10 มี.ค. 2019 เวลา 05:31 • กีฬา
ประวัติความเป็นมา และอิทธิพลที่มีต่อสังคม ของกีฬาฟุตบอล​ (ตอนที่​ 5)
การแพร่ขยายของกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่
หลังจากที่ได้เล่าถึงเรื่องราววิวัฒนาการของของกีฬาฟุตบอลในอดีต​ ที่พอสรุปสั้นๆ​ ได้ว่าเป็นการละเล่นที่มีให้เห็นอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก มาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งก็อาจจะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่าง หรือคล้ายคลึงกันบ้างก็ขึ้นอยู่กับวัฒนะธรรม ความเป็นอยู่ในแต่ละภูมิภาค แต่หากจะกล่าวถึงรูปแบบของกีฬาฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อสังคมโลกในยุคปัจจุบัน ก็จะต้องพิจารณาจากวิวัฒนาการของประเทศในกลุ่มบริเตน​ หรืิอกลุ่มสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ
โดยนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1815 หลังจากที่อังกฤษสามารถเอาชนะนโปเลียนได้ อังกฤษก็ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจและได้ขยายดินแดนในออกไปทั่วโลก โดยระหว่าง ปี ค.ศ. 1815 - 1914 ซึ่งเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์บางส่วนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวนี้ว่าเป็น “ศตวรรษแห่งจักรวรรดิอังกฤษ” โดยจักรวรรดิอังกฤษในช่วงเวลานั้นมีพื้นที่ทั้งหมดราว 25,899,881 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 400 ล้านคน
ด้วยการที่อังกฤษได้มีการกำหนดกฎกติกา พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรเพื่อทำการบริหารจัดการกีฬาฟุตบอลที่ชัดเจนขึ้น คือ​ Association Rules​ ทำให้รูปแบบของกีฬาชนิดนี้มีความชัดเจนขึ้น​ ทั้งในรูปแบบของการแข่งชิงถ้วยรางวัล หรือการแข่งขันแบบลีก อันถือเป็นต้นกำเนิดของกีฬา Foot Ball สมัยใหม่ ก็ส่งผลให้ในระยะเวลาต่อมาประเทศในสหราชอาณาจักรอื่นๆ ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรทางด้านฟุตบอลขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ สกอตแลนด์ ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1873, เวลส์ ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1876 และ ไอร์แลนด์ ก่อตั้งสามาคมฟุตบอลขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1880 และนอกจากนี้​ ด้วยเหตุที่อังกฤษมีอาณานิคมอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก จึงส่งผลให้กีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ตามรูปแบบของอังกฤษนั้นสามารถที่จะขยายอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
ทวีปยุโรป:
ฟุตบอลของอังกฤษได้เข้าไปมีอิทธิพลในยุโรป เมื่อนักเรียนชาวอังกฤษได้นำฟุตบอลไปเผยแพร่ในโรงเรียนในประเทศเบลเยี่ยมในปี ค.ศ.1865 และได้มีการตั้งสโมสรฟุตบอล คือ “Antwerp Football Club” ขึ้นในปี ค.ศ.1880 และถือเป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของเบลเยี่ยม หลักจากนั้นก็มีหลายประเทศในยุโรปทำการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือของชาวอังกฤษอีกในลักษณะเดียวกันนี้อีกจำนวนมาก จนทำให้กีฬาฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่ทรงอิทธิพลเหนือทวีปยุโรปไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการกีฬาฟุตบอลในระดับนานาชาติขึ้น โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1904 ได้มีการประชุมของประเทศในยุโรป 7 ประเทศ คือ เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สเปน, สวีเดน และสวิสเซอร์แลนด์ โดยจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในการประชุมครั้งนี้ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” (Federation International Football Association) หรือ FIFA
ทีม​ Antwerp Football Club​ (1951-1952)​ Cr:https://www.pinterest.com.
กฎบัตร​ FIFA​: 1905 Cr:https://en.m.wikipedia.org.
ทวีปอเมริกา:
กีฬาฟุตบอลแบบบริติช​ เข้าไปมีอิทธิพลในทวีปอเมริกา เมื่อชาวไอริชได้เข้าไปตั้งอาณานิคมบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ และนำเกมฟุตบอลไปเผยแพร่ในดินแดนดังกล่าวด้วย (ดังจะเห็นได้ว่าการเล่นที่เป็นการผสมผสานรูปแบบการเล่นของ Rugby และ Soccer ที่ในอังกฤษเรียกว่า “Dribbling Game” นั้น ถือเป็นต้นแบบของกีฬา “American Football” ในเวลาต่อมานั่นเอง) โดยได้มีการนำ Association Rules มาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา ระหว่างทีม Toronto Lacrosse กับ ทีม The Carlton Cricket เมื่อปี ค.ศ.1876 และ ต่อมาในปี ค.ศ. 1877 ได้มีการจัดตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา มีสมาชิกคือทีมต่างๆ ในเมืองโตรอนโต นอกจากนี้ในส่วนของฝั่งอเมริกาใต้นั้นได้มีการนำทีมฟุตบอลจาก สหราชอาณาจักรไปแสดงการเล่นฟุตบอลให้ชมใน ประเทศอาร์เจนตินา และบราซิล จนกระทั่งฟุตบอลได้กลายเป็นกีฬายอดนิยมในประเทศต่างๆ ในแถบลาตินอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าสโมสรฟุตบอลในละตินอเมริกาหลายสโมสรได้ตั้งชื่อสโมสรเลียนแบบสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Arsenal, Liverpool, Corinthians และ Wanderers แม้แต่สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของประเทศอาร์เจนตินายังใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า River Plate แทนที่จะใช้ชื่อ Rio de la Plata
ทีม​ River​ Plate​: 1908 Cr:https://en.m.wikipedia.org.
