4 เม.ย. 2019 เวลา 11:12 • การศึกษา
จุดจบของมนุษยชาติ ใกล้เข้ามาทุกที
พบพลาสติกในแอมฟิพอดที่ก้นมหาสมุทร
แอมฟิพอด( amphipod)
งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่ากว่า 80% ของตัวแอมฟิพอด (amphipod) หรือตัวดีดทรายซึ่งหากินอยู่ที่ก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุด 6 แห่งหลงกินเส้นใยและชิ้นส่วนพลาสติกเป็นอาหาร ส่วนใหญ่คือเส้นใยสิ่งทอที่หลุดรอดออกมาจากเครื่องซักผ้า 😓😓
ความสำคัญของตัวแอมฟิพอดอยู่ที่ว่าพวกมันเป็นอาหารสำคัญของปลาและสัตว์น้ำหลายต่อหลายชนิดในทะเล จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดการส่งต่อพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารกลับมายังมนุษย์
.
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในอังกฤษตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าวในวารสาร Royal Society Open Science ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่น่าแปลกใจคือยิ่งลึกก็ยิ่งพบเส้นใยพลาสติกเป็นจำนวนมาก เช่นที่ร่องลึกก้นสมุทร Mariana Trench ซึ่งอยู่ลึกกว่า 11 กิโลเมตรทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกพบการปนเปื้อนของเส้นใยพลาสติกในแอมฟิพอดทุกตัวที่เก็บตัวอย่าง เรียกว่าปนเปื้อนแบบ 100%
การศึกษาครั้งนี้เก็บตัวอย่างในพื้นที่นอกชายฝั่งของญี่ปุ่น เปรู และชิลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร จึงเป็นตัวแทนของพื้นที่ขนาดใหญ่มาก
.
"มันเป็นหลักฐานว่าไม่มีที่ไหนที่ปลอดจากพลาสติกอีกแล้ว แต่ปัญหาคือเมื่อพลาสติกไปสะสมส่วนที่ลึกสุดของมหาสมุทร ขยะพวกนี้ไปต่อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว" Alan Jamieson นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลกล่าว
.
ที่น่าสนใจคือ 66% ของพลาสติกที่พบในแอมฟิพอดคือเส้นใยสีฟ้า ที่เหลือมีสีแตกต่างกันไปตั้งแต่ ดำ แดง ม่วง น้ำเงิน ชมพู แต่ไม่มีก้นสมุทรไหนเลยที่ปราศจากเส้นใยพลาสติก กว่า 80% ของตัวแอมฟิพอดมีเส้นใยพลาสติกในทางเดินอาหาร
ทีมนักวิจัยตรวจสอบแล้วพบว่าเส้นใยเหล่านี้เป็นเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และคิดว่าน่าจะหลุดรอดออกมาจากเครื่องซักผ้า
.
“แอมฟิพอดหลงกินเส้นใยเหล่านี้เพราะมันมีขนาดใกล้เคียงกับแพลงตอนพืชที่เป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำที่กินแอมฟิพอดเป็นอาหารจึงส่งต่อไมโครพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เราเริ่มพบว่าวาฬที่เข้ามาเกยตื้นบางตัวมีชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆเหล่านี้เคลือบอยู่ในลำไส้"​ Susanne Brandon นักพิษวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Oregon State อธิบายบทบาทของแอมฟิพอด
.
ปัจจุบันมีการประมาณว่ามีพลาสติกราว 51 ล้านล้านชิ้นในมหาสมุทร พลาสติกส่วนใหญ่ (90%) คือไมโครพลาสติกชิ้นเล็กๆ
พลาสติกกลายเป็นรอยเท้าคาร์บอนที่ชัดเจนที่สุดในยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene) จริงๆ
#พลาสติก #แอมฟิพอด #Amphipod #Goodful
โฆษณา