9 มี.ค. 2019 เวลา 05:59 • กีฬา
เชื่อหรือไม่ ตำนานผู้ยิ่งใหญ่ในสื่อกีฬาไทยอย่าง ย.โย่ง เรียนจบแค่มัธยมเท่านั้น และออกสตาร์ตด้วยเงินเดือนแค่ 1,200 บาท ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของตำนาน "เอกชัย นพจินดา"
มี 2 เรื่องที่คนมักไม่รู้เกี่ยวกับ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา
เรื่องแรก เขาไม่ได้ มีชื่อเล่นว่า โย่ง แต่ชื่อเล่นจริงๆที่พ่อแม่ตั้งให้ คือ "นิดหน่อย"
เอกชัย เป็นพี่คนโต มีชื่อนิดหน่อย ลูกสาวคนกลางชื่อนัยนา ชื่อเล่นน้อย และลูกชายคนเล็ก ธราวุธ ชื่อเล่นหนู
นิดหน่อย - น้อย - หนู สามพี่น้องแห่งตระกูลนพจินดา
ในครอบครัวเขาคือนิดหน่อย แต่พอเข้าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยความที่เป็นคนหน้าตี๋ มีเชื้อคนจีน เพื่อนๆ เลยเรียกว่า ตี๋
เท่ากับว่า เอกชัย นพจินดา มี 3 ชื่อเล่นในคนเดียว
- "นิดหน่อย" สำหรับครอบครัว
- "ตี๋" สำหรับเพื่อนๆสมัยเรียน
- "ย.โย่ง" สำหรับคนทั่วไป
และเรื่องที่ 2 ที่คนมักไม่รู้ คือ ย.โย่ง แม้จะเป็นตำนานของวงการสื่อกีฬา แต่เขามีวุฒิ เพียงแค่มัธยมปลายเท่านั้น
ย.โย่ง เรียนไม่จบปริญญาตรี
คำถามคือ ทำไมแม้จะไม่มีวุฒิการศึกษาที่สูงพอ แต่ ย.โย่งกลับก้าวกระโดดกลายเป็น นักข่าวกีฬาเบอร์ 1 ได้สำเร็จ
น่าคิดนะครับ ว่าเขาพัฒนาตัวเองมาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร
เอกชัย เรียนจบ ม.ปลาย จากโรงเรียนวชิราวุธ ใน พ.ศ.2515 เขามีอายุ 19 ปีถ้วน
ในยุคนั้น การสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย จะเป็นการสอบแค่ครั้งเดียว พร้อมกันทั่วประเทศ โดยแต่ละคน จะมีสิทธิเลือกคณะที่ต้องการเอาไว้ 4-6 อันดับ
เอกชัย เลือกนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นอันดับหนึ่ง ปรากฏเขาสอบไม่ติด
ในขณะที่เพื่อนๆแห่ไปเรียนรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยเอกชนดังๆ อย่างม.กรุงเทพ แต่เอกชัย อยากจะสอบเข้ามหา'ลัยรัฐให้ได้ ดังนั้นเขาจึงขอเวลา 1 ปี เพื่อเรียนพิเศษติวหนังสืออย่างเดียว
เอกชัยในชีวิตตอนนี้ คือเรียนพิเศษอย่างหนัก ควบคู่กับ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ AUA เพื่อพัฒนาสกิลด้านภาษาที่ 2
(AUA ย่อจาก American University Alumni Association หรือ สมาคมศิษย์เก่าอเมริกัน และเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกๆของประเทศไทย เมื่อก่อนตั้งอยู่ที่ถนนราชดำริ ก่อนถึงสวนลุมพินี แต่ปัจจุบันย้ายไปที่จามจุรีสแควร์แล้ว)
เอกชัยจริงจัง เพื่อเป้าหมายในการสอบเอ็นทรานซ์ให้ได้ ตลอด 1 ปีมานี้เขาเรียนหนักไม่แพ้ใคร
และการสอบเอ็นทรานซ์ครั้งที่ 2 ก็มาถึง ในปี พ.ศ.2516
ปรากฏว่าเขา เอ็นไม่ติดอีกครั้ง
เอกชัยซึมลงอย่างเห็นได้ชัด เขาพยายามมาตลอดปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐให้ได้มันเป็นเรื่องยากมากจริงๆ
เจ้าตัวลังเลอยู่ว่าจะเอาอย่างไรต่อดีกับชีวิต จะยอมแพ้ หรือจะสู้ต่อรอสอบปีที่ 3?
