10 มี.ค. 2019 เวลา 08:48 • กีฬา
ประวัติความเป็นมา และอิทธิพลที่มีต่อสังคม ของกีฬาฟุตบอล​ (ตอนที่​ 6)
อิทธิพลของกีฬาฟุตบอลกับสังคมโลก
Eric Hobsbawm นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้เคยกล่าวไว้ว่า ปฏิบัติการทางสังคมที่สำคัญประการหนึ่งในโลกสมัยใหม่ คือ “กีฬา” โดยกีฬาได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีพในโลกสมัยใหม่ จนกระทั่งในสังคมโลกตะวันตกได้มีการพัฒนาให้ “กีฬา” เป็นสถาบันทางสังคมแบบหนึ่งในที่สุด
ในอังกฤษนั้น ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมาก และมีแนวทางในการพัฒนาแยกออกเป็นสองแนวทาง คือ แนวทางแรก เป็นการพัฒนากฎกติกาการเล่นให้มีความชัดเจน และมีลักษณะของกีฬาสำหรับ “สภาพบุรุษ” จนสามารถผลักดันให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้ในที่สุด ส่วนแนวทางที่สอง คือ จากความนิยมในกีฬาฟุตบอลที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้ส่งผลให้ ในราวศตวรรษที่ 18 กีฬาฟุตบอล ได้กลายเป็นกีฬาที่มีลักษณะเป็น “กีฬาแบบมวลชน” (mass sport) ในลักษณะ “วัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพมวลชน” (mass proletarian cult) โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า นักกีฬาฟุตบอลนั้นจะต้องมาจากชนชั้นแรงงานที่มี “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ในลักษณะของชนชั้นแรงงานที่มีทักษะ และความชำนาญ ที่สูงกว่า ชนชั้นแรงงานที่ไร้ฝีมือแต่เน้นการใช้กำลัง เช่น นักมวย
เมื่อกีฬาฟุตบอลกลายเป็นวัฒนธรรมของมวลชนในประเทศอังกฤษ จึงส่งผลให้การเล่นฟุตบอล และการเข้าชม กลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถเรียกเก็บค่าเข้าชมการแข่งขัน และพัฒนาเป็นกีฬาอาชีพได้ ดังจะเห็นได้ว่า​ อังกฤษมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลในลักษณะของการแข่งขันแบบกีฬาอาชีพ ที่สามารถเก็บเงินค่าตั๋วเพื่อเข้าชมการแข่งขันได้มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1885
ในช่วงแรกของการจำหน่ายตั๋วเพื่ิอเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล​นั้น​ ราคาตั๋วจะมีราคาไม่สูงมาก (ประมาณ 3-6 เพนนี) เนื่องจากผู้ที่นิยมเข้าชมการแข่งขันในขณะนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน​ แต่เมื่อต่อมาฟุตบอลกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มชนทุกชั้นในสังคมมากขึ้น จึงส่งผลให้แต่ละสโมสรก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการพัฒนาสถานที่แข่งขันให้เพียงพอ และมีความเหมาะสมกับลักษณะ และจำนวนของผู้เข้าชม โดยเริ่มมีการสร้างสนามแข่งขันขึ้นอย่างเป็นสัดส่วน โดยสโมสรฟุตบอล Everton และ Celtic ถือเป็นสโมสรแรกที่ทำการสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลขึ้น และถือเป็นต้นแบบให้สโมสรอื่นให้ทำการสร้างสนามของตนขึ้นบ้างในเวลาต่อมา โดยในกรณีนี้ F.Inglis นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สนามฟุตบอลมองดูแล้วคล้ายกับโรงงานอุตสาหกรรม ประตูทางเข้าที่ทำเป็นช่องให้ฝูงชนในเมืองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เดินเข้ามาเหมือนกับแรงงานกำลังเดินเข้าสู่ประตูโรงงาน"
เมื่อมีการพัฒนาสนามแข่งขัน ยอดผู้เข้าชมการแข่งขันในแต่ละสโมสรก็มีมากขึ้น จนสามารถที่จะเพิ่มราคาตั๋วเพื่อเข้าชมการแข่งขันให้สูงขึ้นไปได้ตามความนิยมของผู้ชม ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของสมาคมฟุตบอลอังกฤษว่าในปี​ ค.ศ.​1901 มีเงินทุนประมาณ 4 ล้านปอนด์ หมุนเวียนอยู่ในสโมสรฟุตบอลต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในสมาคม
สนาม​ Goodison Park​ ของสโมสร​ Everton สนามฟุตบอลเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ​ที่เปิดใช้ในปี​ ค.ศ.1892 Cr:http://www.evertonfc.com.
