12 มี.ค. 2019 เวลา 14:23 • ประวัติศาสตร์
คีตกวีอัจฉริยะแห่งโลกเงียบ “บีโธเฟน”
ลูทวิช ฟัน บีโธเฟน เกิดที่เมืองบ็อน (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 เป็นลูกชายคนรองของโยฮัน ฟัน บีโธเฟน (Johann van Beethoven) กับมารีอา มัคเดเลนา เคเวอริช (Maria Magdalena Keverich) ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ และพี่ชายที่ชื่อลูทวิชเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย
บิดาเป็นนักร้องในคณะดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ซ้ำยังติดสุรา รายได้เกินครึ่งหนึ่งของครอบครัวถูกบิดาของเขาใช้เป็นค่าสุรา ทำให้ครอบครัวยากจนขัดสน
บิดาของเขาหวังจะให้บีโธเฟนได้กลายเป็นนักดนตรีอัจฉริยะอย่างโมทซาร์ท นักดนตรีอีกคนที่โด่งดังในช่วงยุคที่บีโธเฟนยังเด็ก
จึงเริ่มสอนดนตรีให้ในขณะที่บีโธเฟนอายุได้เพียง 5 ขวบ
แต่ด้วยความหวังที่ตั้งไว้สูงเกินไป ประกอบกับเป็นคนขาดความรับผิดชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนดนตรีของบิดานั้นเข้มงวดและโหดร้ายทารุณ ทำให้บีโธเฟนท้อแท้กับเรื่องดนตรี แต่เมื่อได้เห็นสุขภาพมารดาที่เริ่มกระเสาะกระแสะด้วยวัณโรค ก็เกิดความพยายามสู้เรียนดนตรีต่อไป เพื่อหาเงินมาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
ค.ศ. 1777 บีโธเฟนเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาละตินสำหรับประชาชนที่เมืองบ็อน
ค.ศ. 1778 การฝึกซ้อมมานานสองปีเริ่มสัมฤทธิ์ผล บีโธเฟนสามารถเปิดคอนเสิร์ตเปียโนในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ขณะอายุ 7 ปี 3 เดือน ที่เมืองโคโลญ
หลังจากนั้น บีโธเฟนได้เรียนไวโอลินและออร์แกนกับอาจารย์หลายคน
ค.ศ. 1781 บีโธเฟนได้เป็นศิษย์ของคริสทีอัน ก็อทโลพ เนเฟอ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สร้างความสามารถในชีวิตให้เขามากที่สุด
เนเฟอสอนบีโธเฟนในเรื่องเปียโนและการแต่งเพลง
ค.ศ. 1784 บีโธเฟนได้เล่นออร์แกนในคณะดนตรีประจำราชสำนัก ในตำแหน่งนักออร์แกนที่สอง มีค่าตอบแทนให้พอสมควร แต่เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ ก็หมดไปกับค่าสุราของบิดาเช่นเคย
ค.ศ. 1787 บีโธเฟนเดินทางไปยังเมืองเวียนนา เพื่อศึกษาดนตรีต่อ เขาได้พบโมทซาร์ท และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมทซาร์ทฟัง เมื่อโมทซาร์ทได้ฟังฝีมือของบีโธเฟนแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าบีโธเฟนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป
แต่อยู่เมืองนี้ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวว่าอาการวัณโรคของมารดากำเริบหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับบ็อน หลังจากกลับมาถึงบ็อนและดูแลมารดาได้ไม่นาน มารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1787 ด้วยวัย 43 ปี
บิดาของเขาเสียใจหนักถึงขั้นดื่มสุราจนเสียการเสียงานในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากคณะดนตรีประจำราชสำนัก
บีโธเฟนในวัย 16 ปีเศษ ต้องรับบทเลี้ยงดูบิดาและน้องชายอีก 2 คน
ค.ศ. 1788 บีโธเฟนเริ่มสอนเปียโนเพื่อหาเงินให้ครอบครัว
ค.ศ. 1789 บีโธเฟนเข้าเป็นนักศึกษาไม่คิดหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยบ็อน
ค.ศ. 1792 บีโธเฟนตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย บีโธเฟนมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโยเซ็ฟ ไฮเดน
หลังจากเขาเดินทางมาเวียนนาได้ 1 เดือน พ่อของเค้าป่วยและก็สิ้นใจลงโดยไม่มีบีโธเฟนกลับไปดูใจ
แต่บีโธเฟนเองก็ประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และเป็นผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาสด ๆ ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก
ค.ศ. 1795 เขาเปิดการแสดงดนตรีในโรงละครสาธารณะในเวียนนา และแสดงต่อหน้าประชาชน ทำให้บีโธเฟนเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น
ค.ศ. 1796 ระบบการได้ยินของบีโธเฟนเริ่มมีปัญหา เขาเริ่มไม่ได้ยินเสียงในสถานที่กว้าง ๆ และเสียงกระซิบของผู้คน เขาตัดสินใจปิดเรื่องหูตึงนี้เอาไว้ เพราะในสังคมยุคนั้น ผู้ที่ร่างกายมีปัญหา (พิการ) จะถูกกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม จนในที่สุดผู้พิการหลายคนกลายเป็นขอทาน ดังนั้น เขาต้องประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อนจึงจะเปิดเผยเรื่องนี้
จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิกคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิก แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด
ค.ศ. 1801 บีโธเฟนเปิดเผยเรื่องปัญหาในระบบการได้ยินให้ผู้อื่นฟังเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้สังคมยอมรับ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องปกปิดเรื่องอาการหูตึงอีก
หลังจากนั้น ก็เป็นยุคที่เขาประพันธ์เพลงออกมามากมาย แต่เพลงที่เขาประพันธ์นั้นจะมีปัญหาตรงที่ล้ำสมัยเกินไป ผู้ฟังเพลงไม่เข้าใจในเนื้อหา
แต่ในภายหลัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเข้าใจในเนื้อเพลงของบีโธเฟน บทเพลงหลายเพลงเหล่านั้นก็เป็นที่นิยมล้นหลามมาถึงปัจจุบัน
บีโธเฟนโด่งดังมากในฐานะคีตกวี อาการสูญเสียการได้ยินก็มีมากขึ้นตาม แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา
รวมทั้งบทเพลงควอเท็ตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ในช่วงนี้บีโธเฟนมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็ก ๆ ขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ แต่ภายหลังเขาก็ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับหลานชายเป็นที่เรียบร้อย
ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้ที่บีโธเฟนเป็นมานานก็กำเริบหนัก หลังจากรักษาแล้ว ได้เดินทางมาพักฟื้นที่บ้านน้องชาย
12 ธันวาคม ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้และตับของบีโธเฟนกำเริบหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ
26 มีนาคม ค.ศ. 1827 บีโธเฟนเสียชีวิตลง พิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ทรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา
Reference :
Wikipedia
โฆษณา