เอกชัย มีเพื่อนสนิทอยู่หนึ่งคน ที่ชื่อ ยอดชาย ขันธชวนะ ทั้งคู่เป็นบัดดี้กันตั้งแต่เรียนวชิราวุธ
หลังจากเรียนจบ ม.ปลาย เอกชัยเตรียมรอสอบ ส่วนยอดชาย ไปทำงานเป็นนักข่าวกีฬาฝึกหัดที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
หนังสือพิมพ์บ้านเมืองตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต แต่บ้านของยอดชายอยู่ที่หัวลำโพง ซึ่งในยุคนั้นมันเดินทางยาก เขาจึงตัดสินใจ ขนข้าวของมาสิงสู่อยู่ที่บ้านของเอกชัย ที่สามเสนแทน ซึ่งใกล้โรงพิมพ์มากกว่า
หลังจากสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดเป็นปีที่ 2 เอกชัยยังตั้งใจจะสอบเป็นปีที่ 3 แต่ทว่า เขาเองก็รู้สึกแย่ ที่ทำให้พ่อต้องผิดหวังที่สอบไม่ติด ยอดชายเองที่อยู่ด้วยกัน ก็รู้สึกได้เลยว่า เอกชัย ไม่สดใสเหมือนที่เคย
ช่วงเวลาเดียวที่ เอกชัยจะมีความสุข คือการได้ดูรายการไฮไลท์ฟุตบอลอังกฤษตอนกลางคืน
"เอกชัยจะนั่งดูอย่างตั้งใจ เขาไม่สนใจคนพากย์เลย แต่จะคุยกับผมว่า ไอ้นั่นมันเป็นใคร ไอ้นั่นส่งให้ไอ้นี่" ยอดชายเล่า
"เขารู้เรื่องนักกีฬาพอๆกับผม ที่เป็นนักข่าว ทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำงานอะไร เขาแค่ชอบ และรักฟุตบอลเท่านั้น"
ด้วยความที่เห็นเพื่อนมีความรู้ และความชอบในฟุตบอล รวมทั้งไม่อยากให้ต้องมาเศร้าหงอยแบบนี้ ยอดชายจึงเอ่ยปากขึ้นมาว่า
"ตี๋ ลองไปทำงานเป็นนักข่าวกีฬาไหม ที่บ้านเมืองเขาขาดอยู่ 1 คน มึงชอบฟุตบอล ทำได้แน่ ลองไปทำชั่วคราวดู"
"กูทำได้หรอ" เขายังลังเลใจ
"สบายมาก กูมั่นใจ ดูทีวีเห็นนักบอลแค่หัวไม้ขีดไฟ มึงยังจำได้ อีกตั้งนานกว่าจะเอ็นทรานซ์ปีหน้า ไปทำเล่นๆกันก็ได้ อย่ามาทำหน้าเซ็งแบบนี้ หาอะไรทำบ้างจะได้ไม่เซ็ง"
"ตกลง กูไป" เอกชัยตัดสินใจในที่สุด
วันรุ่งขึ้น ยอดชาย พาเอกชัยไปหา พี่หมิ่น สุรินทร์ ลีลาวัฒน์ หัวหน้าข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง
"โอเค กินเบี้ยเลี้ยงนักข่าวฝึกหัดก่อนแล้วกัน" หมิ่น-สุรินทร์ เห็นแววเอกชัยแล้ว คิดว่าเด็กคนนี้น่าจะทำงานด้วยกันได้
สำหรับหมิ่น-สุรินทร์ จะมีธรรมเนียม ที่เขาตั้งนามแฝงให้นักข่าวใหม่เสมอ เพื่อใช้เรียกในวงการ โดยก่อนหน้านี้ ยอดชาย ก็ได้นามแฝงว่า "ยอดทอง"
สำหรับเอกชัย ดูบุคลิกสูงโย่ง หมิ่น-สุรินทร์ จึงตั้งนามปากกาให้ว่า ย.โย่ง เพื่อให้ล้อไปกับยอดทอง ที่เป็น ย.ยักษ์เหมือนกัน
คู่หูนักข่าววัยรุ่น ยอดทอง-ย.โย่ง นี่คือไอเดียของ หมิ่น-สุรินทร์ ณ เวลานั้น ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้เลย ว่าในอนาคต ชื่อ ย.โย่งที่ตัวเองตั้งให้ จะกลายเป็นชื่อที่ติดหูแฟนกีฬามากที่สุด ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
เส้นทางของ ย.โย่ง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
