11 ก.ค. 2020 เวลา 11:48
ผู้หญิง : สะท้อนภาพอิหร่านก่อนและหลังการปฏิวัติอิสลาม
ช่วงทศวรรษที่ 1930 ในสมัยพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี
การแต่งกายและผมของผู้หญิงชาวอิหร่านตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดของทางการ เพราะมีคำสั่งห้ามการสวมผ้าคลุมศีรษะแบบอิสลาม อีกทั้งยังให้อำนาจตำรวจจับถอดสวมผ้าคลุมของผู้ฝ่าฝืนออกในที่สาธารณะ
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 หลังจากการปฏิวัติ รัฐบาลใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามได้ออกข้อบังคับเรื่องการแต่งกายที่กำหนดให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมฮิญาบเมื่อออกนอกบ้าน
ก่อนการปฏิวัติ :
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเตหะราน ปี 1977 : ขณะที่ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาช่วงที่เกิดการปฏิวัติ
แต่ช่วงหลายปีหลังจากนั้นตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางการอิหร่านโน้มน้าวให้ครอบครัวหัวอนุรักษ์นิยมที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลยอมส่งลูกสาวไปเรียนไกลบ้าน
บารอนเนสฮาเลห์ อัฟชาร์ ศาสตราจารย์ด้านสตรีศึกษาแห่งมหาวิทยาลับยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ที่เติบโตขึ้นในอิหร่านช่วงทศวรรษที่ 1960 เล่าว่า "พวกเขาพยายามกีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่เกิดเสียงตอบรับในแง่ลบ พวกเขาจึงต้องยอมให้ผู้หญิงกลับไปเรียน"
"ปัญญาชนหลายคนเดินทางออกจากอิหร่าน และทางการก็ตระหนักว่าการจะขับเคลื่อนประเทศจะต้องให้การศึกษาแก่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง"
เดินดูของในกรุงเตหะราน ปี 1976 :
ก่อนการปฏิวัติ สตรีอิหร่านหลายคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบชาวตะวันตก เช่น กางเกงรัดรูป มินิสเกิร์ต และเสื้อแขนสั้น
"รองเท้าไม่เคยเปลี่ยน และความหลงใหลในรองเท้าก็อยู่ในตัวเราทุกคน! ผู้หญิงอิหร่านไม่ต่างไปจากผู้หญิงทั่วโลก และการออกไปชอปปิงก็คือการหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตประจำวันของผู้หญิง" ศาสตราจารย์อัฟชาร์ กล่าว
ปิกนิกวันศุกร์ในกรุงเตหะราน ปี 1976 : ครอบครัวและเพื่อนฝูงมักรวมตัวกันในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ในอิหร่าน
"ปิกนิกคือส่วนสำคัญของวัฒนธรรมอิหร่าน และได้รับความนิยมมากในหมู่ชนชั้นกลาง นี่คือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากการปฏิวัติ แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ ปัจจุบัน ชายและหญิงที่นั่งด้วยกันจะมีความระมัดระวังมากขึ้น และงดการมีปฏิสัมพันธ์กัน" ศาสตราจารย์อัฟชาร์ กล่าว
เดินบนถนนที่ปกคลุมไปด้วยหิมะในกรุงเตหะราน ปี 1976 : "คุณไม่สามารถห้ามผู้หญิงออกไปเดินตามท้องถนนในกรุงเตหะรานได้ แต่คุณจะไม่ได้เห็นภาพเช่นนี้ในปัจจุบัน
ต่างหูและการแต่งหน้าของเธอโดดเด่นมากในภาพนี้" ศาสตราจารย์อัฟชาร์ กล่าว
"มันมีความคิดเรื่อง 'ความประพฤติที่ถูกทำนองคลองธรรม' ในอิหร่าน ทำให้ทุกวันนี้ผู้หญิงที่เดินตามท้องถนนมักจะสวมเสื้อโค้ทยาวคลุมเข่าและผ้าคลุมผม"
หลังการปฏิวัติ
ผู้หญิงชุมนุมต่อต้านการสวมฮิญาบ ปี 1979 : หลังจากก้าวขึ้นสู่อำนาจไม่นาน อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ได้ออกกฎหมายให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมผ้าคลุมศีรษะ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือมีสัญชาติใด
จากนั้นในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสตรีสากล ผู้หญิงชาวอิหร่านหลายพันคนจากทุกชนชั้นได้พร้อมใจกันออกไปแสดงพลังประท้วงกฎหมายดังกล่าว
ครอบครัวไปละหมาดวันศุกร์ ปี 1980 :
การละหมาดวันศุกร์คือช่วงเวลาที่เหล่าผู้ศรัทธาและสนับสนุนทางการสาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นผู้เห็นต่างจะออกไปรวมตัวกันเพื่อแสดงความสามัคคี ศาสตราจารย์อัฟชาร์ กล่าว "แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปห้องเดียวกับผู้ชาย พวกเธอนั่งในบริเวณที่แยกออกไปจากพวกผู้ชาย"
การซื้อชุดแต่งงานในกรุงเตหะราน ปี 1986 : "ชุดแต่งงานที่โชว์อยู่ล้วนเป็นชุดแบบตะวันตก ผู้หญิงอิหร่านจะสวมชุดในแบบที่เธอต้องการได้ก็ต่อเมื่อเป็นการใส่ในพื้นที่ส่วนตัว" ศาสตราจารย์อัฟชาร์ บอก "งานแต่งและงานเลี้ยงควรต้องแยกชายหญิง ดังนั้นคุณจะสวมอะไรก็ได้ หากในงานมีแต่แขกผู้หญิง แต่หากเป็นงานที่มีทั้งชายและหญิงเข้าร่วม บางคนก็จะจ้างคนเฝ้าประตูสถานที่จัดงาน ขณะที่บางคนติดสินบนให้ตำรวจท้องถิ่น"
เดินในเตหะราน ปี 2005 : ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนในอิหร่านจะเลือกสวมชุดสีดำที่คลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า เว้นไว้แต่ส่วนของใบหน้า บางคนเลือกที่จะใส่เสื้อตัวนอกและใช้ผ้าคลุมศีรษะแบบหลวม ๆ มากกว่า
โฆษณา