5 มี.ค. 2019 เวลา 04:46 • สุขภาพ
ปวดแบบนี้จะใช้ตัวไหนดี แต่ละตัวต่างกันยังไง ?
1
เคยสงสัยไหมครับว่า ยาแก้ปวดที่มีอยู่มากมายหลายชนิดมันต่างกันยังไง ? แล้วปวดแบบนี้จะใช้ยาตัวไหน ยาตัวไหนดียังไง วันนี้เภสัชกร Youcare มีคำตอบมาให้ชาว Blockdit หายสงสัยครับ :)
ก่อนอื่นเรามีรู้จักกลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้กันบ่อยกันครับ
1. ยา paracetamol เป็นยาแก้ปวดตัวเลือกแรกสำหรับอาการปวดที่ไม่รุนแรง ปวดนิดๆหน่อยๆนึกถึงพาราเป็นตัวเลือกแรกเลยครับ
2. ยากลุ่ม NSAIDs (อ่านว่าเอนเซด) เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Ponstan (ชื่อการค้าของ mefenamic), Arcoxia เป็นต้น ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการสร้างสารกระตุ้นการอักเสบทำให้ลดอาการปวดได้ ใช้รักษาอาการปวดระดับการปวดปานกลาง-รุนแรง หรือกินยาพารามาแล้วไม่ดีขึ้นก็ลองเปลี่ยนมาใช้กลุ่มนี้ดูครับ
3. ยากลุ่ม Opioids เช่น Tramadol, Morphine, Fentanyl เป็นต้น ยากลุ่มนี้ออกฤทธ์ต่อสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลางทำให้ลดการปวดได้ ใช้รักษาอาการปวดระดับรุนแรง
การเลือกยาแก้ปวดว่าจะเลือกใช้ยาตัวไหน แพทย์หรือเภสัชกรจะเลือกตามระดับความรุนแรงของอาการปวดและข้อจำกัดในการใช้ยาของแต่ละคน
ยาแก้ปวดกลุ่มที่จะเลือกมาเปรียบเทียบให้ดูกันในวันนี้ขอยกกลุ่ม NSAIDs เพราะมีการใช้จำนวนมาก พบการใช้ยาที่ผิดบ่อย และมีคนได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้จำนวนมาก เรามาดูความแตกต่างขอยาในกลุ่มนี้ รวมถึงวิธีใช้ ข้อห้ามใช้ และการใช้อย่างเกิดประโยชน์และถูกวิธีกันเลยครับ :)
ยากลุ่ม NSAIDs เป็นยาลดอการปวดที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ ยี่ห้อที่คุ้นหูของยากลุ่มนี้เช่น Ponstan, Ibu, Gofen, Doclofenac, Melox, Voltaren, Arcoxia, celebrex เป็นต้น
แล้วแต่ละตัวมันต่างกันยังไง ? ออกฤทธิ์เฉพาะจุดไหม ?