วันแรก เขารู้จัก พี่หมู-เอกชัย ประเสริฐศิลป์ นักข่าวสายกอล์ฟ ซึ่งสิ่งแรกที่พี่หมู ให้ย.โย่งไปทำคือ "ไปเหลาดินสอให้พี่หน่อย"
ย.โย่ง รับดินสอมาแบบงงๆ เขานึกว่าจะได้ออกภาคสนาม หรือแปลข่าวต่างประเทศ แต่ไม่เลย เขาต้องเอาดินสอกำมือหนึ่งมานั่งเหลาทั้งวันเหมือนเบ๊ นี่ไม่ใช่งานของนักข่าวเลยสักนิด
"ผมเข้าใจความรู้สึกโย่งตอนนั้นดี ผมก็เดือดเหมือนกัน พี่หมูทำเหมือนบี้เด็กใหม่ ถ้าเป็นผมโดน คงคืนดินสอให้ แล้วเลิกทำงานไปเลย"
แต่ โย่งไม่แสดงออกอะไรให้ใครเห็น ตลอดทั้งวันเขาก็นั่งเหลาดินสอให้แหลมคม เขาอดทน ไม่อยากมีปัญหากับรุ่นพี่ ถ้าเริ่มงานวันแรกก็ระเบิดลงแล้ว คงไม่ได้เรียนรู้อะไรกันพอดี
หลังกลับจากทำงานวันแรก พ่อถามว่าเป็นไงบ้าง วันนี้ได้เรียนรู้อะไร ย.โย่ง ตอบว่าไปเหลาดินสอมา พ่อบอกว่า พรุ่งนี้ไปลาออกเลย แต่ ย.โย่ง ไม่ได้ทำตามที่พ่อบอก เขายืนหยัดสู้ต่อไป
ไม่ใช่แค่โดนรุ่นพี่รับน้องเท่านั้น แต่เรื่องรายได้ก็ยังน้อยจนน่าตกใจอีกด้วย
ในช่วงแรก ย.โย่งได้เงินเดือน เดือนละ 1,200 บาท ถ้าวันไหนอยู่กลางคืนได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่ม คืนละ 40 บาท
ตรงข้ามกับเงินที่น้อยมาก คือปริมาณงานที่หนักหนาสาหัส นักข่าวคนเดียวต้องเหมาหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ช่วงเช้า ย.โย่ง ต้องไปที่บ้านอัมพวันที่ทำงานของคณะกรรมการโอลิมปิคไทย เพื่อหาข่าวในประเทศ จากนั้นตอนสาย ต้องเข้ามาแปลข่าวต่างประเทศ ทั้งฟุตบอล และเทนนิส
จากนั้นแปลเสร็จ ตอนบ่ายต้องออกไปหาข่าวที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพราะบอลไทยคือกีฬายอดฮิต ต้องหาประเด็นมาเขียนให้ได้
ตอนเย็นวันที่มีมวยไทยต่อย เขาก็ต้องไปราชดำเนินหรือลุมพินี ทั้งๆที่ไม่ได้ชอบมวย แต่ก็ต้องทำ ไม่ใช่แค่เขียนข่าวแต่ต้องถ่ายรูปด้วย
All-in-one ทุกอย่างต้องทำได้ด้วยตัวเองคนเดียว
เงินน้อยแต่งานหนัก ถ้าใครไม่รักกีฬาจริงๆ ออกจากวงการไปแล้ว มีอีกหลายอาชีพที่งานเบากว่านี้ และได้เงินดีกว่านี้
แต่มุมของย.โย่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องสนุก ยิ่งได้ทำ ได้เรียนรู้ ก็ยิ่งพัฒนาตัวเอง ไม่เพียงแค่นั้น นสพ.บ้านเมือง ยังมีพื้นที่ให้เขาได้ออกไอเดียใหม่ๆของตัวเองลงไปด้วย
ที่ นสพ.บ้านเมือง ในยุคนั้น ถ้าเป็นวันที่ม้าแข่ง ในกรอบกรุงเทพ จะมีผลม้าครึ่ง 1 หน้านสพ. แต่ทว่า กรอบที่เอาไปขายต่างจังหวัด จะไม่มีผลม้า เพราะต้องตีพิมพ์ให้เร็วที่สุด จึงรอผลแข่งม้าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะไปถึงแผงตอนเช้าไม่ทัน
ดังนั้นมันแปลว่า ในกรอบต่างจังหวัด จะมีหน้าว่าง ครึ่งหน้านสพ. ให้นักข่าวต้องหาอะไรมาเขียน
