27 มี.ค. 2019 เวลา 11:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตรวจ Electrolytes....เกลือแร่ ตอนที่ 2
ในตอนที่2นี้ จะพูดถึง K หรือ โพแทสเซียม ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อร่างกายเช่นเดียวกับโซเดียม โดยความเข้มข้นของโพแทสเซียมจะกลับกันกับโซเดียม ถ้าในน้ำเลือด(นอกเซลล์)มีความเข้มข้นของโซเดียมสูง โพแทสเซียมก็จะมีความเข้มข้นต่ำ เพื่อรักษาสมดุลซึ่งกันและกัน
โพแทสเซียมที่มีความเข้มข้นสูงสุดจะอยู่ภายในเซลล์ทุกเซลล์ (ประมาณ 150 mEq/L) ส่วนภายนอกเซลล์นั้นจะมีโพแทสเซียมเพียงประมาณ 4 mEq/L ความแตกต่างของความเข้มข้นภายในเซลล์และนอกเซลล์นี้ โพแทสเซียม จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับผนังเซลล์ ดังนี้
ส่งผ่านสารอาหารเข้าสู่ภายในเซลล์,
การชักนำเอาของเสียออกทิ้งภายนอกเซลล์
และการส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ประสาท เพื่อให้เกิดการตอบสนอง
ดังนั้น โพแทสเซียมจึงเป็นธาตุที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อตลอดทั่วทั้งร่างกาย
หากค่าโพแทสเซียมภายในและนอกเซลล์ ไม่สมดุลกัน อาจส่งผลกระทบของร่างกายได้
▶️ค่าปกติของ K
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ คือ K : 3.5 - 5.0 mEq/L
ค่าวิกฤติ คือ K : < 2.5 หรือ > 6.5 mEq/L
▶️ค่า K ที่ต่ำกว่าปกติ (Hypokalemia)
-อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีโพแทสเซียมน้อยเกินไป
-อาจเกิดจากการกินยาบางประเภทที่มีผลต่อการขับทิ้งโพแทสเซียมออกไปนอกร่างกาย
-ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดอินซูลิน ผลจากการใช้อินซูลินให้พากลูโคสเข้าสู่ภายในเซลล์ มันจะพาโพแทสเซียมเข้าสู่ภายในเซลล์พร้อมกันไปด้วย ด้วยเหตุนี้ โพแทสเซียมในเลือดที่อยู่นอกเซลล์จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่าระดับปกติได้
-ในผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีอาจเกิดจากสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำงานเกิน (Hyperaldosteronism) ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ตามปกติจะมีหน้าที่ไปบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมก่อนที่จะปล่อยทิ้งไปกับปัสสาวะ เมื่อมันทำงานมากเกินปกติ มันจะไปบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนมาให้ร่างกายมากเกินไปจนทำห้โซเดียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปกติ จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้โพแทสเซียมต่ำลง
-ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน (Ascites) ซึ่งจะทำให้ของเหลวในช่องท้องไปกดทับหลอดเลือดแดงจนอาจทำให้เลือดไหลไปสู่ไตไม่สะดวก หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดไตตีบเอง ทำให้ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ออกมาทำหน้าที่บังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมมากกว่าปกติ และเมื่อโซเดียมสูงขึ้น โพแทสเซียมก็จะต่ำลง
▶️ค่า K ที่สูงกว่าปกติ (Hyperkalemia)
-อาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือฟกช้ำต่อเนื้อเยื่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อเซลล์ จนอาจทำให้โพแทสเซียมที่มีอยู่อย่างเข้มข้นภายในเซลล์หลุดออกมาสู่กระแสเลือด จึงทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น
-อาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) จึงทำให้โพแทสเซียมหลุดลอดออกมาสู่กระแสเลือด ค่าโพแทสเซียมในเลือดจึงสูงขึ้น
-อาจมีโรคเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำงานต่ำเกินไป (Hypoaldosteronism) ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนตัวนี้น้อยและส่งผลให้ไตดูดกลับโซเดียมได้ไม่เต็มที่ ทำให้โซเดียมถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะอย่างไร้การควบคุม เป็นเหตุทำให้โซเดียมในเลือดมีระดับลดลง เมื่อโซเดียมลดลงมากเท่าใด โพแทสเซียมก็จะสูงขึ้นมากเท่านั้น
-อาจเกิดจากสภาวะไตวายอย่างเฉียบพลันเรื้อรัง จึงทำให้ลดหรือหมดความสามารถในการขับทิ้งโพแทสเซียม
อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด แล้วยานั้นกลับมีพิษหรือมีผลข้างเคียงที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น
ฝากติดตามเพจ กดไลค์ เพื่อเป็นกำลังใจในการนำเสนอข้อมูลดีและเป็นประโยชน์ให้ด้วยนะคะ ❤️💓💕💖💟
#หมอแล็บเล่าเรื่อง
โฆษณา