9 เม.ย. 2019 เวลา 07:35 • ธุรกิจ
อีกหนึ่งด้านของถาวเป่า (Taobao) ที่เรายังไม่รู้
คนไทยรู้กันดีว่า ถาวเป่า คือ E-Commerce รายใหญ่ในจีน สร้างโดยแจ๊ค หม่า (Jack Ma) นักธุรกิจจีนชื่อดังแห่ง Alibaba Group
คือ จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ในจีน
คือ ช่องทางที่สร้างโอกาสทางธุรกิจและช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในจีน
คือ แหล่งสินค้า ที่พ่อค้าแม่ค้าในไทยเลือกสั่งเข้ามาขายแล้วสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ทุกคนต่างรู้ว่า หากจะมองหาสินค้าจีน คุณภาพค่อนข้างดี ราคาถูก ให้ลองเสิร์ชในถาวเป่า
แต่คุณอาจไม่เคยรู้ว่า “อะไรที่ราคาแพงที่สุดในถาวเป่า?”
สำหรับคนที่มีแอพถาวเป่า China Geek ชวนเสิร์ชไปพร้อมๆ กัน
ด้วยประโยคที่ว่า “世界上最贵的东西”
หรือแปลเป็นไทยก็คือ “ของที่แพงที่สุดในโลก”
.
.
.
.
ผลค้นหาที่ออกมา ไม่ใช่รถ บ้าน หรือเครื่องเพชรราคาเฉียดล้าน
แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึก อบอุ่นหัวใจ
ซึ่งคนจีนก็รู้สึกไม่ต่างกัน
เพราะผลค้นหา คือลิสต์ของโครงการปันน้ำใจ หรือโครงการช่วยเหลือสารพัดอย่าง ทั้งจากมูลนิธิและองค์กรขนาดเล็กใหญ่
ตั้งแต่ ซื้ออาหารกลางวันให้น้อง
ช่วยเหลือผู้สูงอายุไร้คนดูแล
ช่วยเหลือผู้พิการ
ช่วยเหลือทหารสูงอายุ
สนับสนุนทุนการศึกษาเด็กที่ขาดแคลน
ไปจนถึง โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยจะบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ ตามกำลัง และความสมัครใจ
โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะแจ๊ค หม่า ต้องการสื่อว่า
ในขณะที่คุณเสียเงินมากมาย สั่งซื้อของออนไลน์ให้กับตัวเอง
“น้ำใจและความเอื้ออารี คือสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด เหนือสิ่งใดในโลก” แม้จะจ่ายด้วยเงินที่น้อยกว่าราคาสินค้าที่คุณซื้อเสียอีก
หลังจากที่มีลิสต์รายการ “ของที่แพงที่สุดในโลก” ให้ได้เลือกบริจาคในถาวเป่า คนจีนต่างโพสต์เล่าสู่กันฟังว่า
“แค่มีโอกาสได้ซื้ออาหารกลางวันให้เด็กยากไร้วันละ 4 หยวน บริจาคมานาน 1 ปี ก็รู้สึกดีกับตัวเองทุกวัน”
“ณ เวลาที่กดบริจาค แม้จะแค่หยวนเดียว วินาทีนั้นกลับทำให้รู้สึกว่า ฉันรวยที่สุด”
“นี่คือสิ่งที่ถาวเป่าทำได้ดีที่สุด ตั้งแต่เปิดแพลตฟอร์มมา 16 ปี”
และตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 ที่ผ่านมา มียอดบริจาครวมทั้งหมดกว่า 440 ล้านหยวน ถึงแม้ว่า 42% ของยอดบริจาคคือรายการละ 1 หยวน และอีก 13% คือรายการละน้อยกว่า 1 หยวน แต่เนื่องจากผู้ใช้ถาวเป่าบริจาคสม่ำเสมอด้วยความถี่สูง ยอดบริจาคจึงเพิ่มสูงมากอย่างรวดเร็ว
และจากกลุ่มผู้บริจาคทั้งหมด จำนวน 55% เป็นเด็กวัยรุ่นที่เกิดหลังปี 1990 และอีก 13% เป็นคนที่เกิดหลังปี 2000
วิธีนี้จึงสามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่วัยติดจอ ชอบช็อปออนไลน์ กลายเป็นกำลังหลักที่ช่วยดูแลสังคม
...
เราเรียนรู้อะไร หลังจากที่มองเห็นอีกด้านของถาวเป่า ?
China Geek เรียนรู้ว่า
“การพลิกมุมมองแค่นิดเดียว บวกกับเทคโนโลยีพื้นฐานที่มี
ก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม”
...
โฆษณา