ย.โย่ง จึงตัดสินใจ เอาครึ่งหน้านี้ มาเขียนเรื่องฟุตบอลอังกฤษล้วนๆ เขาแปลข่าวจากรอยเตอร์, เอเอฟพี แล้วเอามาร้อยเรียงด้วยภาษาไทย
เขาเชื่อว่าคนในประเทศ ต้องมีคนสนใจฟุตบอลต่างประเทศเหมือนเขาบ้างสิ ดังนั้นจึงทุ่มสุดใจเพื่อทำข่าวครึ่งหน้านี้ แม้จะรู้ดีว่า มันใช้ได้แค่กรอบต่างจังหวัดก็ตาม
นี่ถือเป็นมิติใหม่ของวงการสื่อยุคนั้น ที่มีการโฟกัสที่บอลต่างประเทศมากขนาดนี้ จากเดิมที่จะได้พื้นที่นสพ.แค่เซ็กชั่นเล็กๆ สำหรับรายงานผลเท่านั้น แต่นี่คือครึ่งหน้าเต็มๆ
แน่นอน นี่เป็นงานฟรี ไม่ได้มีเงินเพิ่ม แต่เรื่องเงินไม่ใช่สิ่งที่ย.โย่ง สนใจอันดับแรก เขาต้องการแค่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และอยากได้โอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น
และหลังจากทำงานที่ นสพ.บ้านเมืองได้ระยะหนึ่ง ในที่สุด ย.โย่ง ก็ตัดสินใจว่า เขาควรเดินมาสายอาชีพเลย คงไม่กลับไปสอบเอ็นทรานซ์อีกแล้ว
ตอนนี้คุณพ่อกำลังล้มป่วย ส่วนน้องชายก็กำลังจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาควรออกมาหาเงินด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพิ่มภาระให้ที่บ้าน
แม้จะอยากเรียนจบแค่ไหน แต่จังหวะชีวิตมันเป็นแบบนี้ ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ
ความขยัน และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ ย.โย่ง เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการสื่อ
ปี 2518 ระวิ โหลทอง เจ้าของบริษัทสยามสปอร์ต พับบลิชชิ่ง ตัดสินใจทำนิตยสาร "สตาร์ ซอคเก้อร์" ออกมา โดยมีเนื้อหา ฟุตบอลไทยครึ่งเล่ม ต่างประเทศครึ่งเล่ม เป็นนิตยสารกีฬาล้วนๆเล่มแรกๆในประเทศไทย
ระวิ ต้องการคนสร้างคอนเทนต์ในนิตยสาร ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเจอกับ ย.โย่ง และยอดทอง ในฟุตบอลกระชับมิตรของผู้สื่อข่าวกีฬา เขาจึงยื่นข้อเสนอ ให้ทั้งคู่ มาร่วมงานกันในรูปแบบพาร์ทไทม์
"ยังหนุ่มยังแน่น นักข่าวกีฬาหนุ่มๆ ขยันทำงานส่งต้นฉบับ จะได้มีเงินพิเศษไว้ใช้ ไม่ยากนี่หว่า โอเคนะ ส่งเรื่องมาเป็นสกู๊ป มีรูปประกอบด้วยยิ่งดี" ระวิยื่นข้อเสนอ
จ๊อบพิเศษของสยามสปอร์ต ไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไร แต่มันก็เป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริม
ระวิ โหลทอง ยืนยันว่า ใครเขียนเท่าไหร่ สยามสปอร์ตซื้อหมด ยิ่งขยันยิ่งได้เงินเพิ่ม ซึ่งสำหรับนักข่าวหนุ่มๆ มันเป็นโอกาสอันดีจริงๆ
1
ย.โย่ง ในตอนนั้น คนนอกวงการไม่มีใครรู้จัก เขายังไม่เคยได้ออกทีวีสักหน แต่สิ่งที่เขาโดดเด่นออกมาจากคนอื่น คือ ความขยัน หนักเบาเอาสู้ นอกจากจะทำงานประจำแล้ว เขายังจัดสรรเวลา เพื่อทำสกู๊ปส่งให้ระวิ โหลทองอีกด้วย
