7 มี.ค. 2019 เวลา 05:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมเส้นทางที่สั้นที่สุด อาจไม่ใช่เส้นทางที่ดีที่สุด
การเดินทางในสมัยโบราณนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลงทิศหลงทาง
เมื่อนักเดินทางไม่รู้ว่าตอนนี้ตนเองอยู่ตรงไหน
ก็ยากยิ่งที่จะเดินทางต่อได้อย่างถูกต้องและเมื่อหลงทางแล้ว เสบียงทั้งหลายย่อมค่อยๆร่อยหรอลง จากนั้นภัยอื่นๆก็จะถาโถมตามมาได้อีกเป็นขบวน
1
การเดินทางให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยเร็วย่อมเป็นการลดความเสี่ยงต่างๆลงได้
แต่เชื่อไหมว่าในหลายๆกรณี
การเดินทางระยะไกลด้วยเครื่องบินหรือเรือเดินสมุทรนั้นอาจเลือกเส้นทางที่ไกลกว่า แทนที่จะเลือกเส้นทางใกล้ๆ
เนื่องจากโลกของเราเป็นทรงกลม สมมติว่าเราต้องการเดินทางจากเมือง a ไปยังเมือง b เส้นทางที่สั้นที่สุดคือ เส้นโค้งที่ลากจาก a ไป b ซึ่งมีชื่อว่า The Great Circle เพราะถ้าเราต่อเส้นโค้งนี้ให้ยาวออกไปเรื่อยๆจะได้เส้นวงกลมนั่นเอง
ในทางทฤษฎี การเดินทางด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุด นอกจากจะประหยัดเวลาแล้ว ยังประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย แต่การเดินทางบน The Great Circle นั้นเป็นเรื่องยาก (เพราะอะไรเดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง) เส้นทางที่ง่ายกว่า แม้จะไกลกว่าเรียกว่า Rhumb line
พิกัดทางภูมิศาสตร์ที่เราใช้ในการระบุตำแหน่งบนผิวโลก เกิดจาก
- เส้นละติจูดซึ่งเป็นเส้นที่ลากขนานไปกับเส้นศูนย์สูตร (เส้นแนวนอน)
- และเส้นลองติจูดซึ่งเราลากผ่านขั้วโลก (เส้นแนวตั้ง)
Rhumb line คือ เส้นทางที่ทำมุมค่าเดิมเสมอกับเส้นลองติจูด ซึ่งถ้าเราลาก Rhumb line ให้ยาวออกไปเรื่อยๆมันจะวิ่งไปยังขั้วโลกเหนือ(หรือใต้ขึ้นกับทิศทางที่มุ่งหน้า)เป็นรูปเกลียวก้นหอยที่เรียกว่า loxodrome
หากเราเดินทางตามเส้นทาง Rhumb line แล้ว ทิศทางที่เรามุ่งหน้าไปจะทำมุมกับทิศเหนือด้วยมุมค่าเดิมเสมอซึ่งจะง่ายมากสำหรับการเดินทางเพราะเราก็แค่เดินทางในทิศทางเดิมเสมอเมื่อเทียบกับเข็มทิศ (ซึ่งชี้ทิศเหนือเสมอ)
แต่ถ้าเราเดินทางด้วย The Great Circle เราจะต้องคอยปรับมุมที่ใช้ในการเดินทางเทียบกับทิศเหนืออยู่ตลอดเวลาซึ่งยุ่งยากกว่ามากจนเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการเดินทางในโลกยุคโบราณ
แนวคิดเรื่องเส้น Rhumb line ถือกำเนิดขึ้นจากนักคณิตศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวโปรตุเกสนามว่า Pedro Nunes ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1502-1578 ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถระบุเส้นลองติจูดของโลกได้อย่างแม่นยำทำให้การเดินทางด้วย Rhumb line นั้นสำคัญมาก
ทิศทางที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามหันหน้าไปยังเมืองเมกะเพื่อประกอบศาสนพิธีนั้นเรียกว่า Qiblah ซึ่งชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งในอเมริกาเหนือหันหน้าไปยังนครเมกะด้วยทิศทางตามเส้น Rhumb line
ทุกวันนี้ การบินและการเดินเรือนั้นใช้ทั้งสองเส้นทางด้วยเงื่อนไขอื่นๆที่เหมาะสม ไม่ได้เลือกใช้ทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว
แถมท้ายเล็กน้อยว่า ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่ใช้ในการเดินทางได้ นั่นคือ เส้นทางที่ใช้ประโยชน์จากกระแสลมได้อย่างเต็มที่ เช่น North Atlantic Tracks
ดังนั้นเวลาเราขึ้นเครื่องบินแล้วมองเส้นทางบิน เราอาจไม่ได้เห็นว่าเส้นทามที่บินนั้นเป็นเส้นตรงจะได้แปลกใจ เพราะการเดินทางระยะไกลๆบนโลกที่ไม่ใช่แผ่นกระดาษเรียบๆนั้นมีปัจจัยที่ต้องคิดมากมาย
นับประสาอะไรกับชีวิตมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน
โฆษณา