23 มี.ค. 2019 เวลา 14:14 • ไลฟ์สไตล์
อ่านบนเว็บ > https://read555.com/288
สวัสดียอดนักอ่านทุกท่านครับ! …เคยมั้ยที่บางครั้ง เรามักจะเสียเวลาคิดฟุ้งซ่าน กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจนนอนไม่หลับ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
เช่น ก่อนเปิดเทอมวันแรก หลายคนอาจจะเคยคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นาๆ …หรือก่อนวันสัมภาษณ์งาน คุณอาจจะเคยคิดไปเรื่อยว่าจะโดนถามอะไรบ้าง จะตอบยังไงดี ฯลฯ
แม้กระทั่งก่อนวันหวยออก จ๊อดเชื่อว่าหลายคนก็คงจะเคยฟุ้งซ่านกันมาแล้ว ว่าถ้าถูกหวยรางวัลที่ 1 จะเอาไปใช้อะไรบ้างนะ สารพัดสิ่งที่อยากได้ และหลายอย่างที่อยากทำเมื่อมีเงินเยอะๆ บางคนอาการหนัก ถึงขั้นมาเป็นซีรีย์เลย (จ๊อดไงจะใครล่ะ 555)
หรือกับบางเรื่อง ที่เราตัดสินใจไปแล้ว แต่ก็ยังหยุดคิดวนเวียนถึงเรื่องนั้นไม่ได้สักที เป็นอาการที่น่ารำคาญใจมากจริงมั้ยครับ …แล้วจะแก้อย่างไรดีล่ะ ถ้ามัวแต่นอนคิด ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้นมาแน่นอน มีแต่จะทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ วันนี้จ๊อดมีทางออกที่ได้ผลจริง ให้เพื่อนๆ ได้เอาไปลองใช้ดูครับ
1.สังเกตความคิดของตัวเอง
คือเมื่อคิดฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้ตัวว่า ตอนนี้เรากำลังคิดฟุ้งซ่านนะ รู้แค่นี้ก็พอ แล้วก็ปล่อยให้ความคิดนั้นลอยผ่านไป เสมือนความฟุ้งซ่านเป็นรถไฟขบวนหนึ่ง ที่วิ่งผ่านสถานีเท่านั้นเอง เราก็แค่นั่งดูอยู่ที่ชานชาลา นั่งดูเฉยๆ ไม่วิ่งตาม และไม่พยายามหยุดรถ นี่คือการฝึกสมาธิแบบเจริญสติ เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณ หยุดหมกมุ่นกับความคิดที่ผ่านเข้ามาได้
สตีฟ จอบส์ เองก็เคยอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเช่นเดียวกันนี้ให้ วอลเตอร์ ไอแซ็กซัน ผู้เขียนชีวประวัติของเขาฟัง ดังนี้ “ลองนั่งอยู่เฉยๆ แล้วสังเกตความคิดของตัวเองดู คุณจะรู้เลยว่าความคิดมันไร้ขอบเขตจริงๆ และเวลาที่คุณพยายามทำให้มันนิ่ง ก็มีแต่จะแย่ลงเท่านั้น แต่จิตใจของคุณจะสงบลงเองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก และเมื่อจิตใจของคุณสงบแล้วมันก็จะมีที่ว่างในการรับฟังสิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น”
2.เขียนความคิดของตัวเอง
อีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยหยุดความคิดฟุ้งซ่านของคุณ ก็คือ การเขียนระบายความคิดของตัวลงไปในกระดาษ เพราะการเขียนทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น ถ้าคุณเก็บความคิดเหล่านั้นไว้โดยไม่ระบายออกมา จะทำให้มันทับถมกันมากมายจนเป็นภูเขาเลากา และมันยังทำให้คุณวนกลับมาคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น
3.กำหนดช่วงเวลาสำหรับ “การหยุดใช้ความคิด”
การกำหนดโซน “หยุดใช้ความคิด” ช่วยห้ามไม่ให้คุณหมกมุ่นกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น การไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องยากๆ หลังเวลาสองทุ่ม เพื่อไม่ให้มันมารบกวนเวลาเข้านอน
เอมี่ โมริน ซึ่งเป็นทั้งนักสังคมสงเคราะห์และนักเขียน ได้แนะนำวิธีที่ใกล้เคียงกันไว้ในคอลัมน์หนึ่งของ Psychology Today ว่าให้แบ่งเวลาไว้ประมาณ 20 นาทีต่อวัน สำหรับการสะท้อนความคิดของตัวเอง “ภายใน 20 นาทีนี้ ปล่อยให้ตัวเองวิตกกังวล ครุ่นคิด ฟุ้งซ่านได้เต็มที่ตามต้องการ แล้วพอหมดเวลา ก็ให้เปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กว่า ถ้าคุณเริ่มคิดมากนอกช่วงเวลาที่กำหนดไว้เมื่อไหร่ ก็ให้เตือนตัวเองว่า ค่อยเอาเก็บไปคิดในช่วงเวลาที่กำหนดดีกว่า” การทำแบบนี้จะทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