ทวีปเอเชีย:
ในแถบเอเชียแม้ว่าจะมีการการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับลูกบอลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เช่น ใน จีน และญี่ปุ่น แต่ก็จะมีลักษณะการเล่นที่แตกต่างจากการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ ดังนั้นกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ จึงเป็นกีฬาที่ประเทศในทวีปเอเชียได้รับอิทธิพลมาจากประเทศในแถบยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่ได้นำเอาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศในเอเชียที่เป็นอาณานิคมของตน ดังจะพบว่า อังกฤษได้มีการนำกีฬาฟุตบอลเข้ามาเผยแพร่ในอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของอังกฤษ (อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในช่วง ปี ค.ศ. 1877-1945) โดยได้จัดให้มีการแข่งขันชิงถ้วยที่สำคัญ คือ Durand Cup ในปี ค.ศ.1888 และ​ IFA Shield ในปี ค.ศ.1893 ซึ่ง การแข่งขันชิงถ้วยรางวัลทั้งสองรายการนี้ถือเป็นรายการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยรางวัลที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 และ 4 ของโลกรองมาจาก F.A Cup ของอังกฤษ และ Scottish Cup ของสก๊อตแลนด์ และในปี ค.ศ.1889 ได้มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอินเดียขึ้น คือ สโมสร Mohun Bagan และหลังจากนั้นก็มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น ในปี ค.ศ.1890 ก็มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอล Calcutta FC, Sovabazar and Aryan Club และต่อมาในปี ค.ศ.1893 จึงได้มีการจัดตั้งสมาคมฟุตบอลของอินเดียขึ้น
เหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอินเดียเป็นอย่างมาก คือ ใน ปี ค.ศ.1911 ทีมสโมสร Mohun Bagan ได้ตำแหน่งชนะเลิศในการแข่งขัน IFA Shield โดยสามารถเอาชนะทีม East Yorkshire Regiment ในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ 2 ประตูต่อ 1 ซึ่งเหตุการณ์นี้มีความสำคัญ ก็เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทีมฟุตบอลอินเดียสามารถชนะเลิศการแข่งขันในรายการแข่งขันหลักๆ เหนือทีมจากจักรวรรดิอังกฤษได้ ทั้งที่ทีม Mohun Bagan นั้นนักกีฬาทุกคนจะลงเล่นโดยไม่สวมรองเท้า ซึ่งจะต่างจากนักกีฬาของทีมคู่แข่ง และเหตุการณ์นี้ นอกจากจะถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางด้านวงการกีฬาแล้ว ยังถือว่ามีนัยทางการเมืองด้วย คือ การที่ทีมฟุตบอลท้องถิ่นของอินเดียที่เล่นฟุตบอลด้วยเท้าเปล่า สามารถเอาชนะทีมฟุตบอลจากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ในการแข่งขันกีฬาที่เจ้าอาณานิคมนำมาเผยแพร่ได้ ก็ถือเป็นความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อต่อต้านอังกฤษของประชาชนชาวอินเดียได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ทีม​ Mohun​ Bagan​ กับ​ IFA​ Shield Cr:https://thelogicalindian.com.
นอกเหนือจากประเทศอินเดียแล้ว กีฬาฟุตบอลยังได้มีความนิยมแพร่หลายไปยังประเทศ อื่นๆ ในทวีปเอเชียอีกหลาย ประเทศ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย ฯ ดังจะพบว่ามีการจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศขึ้นในภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ.1957 คือ การแข่งขัน The Pestabola Merdeka หรือ Merdeka Cup ซึ่งได้จัดขึ้นเพื่อเป็นฉลองการได้รับเอกราชของประเทศมาเลเซีย และถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดับภูมิภาคเอเชีย ที่เก่าแก่ที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาคที่สำคัญอีกหลายรายการ เช่น การแข่งขัน Kirin Cup ที่ประเทศญี่ปุ่นจัดการแข่งขึ้นมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1978 โดยเน้นเชิญทีมสโมสร และทีมชาติ จากประเทศในหลายๆ ทวีป มาร่วมแข่งขัน หรือ การแข่งขัน The Nehru Gold Cup ที่ประเทศอินเดียจัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1982 โดยการเชิญทีมชาติ จากประเทศในหลายๆ ทวีป มาร่วมแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันรายการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดังภูมิภาคเอเชียที่สำคัญ และยังคงมีการจัดการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ทีม​ Malaya​ ชุดแชมป์​ Merdeka​ Cup​ ปี​ 1958​ถ่ายกับ​Tunku Abdul Rahman นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย ​ ​Cr:https://en.m.wikipedia.org.
ซึ่งนอกเหนือจากการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติต่างๆ แล้ว ยังพบว่าในประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการนำเอากีฬาฟุตบอลมาพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติ โดยเริ่มจากการจัดให้ฟุตบอลเป็นประเภทหนึ่งของการแข่งขันกีฬาแบบอาชีพ ใน ปี ค.ศ.1980 และต่อมาเมื่อประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค เมื่อ ปี ค.ศ.1988 ประเทศเกาหลีใต้ก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านกีฬาฟุตบอลของทวีปเอเชียนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา