17 มี.ค. 2019 เวลา 08:44 • ไลฟ์สไตล์
A Lot Story : ร้านขายยาในเยอรมัน
ว่ากันว่า "ยา"
คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เรา "เลือกได้" น้อยที่สุด
ถ้าเป็นอาหาร เรายังพอเลือกได้ว่าวันนี้จะกินร้านข้างทาง
หรือจะกินบุฟเฟต์โรงแรมห้าดาว
หรือเราจะทำกินเองก็ยังได้
กับเสื้อผ้า หรือแม้แต่บ้านที่ซุกหัวนอน
เราก็ยังเลือกได้
แล้วแต่รสนิยมและกำลังทรัพย์ของเราจะอำนวย
แต่กับสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า "ยา"
หลายครั้งที่เรายอมควักเงินทั้งหมดที่ตัวเองมี
แล้วบอกว่า
เอายาที่ดีที่สุด แพงเท่าไหร่ก็ได้ ขอให้หายก็ยอม
โดยเฉพาะเมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ
ไปจนถึงปานกลาง
แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องหามส่งโรงพยาบาล
สถานที่แรกที่เราจะฝากความหวังไว้ก็คือ
"ร้านขายยา"
แต่ร้านขายยาในประเทศไทย แทบจะนับร้านได้เลย
ที่มีบุคคลที่น่าจะรู้เรื่องราวของยาได้ดีที่สุด
และมากพอที่เราจะฝากความหวังเอาไว้
ส่วนใหญ่บุคคลเหล่านั้นจะอยู่กันในรูปของป้าย
จึงเป็นที่มาของ "ร้านยาแขวนป้าย"
และปล่อยให้ใครก็มาไม่รู้
มาหยิบยื่นยารักษาโรคให้กับเรา
พักเรื่องราวของร้านขายยาในเมืองไทย
เอาไว้ก่อนครับ
เพราะ A Lot Story ในวันนี้
จะขอพาทุกท่านมาพบกับร้านขายยา
ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีอุตสาหกรรมยาที่ก้าวหน้า
อันดับต้นๆของโลก
ประเทศเยอรมนีครับ
ร้านขายยาในเมือง Wetzlar รัฐ Hesse
มาดูกันว่า ระบบการเข้าถึงยาในประเทศที่ได้ชื่อว่า "พัฒนาแล้ว"
จะแตกต่างกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
..
1.
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนสักนิดว่า
ระบบการดูแลสาธารณสุขของต่างประเทศ
กับของไทยจะไม่เหมือนกัน
โดยเฉพาะของประเทศในโซนยุโรป
ผมจะไม่เข้าลึกถึงการบริการในโรงพยาบาลนะครับ
แต่จะเอาการบริการง่ายๆ อย่างร้านขายยา
ซึ่งเป็นหน่วยแรกที่จะเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายที่สุด
หากเรามีอาการเจ็บป่วยทั่วไป
เราไม่สามารถเดินไปซื้อยาที่ร้านขายยา
แล้วได้ยามาง่ายๆนะครับ
เราจะต้องไปพบหมอ อาจจะเป็นหมอที่คลินิก
(ราคาค่อนข้างสูง)
หรือโรงพยาบาล (ราคาไม่สูง แต่รอนาน)
แล้วหมอจะเป็นคนให้ใบสั่งยา
แล้วเราจึงนำใบสั่งนั้นมาซื้อยาที่ร้านขายยา
(Die) Apotheke เป็นภาษาเยอรมัน
แปลว่า ร้านขายยาครับ
ส่วนเภสัชกร จะเรียกว่า Apotheker สำหรับผู้ชาย
และ Apothekerin สำหรับเภสัชกรหญิงครับ
ร้านขายยาในเมือง Ingolstadt รัฐ Bavaria
ร้านขายยาในเมือง Garmisch-Partenkirchen รัฐ Bavaria
ดังนั้นจะเห็นว่า บทบาททางวิชาชีพของหมอ
กับเภสัชกร ค่อนข้างแยกจากกันชัดเจน
คือหมอ จะมีหน้าที่วินิจฉัยโรค ซักประวัติผู้ป่วย
แล้วเขียนใบสั่งยา
ส่วนเภสัชกร จะมีหน้าที่ตรวจสอบยา
ตรวจสอบเรื่องแพ้ยาของผู้ป่วย
ความเหมาะสมของยาที่ได้รับ แล้วจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย
ซึ่งถ้าหากว่าเภสัชเห็นว่ายาไม่เหมาะสม ก็จะติดต่อไปยังคลินิกของหมอ
เพื่อปรึกษาแล้วปรับเปลี่ยนยา
(ระบบค่อนข้างเชื่อมโยงถึงกันพอสมควร)
บางร้านขายยามีข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยเอาไว้ด้วย
หรืออาจเป็นตัวผู้ป่วยเอง
ที่ต้องกลับไปพบหมออีกครั้งเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ
ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจกินเวลา
หลายร้านขายยาที่มีขนาดใหญ่ๆ จึงแก้ปัญหานี้
ด้วยการมีคลินิกหมออยู่ในร้านขายยาเลย
พบหมอเสร็จ
ก็นำใบสั่งมาซื้อยากับเภสัชในร้านได้เลย
การดำเนินการเช่นนี้อาจดูเสียเวลา
แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาการใช้ยาพร่ำเพรื่อ
ได้ดีในระดับหนึ่ง
ขึ้นชื่อว่า ยา มีผลในการรักษา
ขณะเดียวกันก็ย่อมมีผลข้างเคียง
ยิ่งเข้าถึงยาได้ง่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับผลข้างเคียงจากยาได้รับมากเท่านั้น
โดยเฉพาะในกลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า
ยาแก้อักเสบ เช่น อะม็อกซี่
ยาในกลุ่มนี้ เมืองไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากตามร้านขายยา
