9 เม.ย. 2019 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์
แม่ค้าศักดินา การทำการค้าของเจ้านายสตรี
อาชีพค้าขาย คืออาชีพที่สร้างความร่ำรวยและเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก
แต่สำหรับเจ้านาย โดยเฉพาะเจ้านายสตรีในยุคโบราณล่ะ? ท่านทรงทำการค้าขายอย่างไรและมีบทบาทในทางการค้าอย่างไรบ้าง
ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ
ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 นั้น เจ้านายสตรีตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะได้รับเงินพระราชทานเป็นรายปีหรือเรียกว่าเงินปี
แต่การจะอาศัยพึ่งแต่เงินปีอย่างเดียวก็คงจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายครับ เนื่องจากเจ้านายแต่ละองค์นั้น ก็ล้วนแต่มีบริวาร ผู้ติดตามจำนวนมาก และต่างก็ต้องกินต้องใช้
ดังนั้นเจ้านายแต่ละองค์จึงต้องหารายได้ทางอื่นด้วย เช่นดอกเบี้ยค่าเช่าที่ดินซึ่งเป็นมรดกจากราชสกุล
แต่ก็ใช่ว่าเจ้านายจะร่ำรวย มีที่ดินมหาศาลทุกองค์นะครับ หลายๆ องค์ก็ไม่ได้มั่งมีและไม่ได้ประกอบอาชีพรับราชการ แต่จะทำอะไรก็ทำได้ยากครับ ต้องรักษาหน้า รักษาเกียรติของราชสกุล ซึ่งการค้านั้น ก็เป็นอาชีพที่ถูกดูถูกดูแคลนในสมัยนั้น
แต่ที่จริงแล้ว การค้าของเจ้านายสตรีนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วครับ เพียงแต่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เช่น สำนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงตั้งกิจการโรงไหมและโรงเย็บ เปิดรับจ้างเย็บผ้าให้กับเจ้านายฝ่ายใน ส่วนสำนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีทรงรับสินค้าต่างๆ จากห้างเคี่ยมฮั่วเฮงมาขาย
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ต่อมา ภายหลังจากที่ยกเลิกตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เจ้านายสายวังหน้า ซึ่งแต่เดิมนั้นรุ่งเรือง ต่างก็ต้องประสบปัญหาการเงิน โดยเฉพาะเจ้านายสตรี ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่าเจ้านายที่เป็นชาย ต่างก็ต้องดิ้นรน หาทางทำเงินเพื่อมาใช้จ่าย
เจ้านายสตรีสายวังหน้าหลายองค์นั้น ต่างเลี้ยงชีพด้วยการทำอาหารและทำขนมขาย
ดังนั้นหากบอกว่าแม่ค้าศักดินา มีจุดเริ่มต้นมาจากเจ้านายสตรีสายวังหน้า ก็อาจจะไม่ผิดนัก
นอกจากการค้าขายแล้ว หม่อมเจ้าหญิงหลายองค์ ต่างก็ประกอบอาชีพเป็นครู เป็นนางพยาบาล หรือแม้แต่เลขานุการ
ต่อมา ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อำนาจของพระราชวงศ์นั้นลดลงอย่างมาก เงินปีเลี้ยงชีพของพระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ถูกลด ทำให้เจ้านายหลายพระองค์ต้องปรับตัว ดิ้นรนมากขึ้น และแน่นอนครับ หลายพระองค์ก็ทรงเลือกที่จะเป็นแม่ค้าศักดินา และส่วนมาก ก็คือการค้าขายอาหารหรือขนม
หม่อมเจ้าหญิงเราหินาวดี ดิศกุล ทรงมีชื่อเสียงจากการทำขนมเค้ก และขนมเค้กของท่านหญิง ก็เป็นที่รู้จักของชาวกรุงในนามของ “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า”
หม่อมเจ้าหญิงเราหินาวดี ดิศกุล ขณะทรงงานในโรงขนม
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ก็ทรงดำเนินกิจการที่วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี รวมถึงพัฒนาการทอเสื่อ และผลิตภัณฑ์จากเสื่อ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “เสื่อสมเด็จ”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกับเสื่อสมเด็จ
การที่เจ้านายสตรีหลายพระองค์ ออกมาทำการค้านั้น ทำให้เป็นการเปิดกว้าง มุมมองที่มีต่อการทำการค้านั้น ไม่ใช่เรื่องที่เสียเกียรติอีกต่อไป
ปัจจุบันเชื้อพระวงศ์รุ่นใหม่ก็หันมาเป็น “แม่ค้าศักดินา” กันมากมาย เช่น คุณหญิงแมงมุม ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Mangmoom, ร้านอาหารไก่ย่างเสือใหญ่ by MANGMOOM รวมทั้งยังดำเนินรอยตามพระบิดา (ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) เปิดบริษัทศรีคำรุ้ง โปรดักชั่น ผลิตงานบันเทิง หรือ “พ่อค้าศักดินา” คุณก้อง ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ผู้ผันตัวจากอาชีพรับราชการมาเป็นผู้บริหารธุรกิจรถจักรยานยนต์ “ดูคาติ”
ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล
โฆษณา