7 เม.ย. 2019 เวลา 00:55 • สุขภาพ
ผิวหนังอักเสบ เรื่องเล็กๆที่ไม่เล็ก #2
“โรคมือแม่บ้าน”
Cr. Fitzpatrick
คราวที่แล้วหมอเอยได้พูดถึงระยะของโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ไปนะคะ ว่าเริ่มต้นในระยะเฉียบพลันเป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่รักษาก็จะกลายเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังได้
วันนี้หมอเอยจะมาพูดถึงสาเหตุของผิวหนังอักเสบที่ทำให้คนไข้มาหาหมอได้บ่อยๆ บอกเลยว่าใกล้ตัวมากๆค่ะ
เหล่าสมาคมพ่อบ้านแม่บ้านควรอ่านนะคะ
ผิวหนังอักเสบจะแบ่งออกเป็น
1.มีสาเหตุจากสิ่งกระตุ้นภายนอกร่างกาย (Exogenous eczema) เช่นการสัมผัสสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ
2.มีสาเหตุจากสิ่งกระตุ้นภายในร่างกาย (Endogenous eczema) เช่น ผื่นภูมิแพ้
สำหรับผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุจากภายนอกร่างกาย ส่วนมากที่หมอเอยเคยเจอจะเป็นเรื่องของ ผื่นสัมผัส หรือ contact dermatitis ค่ะ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการอักเสบของผิวหนัง ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารบางชนิดค่ะ
เจ้าผื่นสัมผัสเนี่ย อาจจะเป็นการระคาย (Irritant contact dermatitis) หรือเป็นการแพ้ (Allergic contact dermatitis) ก็ได้ค่ะ
ถามว่าต่างกันอย่างไร เจ้าผื่นระคายสัมผัสหรือ Irritant เนี่ย ไม่ต้องอาศัยปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันหรืออิมมูนของเราค่ะ
ให้หมอเอยอธิบายง่ายๆคือ ใครโดน ใครสัมผัส ก็เป็นกันหมดค่ะ โดน100คนก็เป็นกัน100คน
แล้วตัวผื่นก็จะเป็นแค่บริเวณที่โดนสารค่ะ เช่น โรคมือแม่บ้าน สัมผัสกับผงซักฟอก น้ำยาต่างๆ สัมผัสนานๆ ก็จะเป็นผื่นแห้งๆลอกๆแค่ที่มือใช่ไหมคะ
Cr. mmgderm.com
แล้วส่วนมากผื่นระคาย โดนสารแล้วก็จะเป็นเลยค่ะ ไม่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ผ่านภูมิคุ้มกัน
ระยะเวลาที่ผื่นจะขึ้นขึ้นอยู่กับความแรงของสารนั้นค่ะ ถ้าเป็นสารเคมีแรงๆ พิษจากแมงกระรุนอาจจะเป็นเลย
ถ้าเป็นผงซักฟอก น้ำยาที่ไม่รุนแรงมาก อาจจะต้องอาศัยการสะสมนานๆค่ะ
ส่วนผื่นแพ้สัมผัส หรือ Allergic contact dermatitis ต้องอาศัยปฏิกิริยาที่ผ่านภูมิคุ้มกันหรืออิมมูนค่ะ ซึ่งภูมิคุ้มกันของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ
ดังนั้น บางคนแพ้ บางคนไม่แพ้ แล้วแต่คนค่ะ เช่นบางคนอาจจะแพ้ต่างหูโลหะนิกเกิล ในขณะที่บางคนไม่แพ้ค่ะ
Cr. DermNetNZ
และเนื่องจากผื่นแพ้สัมผัสต้องผ่านระบบภูมิคุ้มกัน จึงต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อยหลักสัปดาห์ถึง1เดือน ใส่ตุ้มหูวันแรกผื่นอาจจะยังไม่ขึ้น แต่ขึ้น1เดือนถัดมาก็ได้ค่ะ
และต้องให้ร่างกายเรารู้จักสารตัวนั้นก่อนด้วย ดังนั้น การสัมผัสสารในครั้งแรกๆอาจจะยังไม่เกิดอาการก็ได้ค่ะ
และจากระบบภูมิคุ้มกันเราที่สามารถไปที่ไหนของร่างกายก็ได้ ดังนั้น ต่อให้เราแพ้ตุ้มหู แพ้เข็มขัด แต่ผื่นอาจจะไปขึ้นที่บริเวณอื่นๆของร่างกายได้ด้วยนะคะ
