7 เม.ย. 2019 เวลา 06:58 • ธุรกิจ
ความชำนาญ = การเผชิญความเสี่ยง
“ความเสี่ยง” คำๆนี้ส่วนมากเราจะได้ยินเกี่ยวกับในแง่ของการลงทุน การเล่นหุ้น มักจะเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ เป็นคำที่สื่ออารมณ์ออกมาในแง่ลบ
บทความนี้จะอธิบายถึงความเสี่ยงในแง่ของการทำธุรกิจ การทำธุรกิจนั้นไม่ต่างอะไรกับการลงทุน ผิดพลาดขี้นมาก็มีแต่ผลเสีย สูญเสียเงินทอง ทรัพย์สินที่ครอบครอง และทุกอาชีพนั้นสามารถเกิดความเสี่ยงได้ไม่ว่าจะทำอาชีพแบบใด ตั้งแต่ยามเฝ้าประตูไปจนถึงเจ้าของสายการบิน ขึ้นอยู่กับว่าจะพบเจอความเสี่ยงในรูปแบบไหน
แล้วอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีความเสี่ยง?
คำตอบคือ ไม่มี! ครับ ชีวิตคุณมีความเสี่ยงหรือไม่? เสี่ยงที่จะตายได้ทุกวินาทีใช่หรือไม่? เมื่อคุณออกไปนอกบ้านคุณเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุใช่หรือไม่? อันนี้ออกแนวชีวิตเกินไป แต่ถ้ากล่าวในแง่ธุรกิจ หรือเรื่องเงินตรา หลายคนบอกว่าการลงทุนที่ไม่เสี่ยงคือการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซื้อสลากออมสิน ถูกครับมันไม่เสี่ยง แต่นั่นมันเรียกว่าการออม ไม่ใช่การลงทุน โปรดจงเข้าใจ
จะเสี่ยงเพื่ออะไร?
เป็นคำถามสุดคลาสสิค ของคนติด Comfort Zone หลายคนคงนึกกระหยิ่มในใจว่าตนเองเงินเดือนสูง ผมก็ดีใจด้วยครับ แต่ความจริงคือ เมื่อไหร่คุณไม่สามารถทำงานให้กับบริษัทนั้นได้ สิ่งที่คุณจะได้รับคือ "หาคนใหม่มาแทนไอ้หมอนี่ที" ส่วนคุณก็กินเงินประกันสังคมหรือกองทุน ที่บางทีคุณคงไม่อยากได้มันตอนที่คุณไม่มีเรี่ยวแรงหรือเวลาพอที่จะใช้เงินส่วนนั้น เหตุผลที่คุณต้องเสี่ยงคือ เหตุผลเดียวกับที่คุณต้องการออกจาก Comfort Zone นั่นแหละครับ เมื่อไหร่ที่คุณไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำหรือเริ่มเห็นความไม่มั่นคงในงานตนเองเมื่อนั้นคุณจะ มองหาสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่คุณต้องการ
หลายๆคนก็เข้าใจในชีวิตตนเองนะครับ รู้แหละว่าตนเองอยากประสบความสำเร็จและมีเงินมากกว่านี้ อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ซึ่งจริงๆความรวยไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอย่างที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนมาตลอดว่าคนรวยเป็นคนเอาเปรียบคนอื่น เป็นคนแย่ฯ และก็ไม่ใช่เรื่องที่คนจนจะฝันถึงไม่ได้ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันซะทีเพราะกลัวเรื่อง ความเสี่ยงทั้งๆที่ตัวเองแทบไม่เคยเสี่ยงซักครั้ง
คนรวยมักคิดว่าเราจะจัดการความเสี่ยงนี้อย่างไร เพราะเขาเข้าใจว่าในโลกนี้ทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยงตั้งแต่ขายขนมครกยันผลิตสินค้าระดับโลก แต่คนจนมักคิดเสมอว่าเราจะมีทางไหนที่เราจะไม่ต้องเสี่ยง(แล้วรวยด้วย) ผลลัพธ์คือโลภและจนลงอย่างรวดเร็ว เพราะหวังพึ่งโชค ซื้อหวย และสุดท้ายก็ถูกหลอกจากคนที่หวังผลประโยชน์จากความโลภของคุณที่รอโซ๊ยคุณมากกว่าครึ่งโลก
ความเสี่ยงก็คือปัญหาใช่หรือไม่?