4.เบี่ยงเบนความคิดของตัวเอง
ลองออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำ เมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังคิดมาก เพื่อเบี่ยงเบนความคิดของคุณ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เห็นด้วยกับวิธีนี้
สตีเฟน เอส. อิลาร์ดี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Depression Cure กล่าวกับ Fox News ว่า วิธีแก้การคิดมากคือ ให้หากิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจของคุณ ซึ่งควรเป็น “กิจกรรมที่ใช้ทั้งร่างกาย ความคิด และการร่วมเล่นกับผู้อื่น เช่น เทนนิส หรือการเดินเที่ยวกับเพื่อนสักคน”
5.โฟกัสที่สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน
อีกหนึ่งวิธีแก้นิสัยคิดมากก็คือ เลิกคิดแล้วลงมือทำซะ อย่าไปโฟกัสในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ หรือสิ่งอื่นที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ให้พุ่งความสนใจไปในที่สิ่งที่สามารถทำได้ในปัจจุบันก็พอ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม จงลงมือทำซะเดี๋ยวนี้เลย
บ็อบ มิกลานี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Embrace of the Chaos เขียนลงในหนังสือพิมพ์ The Huffington Post ว่า เขามักจะเปลี่ยนความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตให้กลายเป็นการกระทำที่จับต้องได้ “ทุกครั้งที่ผมเริ่มกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ผมจะลุกจากที่ที่นั่งอยู่ เดินไปที่คอมพิวเตอร์และลงมือเขียนหนังสือของผมต่อ”
6.เคารพความคิดเห็นของตัวเอง
เหตุที่คุณยังคงคิดมากจนไม่ยอมตัดสินใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณไม่เชื่อว่าตัวเองจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง อาการแบบนี้จ๊อดเป็นบ่อยที่สุด ต้องขอขอบคุณบทความนี้จริงๆ ที่สอนว่า “จงเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นของตัวเอง” สิ่งที่คุณตัดสินใจครั้งแรก คือทางเลือกจากหัวใจของคุณเอง อย่าไปคิดมากกว่านั้น เพราะยิ่งคิดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งลังเลในความคิดของตัวเองมากเท่านั้น
1
7.คุณสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
การคิดมาก เป็นเพราะคุณคิดว่า มันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของคุณ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และต้องถูกต้องเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณไม่ต้องกังวลกับความผิดพลาดเลย และให้เข้าใจไว้ว่าความคิดเห็นหรือความรู้ของคุณนั้น มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลา แล้วคุณจะรู้สึกสงบและเป็นอิสระจากภายในอย่างแท้จริง
…เป็นเรื่องปกติที่จะกังวลว่าคุณเลือกงานผิด แต่งงานกับคนที่ไม่ใช่สำหรับตัวเอง หรือแม้แต่ขับรถกลับบ้านผิดทาง แต่ความผิดพลาดก็ไม่ได้นำไปสู่หายนะเสมอไป แถมยังเป็นโอกาสให้คุณได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอีกด้วย
นักข่าวชื่อดัง เคธรีน ชูลซ์ เคยขึ้นไปพูดบนเวที TED Talk เธอกล่าวว่า “การตระหนักได้ว่าตัวเองทำอะไรพลาด แล้วปรับมุมมองการมองโลกใหม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ”
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จ๊อดหวังว่า 7 ข้อนี้ จะสามารถช่วยให้เพื่อนๆ เลิกเป็นคนฟุ้งซ่านได้นะ สำหรับใครที่อ่านจบแล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร ก็อย่าลืมคอมเม้นต์บอกจ๊อดด้วยนะครับ!
เรียบเรียงโดย : จ๊อด ยอดนักอ่าน
ขอบคุณแหล่งที่มา : Business Insider ผ่าน rugyim.com
โฆษณา