้า “FarFarOut” หรือย่อว่า FFO ขึ้นมาแล้ว ที่ยังไม่มีแม้แต่โค้ดเนมอย่างเป็นทางการให้เรียก ทั้งหมดยังคงต้องรอต่อไป
เรียบเรียง : Watchers
ที่มา : FB Watchers
ที่มา universetoday.com
เครดิต : https://stem.in.th/ffo/
Via: mrvob
โฆษณา