6 เม.ย. 2019 เวลา 00:16 • ประวัติศาสตร์
"๖ ลำดับเหตุการณ์สงครามสำคัญในสมัยอยุธยา"
อยุธยาตอนต้น (1898 - 1991) (ตอนที่๑)
1
- ขอมสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ขอมเสด็จสวรรคต พระราชโอรสนาม พระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ขอมไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีบัญชาให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ทรงยกทัพไปช่วย จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง ปาสัต พระราชโอรสของพระบรมลำพงศ์เป็นกษัตริย์ขอม
- สงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1933 สมเด็จพระราเมศวรทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ได้ขอสงบศึกโดยขอเวลา 7 วันแล้วจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อเจริญพระราชไมตรี ในการนี้มุขมนตรีนายทัพนายกองได้ปรึกษาหารือว่า อาจจะเป็นกลอุบายของพระเจ้าเชียงใหม่เพื่อจะได้เตรียมการรับมือกองทัพของกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ตรัสว่าเมื่อเขาไม่รบแล้วเราจะรบนั้นดูมิบังควรและถึงแม้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่รักษาสัตย์ก็ใช่ว่าจะสามารถรอดพ้นจากทหารของกรุงศรีอยุธยาไปได้ เมื่อผ่านไป 7 วัน พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้านไม่ได้จึงหนีออกไป แต่สามารถจับนักสร้างพระโอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ พระองค์ทรงพระกรุณาให้นักสร้างขึ้นครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ และได้กวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้โดยให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบูร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา ทำให้ชาวเหนือและชาวใต้มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกัน
- สงครามเมืองกัมพูชาธิบดี หลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรเสด็จกลับจากการทำศึก ณ เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้ทรงทำศึกกับเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง เนื่องจากพระยากัมพูชาได้ยกทัพมายังเมืองชลบุรีและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบูรและเมืองชลบุรีไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีประมาณ 6,000 - 7,000 คน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงยกกองทัพไปยังเมืองกัมพูชาธิบดีอีกครั้ง โดยโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองพระนครได้แล้ว พระยากัมพูชาได้ลงเรือหลบหนีไป แต่สามารถจับพระยาอุปราชพระราชโอรสของพระยากัมพูชาได้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยณรงค์อยู่รั้งเมืองกัมพูชาธิบดีพร้อมกำลังพล 5,000 คน ต่อมา ญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา
- สงครามเมืองชากังราว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองชากังราวถึง 4 ครั้ง เนื่องจากเมืองชากังราวเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย โดยครั้งแรกนั้นทรงยกกองทัพไปเมืองปี พ.ศ. 1916 พระยาไสแก้วและพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกรบต่อพระองค์ การศึกในครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระยาไสแก้วเสียชีวิตแต่พระยาคำแหงนั้นสามารถกลับเข้าเมืองได้ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองชากังราวครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 1919 พระยาคำแหงและท้าวผ่าคองคิดกันว่าจะยอทัพหลวงทำมิได้ ครั้งนั้นท้าวผ่าคองเลิกทัพหนีแต่พระองค์ทรงยกทัพตามและสามารถตีทัพท้าวผ่าคองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นเป็นจำนวนมากแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพมาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 1921 ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชา (ที่ 2) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงออกรบเป็นสามารถ แต่เห็นจะสู้ทัพจากกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว ดังนั้น พระมหาธรรมราชาจึงออกมาถวายบังคม พระองค์ทรงให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองต่อไปในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร พระองค์ยกทัพไปเมืองชากังราวอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 1931 แต่ไม่ปรากฏว่าทรงยกทัพไปด้วยสาเหตุอันใด ครั้งนั้นทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
- ขอมสมัยเจ้าสามพระยา' เมื่อ พ.ศ. 1974 พระเจ้าธรรมาโศก กษัตริย์อาณาจักรเขมร ได้ยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้ตามหัวเมืองชายแดนของกรุงศรีอยุธยาไป ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง(นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1975พระองค์ตั้งทัพล้อมเมืองพระนครหลวงอยู่ 7 เดือน ก็สามารถตีเอาเมืองพระนครหลวงได้ ครั้งนั้นพระองค์ทรงให้พระอินทราชา พระโอรสปกครองเมืองนครหลวงในฐานะเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา แล้วให้นำ พระยาแก้ว พระยาไทย และรูปภาพ (เทวรูป สมบัติศิลปะของขอม) ทั้งปวงพร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คนและสิ่งของสำคัญๆ มายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา พระอินทราชานั้นครองราชย์เมืองพระนครไม่นานก็สิ้นพระชนม์ เนื่องจากทนภาวะอากาศไม่ได้ กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นไปดูแลแทน จึงทำให้ชาวเขมรนั้นไม่อาจกลับมายังที่เมืองพระนครได้ ปล่อยให้เมืองร้างลง ภายหลังเมื่อเขมรมีอำนาจคืนได้จึงมีการย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองพนมเปญทำให้เมืองพระนครล่มสลายในที่สุด
- การศึกกับล้านนา (สมัยเจ้าสามพระยา) ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไปอยู่เมืองเทิง(อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอิก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร
"ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับ ขอบคุณสำหรับทุกการติดตามอ่านมากๆนะครับ 😄🙏"
ที่มา, ภาพ : https://sites.google.com/site/araya14282
เรียบเรียง/นำเสนอ : "สาระหลากด้าน"
โฆษณา