สำหรับวันนี้หมอเอยจะเจาะไปที่เรื่องของ “โรคมือแม่บ้าน”
ซึ่งคนต่างประเทศก็เป็นกันเยอะมากเช่นกัน เลยมีชื่อภาษาอังกฤษเก๋ๆว่า “Housewife’s hand dermatitis” นั่นเองค่ะ
นอกจากจะพบเจอในสมาคมแม่บ้าน เหล่าพ่อบ้านใจกล้าแล้วนั้น ก็ยังเจอในบุคคลอาชีพที่ต้องสัมผัสสารซ้ำๆได้ค่ะ เช่นคนที่ทำงานด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น
อาการจะเกิดจากการสัมผัสกับสารที่ระคายเคืองน้อย แต่สะสมกันเป็นเวลานาน (Cumulative irritant contact dermatitis)
เช่นการสัมผัสน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่ ผงซักฟอก ตัวทำละลายทางอุตสาหกรรม (Solvents) น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่น ฝุ่นละออง
Cr. Sanook
หรืออาจเกิดจากอาหารบางชนิด เช่น ส้ม มะนาว หัวหอม พริก กระเทียมก็ได้ค่ะ แสดงว่าโรคนี้อาจจะเจอในแม่ค้าส้มตำก็ได้นะคะเนี่ย พูดแล้วหมอเอยก็อยากกินอะไรแซ่บๆ
Cr. Bloggang
และเชื่อไหมคะ ว่าแม้แต่น้ำเปล่า ก็ยังทำให้เกิดการระคายเคืองได้ บางคนล้างมือบ่อยๆเกินอาจจะแห้งและระคายก็ได้ค่ะ
หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นกันเยอะเลยค่ะ เพราะต้องล้างมือแทบทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย
Cr. State Farm
หรือหากที่เท้าเราอับชื้น ต้องแช่น้ำนานๆ เดินลุยน้ำท่วม จะเกิดผื่นแพ้สัมผัสที่เท้าได้เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “น้ำกัดเท้า” นั่นเองค่ะ เจอได้บ่อยๆในชาวนา ชาวสวนค่ะ
Cr. กรมควบคุมโคค
อาการของโรคนี้ก็คือ จะมีอาการคัน ผิวหนังจะแห้ง แดง เป็นขุย ผิวหนังหนาขึ้น มีรอยปริแตกไดัค่ะ ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหรือเลือดออกได้
Cr. Clinicalgate
การวินิจฉัยโรคก็อาศัยประวัติการสัมผัสและการตรวจร่างกายดูลักษณะของผื่นค่ะ บางครั้งอาจจะต้องแยกจากการแพ้หรือ Allergic contact dermatitis ที่หมอเอยกล่าวไปข้างต้น โดยการทำPatch test ซึ่งหมอเอยจะมาเล่าในตอนหน้าๆนะคะ
สำหรับการรักษา ถ้ามีการอักเสบรุนแรงก็จะใช้เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดทาตามที่หมอเอยได้พูดไปในตอนที่แล้วค่ะ
และที่สำคัญเลยคือ ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่ทำให้ระคายเคืองนั่นเองค่ะ จะได้หายไวๆ
หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เช่น ใส่ถุงมือ โดยควรเลือกถุงมือพลาสติก ไวนิล หรือ PVC จะเหมาะสมกว่าถุงมือยางลาเทกซ์ เพราะบางคนก็อาจจะแพ้ยางได้ด้วยค่ะ
และสำหรับวิธีของหมอเอยที่ต้องล้างมือบ่อย คือการให้ความชุ่มชื้นกับมืออยู่เสมอๆค่ะ แนะนำเลยว่าให้พก Hand cream แต่ก็ต้องระวังสำหรับคนที่แพ้น้ำหอมหรือแอลกอฮอล์ด้วยนะคะ
Cr. indian beauty
จบแล้วค่ะสำหรับตอนนี้ ไว้คราวหน้าหมอเอยจะมาพูดถึงผื่นแพ้และการทำpatch test ต่อ
หรือใครอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษสามารถเม้นไว้ได้เลยนะคะ
แล้วเจอกันใหม่ค่ะ😘
1
โฆษณา