ยาแต่ละตัวต่างกันที่โครงสร้างยาครับ ทำให้มีความต่างกันดังนี้
1. ระยะเวลาการออกฤทธิ์
2. ความจำเพาะต่อสารลดการอักเสบ
3. กาาดูดซึม
ซึ่งยาทุกตัวในกลุ่มนี้ไม่มีความจำเพาะในการออกฤทธิ์เฉพาะจุด หรือเฉพาะอวัยวะ แต่จะจำเพาะต่อสารก่อการอักเสบ พูดง่ายๆคือถ้าร่างการมีการปวดหรืออักเสบตรงไหนในร่างกาย ยาก็จะไปออกฤทธิ์ตรงนั้น
2
อ่าว ! ออกฤทธิ์ไม่เจาะจงแบบนี้ แล้วปวดแต่ละแบบ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน จะเลือกใช้ยายังไง เลือกตัวไหน ? วันนี้ผมจะมาบอกความลับในการเลือกยาของหมอและเภสัชให้ชาว Blockdit รู้กันครับ :)
หลักการเลือกยาว่าจะใช้ยาตัวไหนนั้นแพทย์และเภสัชกรมีหลักดังนี้
1. ผู้ป่วยแพ้ยาตัวไหนอยู่ไหม ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาแก้ปวดบางตัวอยู่อาจใช้ยาในกลุ่มโครงสร้างที่เหมือนกันไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยแพ้ Ibuprofen ก็ไม่สามารถใช้ Naproxen ได้ หรือผู้ป่วยแพ้ยาโครงสร้างซัลฟาก็ไม่สามารถใช้ยา Arcoxia ได้ เป็นต้น
2. ระยะเวลาและความเร็วในการออกฤทธิ์ของยา ปัจจัยนี้สำคัญอย่างมากในการเลือกยาเพื่อให้ครอบคลุมอาการปวด อาการปวดเรื้อรังอาจต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ได้ยาวเพื่อคลุมอาการปวดได้ทั้งวัน เช่น Meloxicam ออกฤทธิ์ได้นาน 12 ชม. Arcoxia ออกฤทธิ์ได้นาน 24 ชม. หรืออาการปวดฉับพลันอาจจะต้องใช้ยาที่ออฤทธิ์ได้เร็ว เช่น Gofen (Ibuprofen), Soproxen (Naproxen) เป็นต้น
3. โรคประจำตัวของผู้ป่วย ยากลุ่ม NSAIDs ทั้งกลุ่มไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าผู้ป่วยมีโรคเหล่านี้ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์เท่านั้น และยาบางตัวในกลุ่มนี้มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารมาก ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ทานหลังอาหารทันที ยกเว้นยาที่พัฒนาโครงสร้างขึ้นมาใหม่ที่ทำให้ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อสารลดการอักเสบที่ไม่มีผลต่อกระเพาะอาหาร เช่น Arcoxia, Celebrex ยาพวกนี้ไม่ส่งผลต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ในคนที่มีโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ห้ามใช้เด็ดขาดในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
และเนื่องจากยากลุ่มนี้ทั้งกลุ่มมีผลต่อไต ดังนั้นไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น และไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้หลายตัวร่วมกัน ควรเลือกใช้ตัวใดตัวนึงเท่านั้น หากทานแล้วไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับเปลี่ยนยา
สรุปการใช้ยากลุ่ม NSAIDs
1. ยาแต่ละตัวไม่มีตัวไหนออกฤทธิ์เจาะจงกับอวัยวะหรือตำแหน่งในร่างกาย
2. ยาแต่ละตัวต่างกันที่ระยะเวลาการออกฤธิ์ ความเร็วในการดูดซึม และผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร
3. ยากลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไต หัวใจ หอบหืด แลพโรคความดันที่คุมไม่ได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
4. ใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันระยะยาวเพราะยามีผลต่อไต และไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้หลายตัวร่วมกัน ควรใช้ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น
ครั้งต่อไปหากจะซื้อยากลุ่มนี้ใช้เอง อยากได้ยาที่ตรงความต้องการและคุมอาการปวดที่เป็นอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลข้างเคียง มีเทคนิคง่ายๆดังนี้ครับ
1. แจ้งเภสัชกรถึงระดับความปวด ปวดพอทนได้ ปวดมาก ปวดจนไม่สามารถทำอะไรได้ รวมถึงลักษณะการปวด ปวดตลอดวัน ปวดๆหายๆ อาการปวดฉับพลัน อาการปวดเรื้อรัง เพื่อให้ได้ยาที่ออกฤทธิ์เหมาะสมกับการปวด
2. แจ้งแพ้ยา โรคประจำตัว และหากมีโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนอยู่ให้แจ้งด้วย เพื่อให้ได้ยาที่ไม่ส่งผลต่อโรค
แค่นี้ชาว Blockdit ก็จะได้ยาแก้ปวดที่เหมาะกับอาการปวดของตัวเองและปลอดภัยจากผลข้างเคียงแล้วครับ :)
อย่าลืมนะครับ ซื้อยาทุกครั้งซื้อกับเภสัชกรเท่านั้น เพราะยามีทั้งประโยชน์และโทษต่อร่างกาย
Youcare #wecareyou
ภก.กฤษณ์ พรหมปัญญา
Youcare Pharmacist
โฆษณา