และจากที่เล่ามาก่อนหน้านี้ว่า​ หลังจากที่อังกฤษได้ทำการพัฒนากีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ขึ้นจนกลายเป็นกีฬาที่มีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของตนแล้วได้นำเอาไปเผยแพร่ต่อในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และดินแดนอื่นที่ชาวอังกฤษเดินทางไปถึง และด้วยคุณสมบัติของกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ตามแบบฉบับของอังกฤษนั้นเป็นกีฬาที่เล่นง่าย​ กฎกติกาไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี ฟุตบอลจึงกลายเป็นกีฬายอดนิยมของชนชาติต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อชนชาติต่างๆ ทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และการเมือง อย่างมากมาย
ประเทศบราซิล:
ในบราซิลนั้นกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ครั้งแรก ใน​ ค.ศ.1894 โดยนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ คือ Oscar Cox และ Charles Miller ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นกีฬาที่สงวนไว้ให้เล่นกันแต่เฉพาะในกลุ่มคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่ออิทธิของยุโรปในบราซิลเริ่มลดลง ประกอบกับแนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางสังคมมีมากขึ้น ชนชั้นล่าง และชนผิวสีก็มีโอกาสที่จะได้เล่นฟุตบอลมากขึ้น จนกระทั่งฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่ชนทุกชั้นสามารถเล่นได้ในที่สุด และมีการพัฒนาลักษณะการเล่นฟุตบอลจากการเล่นที่เน้นการตั้งรับแบบอังกฤษดั้งเดิม มาเป็นลักษณะการเล่นที่รวดเร็ว อาศัยทักษะ ที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีสีสัน จนผู้คนเริ่มหันมานิยมในกีฬาฟุตบอลมากขึ้น​ และส่งผลให้ฟุตบอลในบราซิลเป็นมากกว่ากีฬา​ แต่กลายเป็นหนึงใน​ 3​ วัฒนธรรมประจำชาติ และวิถีชีวิตของชาวบราซิล ที่ได้แก่​ Family​ (ครอบครัว) Football​ และ​ Festivities (งานฉลอง)​ ซึ่งในปัจจุบันบราซิลเป็นชาติเดียวที่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ทุกครั้ง และสามารถชนะเลิศการแข่งขันได้ถึง 5 ครั้งด้วยกัน
3​ วัฒนธรรม​สำคัญของประเทศบราซิล Family, Football, Festivities Cr:http://www.aboutbrasil.com.
ประเทศสเปน:
ฟุตบอลสมัยใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลในสเปนในช่วงปลายศตวรรษที่ 18​ โดยวิศวกรชาวอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ในเมืองเหมืองแร่ทางตอนใต้ของสเปน จนกลายเป็นกีฬายอดนิยมของชาวสเปนและได้มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งแรกขึ้น คือ สโมสร​ Athletic de Bilbao ในปี ค.ศ.1898 ตามมาด้วยสโมสร Barcelona ในปี ค.ศ.1899 และสโมสร Real Madrid ในปี ค.ศ.1902 โดยสโมสร Athletic de Bilbao ได้ถือเป็นแกนหลักของทีมสเปน ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคเกมส์ เมื่อ ปี ค.ศ. 1920 ด้วยรูปแบบการเล่นที่หนักหน่วง และรวดเร็ว ที่รู้จักกันในชื่อว่า La Furia
ต่อมาในปี ค.ศ.1929 จึงได้เริ่มจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลลีกอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก​ โดยสโมสร Barcelona เป็นทีมที่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศในการแข่งขัน​ แต่ต่อมาเกิดสงครามการเมืองขึ้นในสเปน​ ระหว่าง ปี ค.ศ.1936-1939 และเป็นฝ่ายเผด็จการของนายพล ฟรันซิสโก ฟรังโก้ ที่ได้รับชัยชนะ และครองอำนาจไปภายใต้ นโยบาย “สเปนหนึ่งเดียว” ที่ต้องการจะรวมหลายแคว้นในสเปนให้เป็นสเปนเดียว โดยมุ่งให้แคว้น Castilla (ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง Madrid) ให้เป็นศูนย์กลาง
