14 พ.ค. 2019 เวลา 15:22 • ธุรกิจ
"สินบน" มีกี่แบบ?
ตอนที่แล้วผมเขียนเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของ การทุจริตแบบต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง
ตัวอย่างประกอบ Post อาจจะดุเดือด และดูคล้ายกับเรื่องจริง ก็รบกวนอย่ามองเป็นเรื่องการเมืองนะครับ เรื่องของพวกท่าน ๆ นั้น เป็นแค่แรงบันดาลใจในการเขียนตัวอย่างของผมเท่านั้นเอง
สำหรับ Post นี้จะกล่าวถึงรูปแบบของการทุจริตในกลุ่มของ Corruption ที่เหลืออีก 3 แบบ ซึ่งรวม ๆ แล้วจะเกี่ยวข้องกับ สิ่งที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ "สินบน" ทั้งสิ้น
คำว่า "สินบน" นี้ เคยมีคนถามผมเหมือนกันว่า เราสามารถแบ่งประเภทของการให้และรับสินบนตามลักษณะทรัพย์สินได้หรือไม่?
เช่น สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ...
คือจะมองจากมุมนักกฎหมายแบบนั้นมันก็ไม่ผิดอะไร แต่เดี๋ยวนี้โลกมันหมุนเร็วครับ พวก Cryptocurrency จากเดิมไม่ยอมรับกันว่าเป็นทรัพย์สิน แต่เดี๋ยวนี้ท่าน ๆ เค้าอาจจะจ่ายสินบนกันด้วย Bitcoin ก็ได้ เพราะตามร่องรอยยากกว่าเงินสดแน่นอน
หรือ Item ในเกม online ที่ดูแล้วอาจจะไม่มีค่าสำหรับบางคน แต่กับ Gamer ที่จริงจัง Item พวกนั้นแลกเป็นเงินได้ครับ
ยังไม่นับผลประโยชน์แบบอื่น ๆ ที่ตีมูลค่าได้ยาก หรือไม่สามารถมองว่าเป็นทรัพย์สิน เช่น ข้อมูลวงใน ตำแหน่งงาน โอกาสในการเข้าหาผู้มีอำนาจ ฯลฯ
สรุปคือ "สินบน" คงแบ่งตามลักษณะของทรัพย์สินไม่ได้ครับ
ถ้าอย่างนั้น ในวงการตรวจสอบการทุจริต เค้าแบ่งประเภทของสินบนกันอย่างไร?
ตามหลักของ ACFE เจ้าเก่านั้น การให้และรับ "สินบน" หรือ Bribery เป็น 1 ใน 4 รูปแบบของการทุจริตในกลุ่ม Corruption เช่นเดียวกับ "ผลประโยชน์ทับซ้อน" โดย ACFE ไม่ได้จำกัดว่าสินบนจะต้องเป็นทรัพย์สินเท่านั้น แต่หมายรวมถึง "ผลประโยชน์" ในลักษณะใดก็ได้ ที่ให้และรับกันโดยทุจริต
นอกจากนี้ ACFE ยังระบุถึงการให้และรับผลประโยชน์อันเป็นการทุจริตอีกสองประเภทนอกเหนือจากสินบน ได้แก่ "การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ" และ "การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ" ด้วย
ดูชื่อแล้วอาจจะงง เรามาดูความหมาย และตัวอย่างกันดีกว่า
แบบที่ 1 สินบน คือ "ผลประโยชน์" ใด ๆ ที่ให้หรือเสนอว่าจะให้ และรับหรือตอบสนองว่าจะรับ เพื่อเป็นการจูงใจ ให้กระทำการ หรือไม่กระทำใด ๆ
แบบที่ 2 การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ (Illegal gratuities) มีความคล้ายคลึงกับสินบน แต่ต่างกันตรงที่เป็นการให้ผลประโยชน์เพื่อตอบแทนการกระทำ หรือการไม่กระทำใด ๆ
หรือที่บางคนใช้คำสวย ๆ ว่าเป็น "สินน้ำใจ" นั่นแหละครับ
สุดท้าย แบบที่ 3 การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ (Economic extortion) จะเป็นกรณีที่คนให้นั้น เดิมทีก็ไม่ได้อยากจะให้หรอก แต่ผู้มีอำนาจเรียกรับ หรือขู่ว่าถ้าไม่ให้ก็จะเกิดผลเสียหาย ซึ่งถ้าคนถูกเรียก ถูกขู่ไม่ "ตามน้ำ" ก็คงจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของท่านเหล่านั้นสักเท่าไหร่
มาดูตัวอย่างที่น่าจะพบได้ในชีวิตจริงของชาวสารขัณฑ์กันดีกว่าครับ
1. สินบน ... นายต้อมเป็นผู้บริหารคนหนึ่งในตลาดไธย พ่อค้าที่อยากเข้ามาเปิดแผงขายของในตลาด จึงซื้อนาฬิกาหรูให้นายต้อม และขอให้นายต้อมช่วยเหลือ หาแผงในทำเลดี ๆ ให้ ซึ่งนายต้อมก็ช่วยเหลือเต็มที่
2. การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ ... นายต้อมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เป็นพ่อค้าขายข้าวระดับ "เจ้าสัว" วันหนึ่งแผงขายข้าวสารในตลาดว่างลง แทนที่นายต้อมจะประกาศหาผู้เช่าแผงรายใหม่ กลับจับจองไว้ให้เจ้าสัวเพื่อนของตนเองมาเปิดแผงขายข้าว และด้วยความที่รู้ใจเพื่อนต้อมดี เจ้าสัวจึงซื้อนาฬิกาหรูให้นายต้อมเป็น "สินน้ำใจ" ตอบแทน
3. การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ ... นายต้อมคนเดิม พอเสพนาฬิกาหรูมาก ๆ เข้าก็เริ่มติดใจ เดี๋ยวนี้เวลาพ่อค้าแม่ค้ารายไหนจะมาติดต่อของเช่าแผง นายต้อมจะเรียกร้องขอนาฬิกาหรูตลอด จนเป็นที่รู้กันว่าหากใครจะเข้ามาขายที่ตลาดไธยนี่ ต้องมีนาฬิกาหรูมาเซ่นนายต้อม บางคนถึงกับกู้หนี้ยืมสินมาผ่อนนาฬิกาให้
จากตัวอย่างของการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับสินบนทั้ง 3 ลักษณะ ยังมีความจริงอีกอย่างคือ เมื่อการให้และรับสินบนหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ เกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดแนวโน้มที่เรื่องทำนองนี้ จะกลายเป็นเรื่องปกติของทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ ...
"... พอดีผมเห็นว่าพี่ชอบนาฬิกาแนวนี้เลยยืมเพื่อนมาให้ลองใส่ ฝากพี่ดูงานนั้นให้ผมด้วยนะครับ ... "
"... ผมได้ยินมาว่าพี่อยากเปลี่ยนนาฬิกา วันนี้ผ่านมาทางนี้พอดี ก็เลยอยากจะมาแวะขอบคุณเรื่องโครงการนั้นด้วยครับ ... "
"... ทีแรกผมก็ไม่ได้อยากจะให้นะ แต่พี่เค้าขอมา แล้วเนี่ย ... พี่เค้าก็อนุมัติงานให้ ผมก็อยากจะตอบแทนเค้าบ้าง เผื่องานหน้าพี่เค้าจะเมตตาอีก ... "
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ที่สุดแล้วคนพวกนี้ก็จะตามน้ำกันไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง อันนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตในแบบอื่น ๆ ตามมาครับ
ขอบคุณมากครับ
โฆษณา