นิตยสาร สตาร์ ซอคเก้อร์ ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะบทความคุณภาพจาก ย.โย่ง เขาทำงานสุดใจแม้ตัวเองจะเป็นแค่พนักงานฟรีแลนซ์ก็ตาม
ในสตาร์ ซอคเก้อร์ ทุกๆท้ายเล่ม จะมีคอลัมน์ชื่อ "คัมภีร์ฟุตบอล" ที่แฟนๆทางบ้านจะส่งจดหมายมา แล้วกองบรรณาธิการก็จะเป็นคนเขียนตอบ เป็นการสื่อสารระหว่าง คนเขียนกับคนอ่าน
คัมภีร์ลูกหนัง ออริจินอล คนที่ตอบคำถามคือตัวระวิ โหลทองเอง ภายในนามปากกา "มิสเตอร์ป๊อก" แต่หลังจากร่วมงานกับย.โย่งไปนานๆ เขาเห็นเสน่ห์ในตัวอักษร ที่เอกชัยเขียน จึงตัดสินใจลองให้นักข่าวหนุ่มคนนี้ มาเขียนคอลัมน์นี้แทนดูบ้าง
ปรากฏว่า นั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องของระวิ เมื่อคัมภีร์ลูกหนังโดย ย.โย่ง กลายมาเป็นคอลัมน์ท็อปฮิตของนิตยสาร เพราะเขาเล่นคุยทุกเรื่อง ฟุตบอล ภาพยนตร์ ความรัก และชีวิต
ภาษาที่สละสลวย และความรู้ในตัวอักษร ทำให้คนอ่านรู้สึกผูกพันกับนิตยสารสตาร์ ซอคเก้อร์ ไปโดยไม่รู้ตัว และมันได้กลายเป็นรากฐานในการสร้างอาณาจักรสยามสปอร์ตในเวลาต่อมาด้วย
ตลอดช่วงชีวิตของ ย.โย่ง งานอื่นๆเขาอาจให้คนอื่นช่วยแบ่งเบา แต่ถ้าเป็นคัมภีร์ลูกหนังเขาจะเขียนเองเสมอ เป็นแบบนั้นจนถึงฉบับสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
"โย่ง ย้ำเสมอกับรุ่นน้อง ว่าอย่าละเลยการตอบจดหมายจากแฟนผู้อ่าน เพราะเขามีศรัทธาเขาถึงได้ถามมา ถ้าบก.คนไหนตอบสั่วๆ ไม่รู้จริงหรือตอบไปผิดๆ โย่งจะเรียกมาสอน" ยอดทองเล่า
"โย่งจะบอกเลยว่า มึงอย่าทำเลยหนังสือ หนังสือทุกเล่มบ่งบอกถึงเอกลักษณ์นิสัยคนทำ ถ้าแค่คุยกับคนที่เขาซื้อหนังสือ เรายังสั่ว นั่นเท่ากับมึงไม่ได้รักหนังสือตัวเองเลย แบบนี้อย่าทำดีกว่า"
หลังจากได้รับความเชื่อใจ จากระวิ โหลทอง ในที่สุด ย.โย่ง ก็ลาออกจากนสพ.บ้านเมือง หลังทำงานได้ 3 ปี และมาอยู่กับสยามสปอร์ตเต็มตัว และเส้นทางแห่งตำนานก็เริ่มขึ้นตรงนั้น
- ย.โย่ง เป็นคนแรกของสยามสปอร์ต ที่ทำคอลัมน์ "ย.โย่ง บุกลอนดอน" คือส่งบทความตรงจากอังกฤษ ในยุคที่ไม่ใช่โซเชียลเน็ตเวิร์คแบบนี้ นี่เป็นคอลัมน์ที่แฟนๆ รอคอยมากที่สุด
- ย.โย่ง เป็นนักข่าวไทย ที่ไปทำข่าวในฟุตบอลโลก 1982 ที่สเปน
- ย.โย่ง เป็นคนเรียกทีมชาติฮอลแลนด์ว่า อัศวินสีส้ม , คิดไอเดียให้สเปอร์ส เป็นไก่เดือยทอง , เรียกนิวคาสเซิลว่าสาลิกาดง
- ย.โย่ง ได้พากย์ฟุตบอลโลก 1986 ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่สังกัดทีวีพูลช่องไหน
- ปี 1988 ชาติเชื้อ กรรณสูต ผู้บริหารช่อง 7 ต้องการหามือ 1 ในด้านกีฬาเพื่อรองรับงานกีฬาของช่อง และเข้ามาเจรจากับระวิ โหลทอง ขอตัว ย.โย่งไปทำงานด้วย ซึ่งระวิ ตกลง เขาต้องการให้ลูกน้องคนนี้ไปไกลที่สุด
- ย.โย่ง กลายเป็นคนพากย์ฟุตบอลหลัก และเป็นคนอ่านข่าวกีฬา ของช่อง 7 ที่มีเรตติ้งอันดับหนึ่งในประเทศ
