13 มี.ค. 2019 เวลา 05:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อยากเล่าเรืองรถไฟฟ้า ภาค 9
Range anxiety – ความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดก่อนที่รถจะถึงจุดหมายปลายทางหรือถึงจุดชาร์จ
รถทุกคันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ รถไฟฟ้า จะมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางที่วิ่งได้ต่อการเติมพลังงานหนึ่งครั้ง รถยนต์ทั่วไปจะออกแบบให้วิ่งได้ระยะทางประมาณ 4-500 กม.ต่อการเติมพลังงานหนึ่งครั้ง รถไฟฟ้าก็เหมือนกันครับ
แหล่งพลังงานในรถไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ที่ความจุไฟมาก วิ่งได้ระยะทางไกลๆก็จะมีขนาดใหญ่และหนัก ผู้ออกแบบรถจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างพื้นที่ในรถที่จะเก็บแบตเตอรี่ ติดตั้งอุปกรณ์และอะไหล่อื่นๆ รวมถึงเป็นที่นั่งของผู้โดยสารในรถ ที่เก็บสัมภาระ
จากการศึกษาและเก็บข้อมุลในอเมริกา พบว่า 95% ของรถทั้งหมดใช้งานวันละไม่เกิน 65 ไมล์ (ประมาณ 105 กิโลเมตร) และพบว่าเวลาใช้รถจริงในแต่ละวัน ประมาณ 5%-20% เท่านั้น (ประมาณ 1-4 ชั่วโมง/วัน) ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถเลย
ประเด็นความกังวลเรื่องระยะทาง เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคนที่จะซื้อรถไฟฟ้ามาใช้งาน มักจะคิดเป็นเรื่องแรกในการตัดสินใจจะซื้อรถ
ลุงขอตอบเรื่องนี้เป็น 3 ข้อย่อยให้คิดกันต่อนะ
1) ความกังวลนี้เป็นเรื่องที่ใจเราคิดไปเอง ลุงเชื่อว่าทุกวันนี้ หลายๆคนชาร์จโทรศัพท์มือถือก่อนนอนทุกคืน บางคนที่ใช้งานโทรศัพท์เยอะๆ ในระหว่างวันต้องเตรียมสายชาร์จไปชาร์จที่ทำงานหรือที่โรงเรียนด้วย ทำไมเราถึงทำแบบนี้ได้ทุกวันๆโดยไม่รุ้สึกว่ามันยุ่งยากเลย คำตอบก็คือ เพราะเราได้ใช้ประโยชน์จากมือถือทุกวัน การที่เราต้องชาร์จทุกคืนก่อนนอนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
แล้วถ้าเราได้ประโยชน์จากการใช้รถทุกวันๆ เหมือนกับการใช้มือถือล่ะ คิดว่าการเสียบสายชาร์จรถก่อนนอนทุกวัน จะทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันเหมือนชาร์จมือถือได้ไหม ถ้าวันไหนเราต้องใช้รถวิ่งระยะทางมากกว่าปกติ การชาร์จรถเพิ่มระหว่างวันจะเป็นเรืองที่ต้องทำเพิ่มเป็นปกติไหม?
ลองตอบตัวเองว่า เราควรกังวลเรื่องนี้ไหม?
2) เรืองสถานีอัดประจุ หรือ จุดชาร์จมีน้อย ปัญหานี้คล้ายๆกับที่เคยเกิดกับตอนที่ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนมาใช้ LPG และ NGV แทนน้ำมัน ช่วงแรกๆจะหาปั๊มยาก หรือเจอปั๊มแล้วต้องคิวนานกว่าจะได้เติม ก่อนเดินทางไปไหน ต้องเช็คล่วงหน้าว่าเส้นทางที่จะไปมีปั๊มแก็สไหม แต่ในทีสุดด้วยนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้เชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ และด้วยกลไกการตลาด ที่ใดมี Demand ที่นั่นจะมี Supply ในเวลาไม่นาน สถานีอัดประจุไฟก็จะเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนปั๊มแก็ส
การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA มีแอพพลิเคชัน MEA EV เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานรถไฟฟ้า สามารถหาจุดชาร์จไฟฟ้าได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้จากการที่รถไฟฟ้าสามารถชาร์จไฟที่บ้านหรือที่ทำงานได้ หรือแม้แต่สถานที่สาธารณะ อย่างห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ อาคารสำนักงานใหญ่ๆ หรือ สถานศึกษา ต่างก็ติดตั้งจุดชาร์จไว้บริการลูกค้า หรือ สมาชิกในองค์กรของตน ในประเทศแถบยุโรป จะมีจุดชาร์จตามลานจอดรถสาธารณะ หรือริมถนนที่อนุญาติให้จอดรถได้ การชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าตามจุดชาร์จเหล่านี้แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่า แต่ก็อาจจะสะดวกสบายกว่าการขับรถไปเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันเสียอีก
3) ระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จ รถยนต์เติมน้ำมันใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แต่กับรถไฟฟ้า แม้ว่าจะชาร์จด้วยวิธี FAST CHARGING(หรือ DC CHARGING) ตามสถานีอัดประจุแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ประเด็นนี้อาจจะต้องรอเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่และการอัดประจุพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ แต่กับสถานะการณ์ปัจจุบัน ลุงคิดว่า การที่เราขับรถมา 3-400 กิโลเมตร แล้วเราจอดพักรถเพื่อชาร์จไฟ ส่วนคนขับรถก็เข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา ดื่มกาแฟ กินอาหารเบาๆ ระหว่างที่รอการชาร์จ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ท้ายทีสุดแล้ว รถไฟฟ้าไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดกับทุกสถานะการณ์ ผู้ที่ต้องใช้รถวิ่งระยะทางยาวๆต่อเนื่องกัน อาจจะต้องเลือกใช้เป็นรถ HEV หรือ PHEV ซึ่งสามารถใช้เครื่องยนต์เป็นต้นกำลัง และสามารถเติมน้ำมันได้เร็วกว่ารอการชาร์จแบตเตอรี
ขอบคุณครับ
โฆษณา