แถมบางคนใช้รักษาอาการที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างเช่น
เจ็บคอจากหวัด ซึ่งกว่าร้อยละ 90
เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่แบคทีเรีย
ไม่ต้องกินยาอะไร
อาการก็จะดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 วัน
โดยยาในกลุ่มนี้หากได้รับแล้ว กินไม่ครบช่วงของการรักษา ซึ่งปกติจะเป็น 3-5 วัน
(บางคนเจ็บคอจากหวัด
กินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 1 วัน แล้วอาการดีขึ้น
ก็หยุดกินยา ซึ่งในความเป็นจริง คืออาการมันจะดีขึ้นได้เองอยู่แล้ว)
ก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตัวเรา
เกิดอาการ "ดื้อยา"
ซึ่งหมายความว่า
ยาตัวเดิมจะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
และบรรเทาให้อาการติดเชื้อดีขึ้น
จะต้องใช้ยาตัวใหม่ ที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ
จนสุดท้าย ก็อาจจะไม่มียาตัวไหนที่สามารถใช้รักษาได้อีกต่อไป
2.
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเข้าถึงยาอื่นๆ
จะต้องไปพบหมอไปซะหมดนะครับ
เพราะยาบางตัว ที่ประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็น
"ยาอันตราย"
คือต้องจ่ายโดยหมอหรือเภสัชเท่านั้น
แต่ที่นี่ ผู้ป่วยสามารถซื้อได้เอง
โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากหมอ
เรียกกันว่า ยา "Over The Counter" หรือ ยา OTC
เช่น ยา Ibuprofen หรือยาแก้ปวด
แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ในเมืองไทยขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย
เพราะผู้ป่วยอาจแพ้ยา หรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาได้
เพราะยาในกลุ่มนี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหารครับ
ป้ายลดราคายา Nurofen สำหรับเด็ก หน้าร้านยาแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน (นำเสนอเพื่อเป็นความรู้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการโฆษณานะครับ)
แต่ในเยอรมัน
ยาตัวนี้เราสามารถซื้อที่ร้านขายยาได้เลย
แถมบางร้านมีป้ายลดราคาอยู่หน้าร้านด้วย
(ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย เพราะนับว่าเป็นยา OTC)
ซึ่งหากมองอีกนัยหนึ่ง
ก็อาจสื่อได้ว่า ประชาชนมีความเข้าใจยาดีพอ
มีความรู้เบื้องต้นในการใช้ยาดีพอ
ระบบการศึกษาวิชาสุขศึกษาของประเทศนี้
ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ
3.
ด้วยความที่การเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย,ยาฆ่าเชื้อไวรัสค่อนข้างยาก
หากอาการของเราไม่ถึงขั้นที่ต้องได้ยา
เภสัชกรในร้านจะแนะนำทางเลือกอื่นๆ
ที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษาครับ
ขอยกตัวอย่างเพื่อนของผม เธอป่วยเป็นโรคเริม (Herpes simplex, Cold sore)
ซึ่งอาการคือ จะมีตุ่มใสๆขึ้นบริเวณริมฝีปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
สาเหตุหลักๆของการติดเชื้อไวรัสนี้
มาจากการพักผ่อนน้อยครับ
หากเป็นในเมืองไทย เธอจะได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัส เช่น Acyclovir ทั้งยากิน หรือใช้ร่วมกับยาทา
แต่ด้วยความที่ร้านขายยาไม่สามารถจ่ายยากลุ่มนี้ได้ เพราะเพื่อนไม่มีใบสั่งยา
และเพื่อนก็ไม่สะดวกไปพบหมอ
เภสัชกรในร้านจึงให้สิ่งนี้มาครับ
เป็นแผ่นแปะสำหรับโรคเริมโดยเฉพาะ
หากดูเผินๆก็นึกว่าแผ่นแปะที่มียา
แต่ความจริงแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของแผ่นแปะนี้คือ Hydrocolloid
ซึ่งเป็นส่วนประกอบเดียวกับแผ่นแปะสิวครับ
(เช่น แผ่นแปะสิว 3M)
ซึ่งเภสัชกรก็ได้เปิดเปเปอร์งานวิจัยของคณะแพทย์
ทั้งมหาวิทยาลัยในเยอรมัน และอังกฤษให้ดู
(กลัวเราไม่เชื่อถือ)
ว่าไอ้เจ้าแผ่นแปะนี้
สามารถรักษาอาการโรคเริมได้ดี
ไม่แพ้ยาฆ่าเชื้อไวรัสนะ
นับว่าเป็นการทำงานที่มืออาชีพไม่เบา
ท้ายที่สุด อาการของเพื่อนก็ดีขึ้น
จากเจ้าแผ่นแปะนี้ครับ
นับว่าเป็นกรณีการรักษาที่น่าสนใจครับ
(ทั้งนี้ สำหรับการใช้ในประเทศไทย อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม)
4.
เภสัชกรที่นี่จะอยู่ที่เคาท์เตอร์ตลอดเวลาทำการครับ หากเราซื้อยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา
ไม่เพียงแต่จะไม่ขายให้ แต่ยังช่วยจดที่อยู่และเบอร์ติดต่อของคลินิกหมอที่อยู่ใกล้ๆ
จดให้สองสามที่ก็มี
นับว่ามีความเคร่งครัดในเรื่องกฎหมายสูง
ซึ่งก็เป็นอุปนิสัยที่ขึ้นชื่อคนเยอรมันอยู่แล้ว
หากเป็นเภสัชกร จะมีป้ายชื่อ และคำว่า Apotheker ติดอยู่บนเสื้อครับ ในภาพเป็นคุณเภสัชกร ร้านยาแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน (ขออนุญาตถ่ายภาพแล้ว)
แต่ก็ด้วยความเป็นคนเยอรมัน
การทำงานของแรงงานจึงมีกำหนดเวลาตายตัว
เวลาทำงานไม่นานครับ
ร้านยาหลายแห่งจึงปิดค่อนข้างเร็ว
และส่วนใหญ่จะปิดทำการวันอาทิตย์ด้วย
นอกจากร้านขายยาแถวสถานีรถไฟในเมืองใหญ่
ที่จะเปิดทำการทุกวัน
5.
ร้านยาสาขา (แบบเป็นChain) ที่นี่มีน้อยมาก
คงเป็นเพราะแต่ละร้านมีความเฉพาะตัวสูง
ตั้งแต่การแต่งร้าน การวางสินค้า
ตกแต่งภายใน สวยๆทั้งนั้น
บางร้านนึกว่าเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์
การตกแต่งภายในของร้านขายยาแห่งหนึ่ง ในเมือง Fussen รัฐ Bavaria
บางร้านมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และท้องถิ่น เช่นน้ำผึ้งสกัดสมุนไพร ลิบบาล์มน้ำมันมะกอก
บางร้านมีแม้แต่การจัดอีเวนท์ของตัวเอง
เช่น พบปะสนทนาสมุนไพรรักษาโรคหัวใจ
มีแม้กระทั่งจัดวิ่งมาราธอน
คิดว่าบทบาทของเภสัชกร
และร้านยาต่อชุมชนน่าจะมีไม่น้อยเลยทีเดียว
ร้านยาส่วนใหญ่ จะไม่ได้ขายแค่ยาแผนปัจจุบัน
ยาสมุนไพร และโฮมีโอพาร์ตี้
(การรักษาตามแนวทางเลือกโดยปฏิเสธยาแผนปัจจุบัน)
ก็มีในร้านขายยาเยอะเหมือนกันครับ
น่าแปลกใจ
ทั้งๆที่เยอรมันคือเจ้าแห่งยาแผนปัจจุบัน
มีบริษัทยายักษ์ใหญ่มากมาย แต่กลับมีลูกค้าที่สนใจศาสตร์แนวนี้เยอะเหมือนกัน
..
ท้ายที่สุดหากจะให้ผมสรุปว่าระบบร้านยาของประเทศไหนจะดีกว่า
ก็คงขึ้นกับอุปนิสัยของคนในประเทศนั้นๆเป็นสำคัญ
ของเยอรมันถึงจะเป็นระบบ
แต่การเข้าถึงยาที่ค่อนข้างลำบาก ซึ่งเอาจริงๆก็ค่อนข้างเป็นปัญหาในกรณีเร่งด่วนอยู่ไม่น้อย
ของไทยถึงแม้จะสะดวกสบาย
แต่ความหละหลวมในการควบคุม
และการเข้าถึงยาที่ "ง่าย" เกินไป
ก็นำปัญหาใหญ่ ทั้งเรื่องผลข้างเคียง
และการดื้อยา เข้ามาสู่ตัวผู้ป่วยเอง
1
แต่หากมองเรื่อง "ความปลอดภัย"
ในการใช้ยาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ผู้อ่านคงตอบได้ไม่ยากนะครับ
ว่าระบบของประเทศไหน
จะดีกว่ากัน
...
โฆษณา