ให้ตีความตรงๆคงไม่ถูกต้อง ลองดูตัวอย่างสักอาชีพหนึ่ง..สมมติว่าเป็นอาชีพวิศวะกร การที่วิศวะกรหนึ่งคนจะรับงานได้นั้นจะต้องมีความเข้าใจ และชำนาญในการควบคุมการก่อสร้างอาคารนั้นๆ คงไม่มีวิศวะกรจบใหม่คนไหนที่กล้าควบคุมการก่อสร้าง ทั้งๆที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ เพราะเค้ารู้ว่ามัน”เสี่ยง” และไม่สามารถรับผิดชอบผลเสียที่ตามมาได้
ช่างซ่อมต่างๆ ถ้าไม่มีความชำนาญ หาสาเหตุของอาการเสียต่างๆไม่ออก ดันทุรัง ทู่ซี้ซ่อมไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ผลเสียที่ตามมาเป็นอย่างไร คงเดาได้ไม่ยาก..อย่างนี้เรียกว่าเสี่ยงไหม?
เมื่อบุคคลได้ทำสิ่งๆหนึ่งซ้ำๆจนเกิดความชำนาญ เขาย่อมที่จะกล้าเผชิญปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ความผิดพลาดก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ “ความเสี่ยง”ก็จะน้อยลงเป็นเงาตามตัว....เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะความเสี่ยงส่วนมาก มักมีไม่กี่ประเภท สามารถคาดเดาได้ เคยเกิดขึ้นแล้วและมักจะเกิดซ้ำขึ้นได้อีก เป็นloopวนอยู่เรื่อยๆในลักษณะงานๆหนึ่ง
ในแง่ธุรกิจการบริหารความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดจึงมีความสำคัญ ไม่ใช่มุทะลุนะครับแต่เขากำหนดความเสี่ยงที่เขารับได้ไว้ และ Cut Lost (ยืมศัพท์หุ้นมาใช้หน่อย) เพื่อไม่ให้กระทบถึงขั้นล้มละลาย คือศึกษาทางหนีทีไล่ไว้แล้ว
ดังนั้นการนักลงลงทุนจะมาวัดกันที่ใครรับและจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่ากัน
เสี่ยงมาก = ผลลัพธ์มาก
เสี่ยงน้อย = ผลลัพธ์น้อย
ไม่เสี่ยง = รอขึ้นเขียง
ความเสี่ยงจึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องวัด ความชำนาญของบุคคล ต่ออาชีพหรืองานที่ทำอยู่ เมื่อชำนาญมากความเสี่ยงยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
บทความนี้จึงอยากสนับสนุนให้ทุกๆท่านที่ได้อ่านบทความนี้ ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยลอง ลองให้เกิดความผิดพลาดบ้างในระดับที่ตัวเองยอมรับได้ ลองทำผิดลองล้มเหลวบ้างดูสักครั้ง แล้วมองมันในแง่ดี มองในมุมที่ให้กำลังใจตนเอง และอย่าไปทำซ้ำวิธีการและแนวคิดเดิมๆที่เคยเจ๊งมาแล้ว พร้อมกับเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนเอง และให้ดีคือเรียนรู้ข้อผิดพลาดของคนอื่นด้วยเป็นวิธีที่ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูกเองทั้งหมด
สุดท้ายนี้ ผมมีข้อคิดเล็กน้อยอยากจะฝากไว้ “โทมัส อัลวา เอดิสัน กว่าจะค้นพบวิธีผลิตหลอดไฟขึ้นมา เค้าลองผิดลองถูกถึง 2 พันครั้ง เขาล้มเหลวหรือ? ไม่หรอกครับ เขาบอกว่า อย่างน้อยก็ยังได้ทราบวิธีที่จะทำให้หลอดไฟไม่สว่างถึง 1999 วิธี” เห็นไหมครับ เมื่อชำนาญแล้ว ความเสี่ยงก็จะน้อยลง จนเราประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
Cr.ทัตเทพ เขียวสำราจ
ความกลัวมันตัวใหญ่เมื่ออยู่ในความคิด แต่ความกลัวจะตัวนิดหากลงมือทำ
โฆษณา