- ย.โย่ง เป็นคนเสียงพากย์รายการท็อปๆ ทั้งเจ็ดสีกีฬาโลก และ เจาะสนาม แต่ไม่ใช่แค่ลงเสียง เขาทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย คือทำสคริปต์เอง คุมตัดต่อเอง ทำทุกอย่างครบหมด เพื่อให้รายการออกมาดีที่สุด
- ย.โย่ง ได้รับการยกย่องว่า "เสียงแห่งฟุตบอล" และได้รับรางวัลเมขลา สาขาผู้บรรยายกีฬาดีเด่น
จุดเริ่มต้นจากเด็กที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ สุดท้ายเขากลายเป็นตำนานของวงการกีฬา
เส้นทางมันไม่ง่าย แต่เขาก็มาถึงได้จริงๆ
สิ่งที่เราได้เห็น จากเส้นทางชีวิตของย.โย่ง คือการประสบความสำเร็จนั้น สองสิ่งที่สำคัญมาก คือ การอดทนเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และ ความคงเส้นคงวา
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน ในช่วง 1-5 ปีแรก อย่าเพิ่งไปมองที่ตัวเงินมาก แน่นอน เราไม่ได้บอกว่าเงินไม่สำคัญ คือเงินน่ะสำคัญอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มีความหมายกว่า คือประสบการณ์
ถ้าจะเลือกงานในช่วงแรก ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ว่าที่ที่เราทำงาน มันช่วยพัฒนาศักยภาพของเราหรือไม่ มันเปิดโอกาสให้เราเก่งขึ้นหรือเปล่า
และ ตัวเราเองล่ะ กระหายที่จะเรียนรู้แค่ไหน ขยันที่จะเพิ่มเลเวลตัวเองมากเท่าไหร่
เงินมันไม่ได้หยุดนิ่งตลอดไปหรอก รายได้ก็จะไต่ขึ้นมาเองตามระดับความสามารถของเรา
มั่นใจไว้ถ้าเราเก่งขึ้น งานและเงิน จะมาหาเราเอง
1
ดังนั้น การอดทนเพื่อสั่งสมประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าใจร้อนเกินไป
และข้อ 2 เมื่อเรามีเติบโตขึ้นประมาณหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จตลอดไป คือ ความคงเส้นคงวา
ย.โย่ง มีวินัยในหน้าที่การงานเสมอต้นเสมอปลาย คอลัมน์คัมภีร์ลูกหนัง เขายังเขียน และให้เกียรติแฟนๆทางบ้านเสมอ แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาทำงานควบคู่กันทั้ง ช่อง 7 และ สยามสปอร์ต แต่ก็รับผิดชอบได้ดีทั้ง 2 พาร์ท นั่นคือความสม่ำเสมอ
ผลงานมาสเตอร์พีซ คนทุกคนสร้างได้ทั้งนั้น บทความสุดเจ๋ง วีดีโอยอดวิวนับล้าน หรือคอนเทนต์อะไรก็ตาม
แต่คนที่จะประสบความสำเร็จสู่จุดสูงสุด ไม่ใช่คนที่ทำงานมาสเตอร์พีซได้แค่ 1-2 ครั้ง แต่เป็นคนที่ คงเส้นคงวา มีวินัยในตัวเอง และผลิตงานออกมาต่อเนื่องต่างหาก
1
ผมเชื่อเสมอว่า คนทุกคนสามารถดังได้ทั้งนั้น แค่คุณเก่งอะไรสักอย่างก็มีชื่อเสียงได้แล้ว
แต่คนที่จะกลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าขาน แค่เก่งอย่างเดียวไม่พอ
ตำนานผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากจะมีฝีมือแล้ว วิธีคิดต้องถูกต้องด้วย
1
#ยโย่ง
โฆษณา