แต่เนื่องจากนโยบายที่มุ่งเน้นการกดขี่ข่มเหงประชาชน รวมการห้ามพูดภาษาท้องถิ่นและห้ามให้ธงประจำแคว้น ทำให้ 2 แคว้นที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมากอย่างแค้วน Catalonia (เมืองหลวงคือ Barcelona) และ แคว้น Basque (เมืองหลวง คือ Vitoria-Gasteiz และเป็นที่ตั้งของจังหวัด Biscay และเมือง Bilboa อันเป็นที่ตั้งของสโมสร Athletic de Bilbao) ก็ได้พยายามต่อสู้ และเป็นปฏิปักษ์ กับนายพลฟรังโก้มาโดยตลอด ซึ่งความขัดแย้งทางด้านการเมืองในเรื่องนี้ ได้มีการนำเอากีฬาฟุตบอลมาเกี่ยวข้องด้วย โดยที่นายพลฟรังโก้พยายามที่จะใช้ทีมฟุตบอลจากเมืองหลวงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์นโยบาย “สเปนหนึ่งเดียว” ของตน ซึ่งได้แก่สโมสร Real Madrid ภายใต้การบริหารของ Santiago Bernabeu ประธานสโมสรในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนิทสนมกับนายพลฟรังโก้เนื่องจากเคยร่วมรบกันมาในสมัยสงคราม​กลางเมืองสเปน (ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการนำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของ สโมสรฟุตบอล​Real Madrid มาจนถึงปัจจุบัน)
นายพลฟรังโก้​ และนายเบอร์นาบิว Cr:https://www.estrelladigital.es.
สนามซานดิเอโก้​ เบอร์นาบิว​ ของ​สโมสร รีลมาดริด​ Cr:https://sites.google.com.
ด้วยเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลของนายพลฟรังโก้ให้การสนับสนุนทีมสโมสร Real Madrid ให้ถือเป็นทีมตัวแทนของเมืองหลวง จึงเกิดเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง​กับสโมสร Barcelona​ ที่เป็นทีมจากเมืองหลวงของแคว้น Catalonia ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล อยู่หลายครั้ง จนส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอลระหว่างทั้งสองทีมนี้ กลายเป็นการแข่งขันที่มีความหมายมากกว่าการแข่งขันฟุตบอลธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการแข่งขันที่เดิมพันด้วยชาติกำเนิด การเมือง วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ที่ล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งเป็นอย่างมาก
แม้ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องความแตกแยกทางด้านการเมืองในสเปนดังเช่นในอดีตจะลดความรุนแรงลงไปมากแล้วก็ตาม แต่การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองทีมนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตแฝงอยู่ไม่น้อย ในลักษณะที่​ Real Madrid เป็นทีมตัวแทนของชาวสเปน ส่วน Barcelona เป็นทีมตัวแทนของชาว Catalonia จนได้มีการเรียกชื่อการแข่งขันระหว่างสองทีมนี้ว่า “El Clásico” หรือ แม้กระทั่งเมื่อทีมชาติสเปนได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่ประเทศอัฟริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ.2012 นั้น ก็ยังปรากฏว่า ก่อนวันแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ก็ยังมี ชาวแคว้น Basque ซึ่งต้องการจะแยกเป็นประเทศอิสระร่วมกับ แคว้น Catalonia แสดงความคิดเห็นที่ไม่ต้องการให้ ทีมชาติสเปนได้รับชัยชนะ เช่น อินากี้ อัตซูเตกี้ นักเศรษฐศาสตร์วัย 40 ปี จากเมือง Bilbao แห่ง แคว้น Basque ได้กล่าวตำหนิรัฐบาลสเปนว่านักการเมืองสเปนได้นำความสำเร็จของทีมชาติสเปน ซึ่งมีผู้เล่นส่วนใหญ่มาจาก แคว้น Catalonia และ Basque มาขายเป็นแนวความคิดเรื่องชาติสเปน ทั้งๆที่โดยแท้จริงนั้นชาวแคว้น Basque จำนวนมากไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับชาติสเปนเลยแม้แต่น้อย
El Clásico การแข่งขันฟุตบอลมักมีอะไรที่น่าสนใจเสมอ​ Cr:https://cyprus-mail.com.
การ์เลส ปูโยล และชาบี เอร์นานเดซ 2 นักเตะบาร์เซโลน่า วิ่งโบกธงชาติคาตาลันฉลองชัยที่สามารถพาทีมชาติสเปนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก​ ปี​ 2010 ได้สำเร็จ Cr:https://www.bloggang.com.
โฆษณา