Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
antifraud.in.th
•
ติดตาม
3 พ.ค. 2019 เวลา 02:41 • ธุรกิจ
"ฉ้อราษฎร์บังหลวง" กับ "Corruption" คือสิ่งเดียวกันจริงหรือ?
เช็คอายุหน่อยดีกว่า ... เคยดูเปาบุ้นจิ้นรุ่นนี้กันไหมครับ?
(ภาพจาก Wikipedia)
คือจริง ๆ แล้ว Post นี้ไม่เกี่ยวกับท่านเปาหรอกครับ แต่เวลาที่นึกถึงคำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ผมจะคิดถึงหน้าท่านเปา เวอร์ชั่นที่แสดงโดย จิน เชาฉฺวิน และให้เสียงพากษ์โดย คุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ
เพราะเวลาท่านเปาพูดคำนี้ด้วย สีหน้า แววตา และน้ำเสียงของคุณกำธร ผมว่ามันช่างมีพลังน่าเกรงขามยิ่งนัก ...
เข้าเรื่องของเราดีกว่า คือคำว่า Corruption นี้ ผมเห็นว่าเรามักจะใช้ทับศัพท์กันไปเลย และคำในภาษาไทยที่ใช้แทนกันบ่อย ๆ คือ คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง"
แต่ถ้าดูในรายละเอียด สองคำนี้น่าจะคนละความหมายกัน
เรามาดูคำแรกกันก่อน
Corruption นั้นเป็น 1 ใน 3 กลุ่มของการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ตามหลักของ Association of Certified Fraud Examiners (ACFE) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีดังนี้
1. Corruption (คอร์รัปชั่น)
2. Asset misappropriation (ยักยอกทรัพย์)
3. Financial statement fraud (การทุจริตงบการเงิน)
และ ACFE ยังแบ่งประเภทย่อยของ Corruption ได้อีก 4 แบบ คือ
1. ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
2. สินบน (Bribery)
3. การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ (Illegal gratuities)
4. การขู่กรรโชกในเชิงเศรษฐกิจ (Economic extortion)
โดยประเภทของการทุจริตนั้น ยังมีอีกมากมาย ดังภาพ Fraud Tree ของ ACFE ด้านล่าง ซึ่งเราจะคุยกันในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ
Fraud Tree โดย ACFE
ทีนี้เรามาดูคำที่สองกันต่อ
คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต คือ "การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวง หรือเบียดบังเงินหลวง"
ที่มาของคำนี้ ก็น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยโบราณที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเก็บอากร เก็บส่วย แล้วไม่ส่งเข้าหลวง นั่นแหละครับ
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูประเภทย่อยของ Corruption ทั้ง 4 แบบ ท่านผู้อ่านคงเห็นตรงกันว่าไม่เห็นมีข้อไหนจะใกล้เคียงกับ การ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต เลย
เพราะ Corruption โดยลักษณะอาการ จะเป็นการใช้อำนาจ หน้าที่ของตนที่ได้รับมาจาก องค์กร หรือ สังคม เพื่อหาประโยชน์เพิ่มเติม ที่ไม่ได้เป็นการเบียดบังเอามาจากตัวทรัพย์สินขององค์กร หรือสังคมนั้น ๆ โดยตรง ตัวอย่างเช่น
... เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน นาย ก. จึงเอื้อประโยชน์ในโครงการภาครัฐ ให้ธุรกิจในครอบครัว
... เพราะมีอำนาจตัดสินใจ จึงมีคนเอา แก้ว แหวน นาฬิกา เงิน ทอง มาให้ นาย ป. เพื่อจูงใจ ล่อใจ
... เพราะเป็นตัวแทนของคนในชุมชม นาย ว. จึงเรียกรับ "ค่าดำเนินการ" จากผู้รับเหมา
ทั้งหมดนี้คือการทุจริตที่ตกอยู่ในข่าย Corruption ครับ
ถ้าไม่ใช่แบบเดียวกับ Corruption แล้วการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" คือการทุจริตในกลุ่มไหน
กลับไปดูที่มาของการฉ้อราษฎร์บังหลวงก่อนว่าหมายถึงการที่เจ้าหน้าถือเงินหลวง เงินของราชการ ที่ไปเก็บมาจากประชาชนอยู่ แต่เบียดบังเอาไปใช้เอง ...
... ใช่แล้วครับ ผมว่ามันคือกลุ่มที่ 2 ของการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ หรือ การยักยอกทรัพย์ (Asset misappropriation) มากกว่า
เพราะลักษณะพฤติกรรม มันเป็นการที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ ได้เบียดบัง และยักยอกเอาทรัพย์สินของหลวง ของบ้านเมือง หรือของสังคม ไปเป็นของตนโดยมิชอบ ซึ่งจะเข้าข่าย Asset misappropriation ครับ
อนึ่ง คำว่า "Asset misappropriation" นั้น ถึงเราจะแปลว่า "ยักยอกทรัพย์" ก็จริง แ่ต่ในบริบทของเรานี้ ควรจะหมายถึงการลักขโมยทั่ว ๆ ไป รวมทั้งการฉกฉวยทรัพย์ขององค์กรไปเป็นของตัวเอง ซึ่งจะต่างจากการกระทำผิดตาม มาตรา 352 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องมีการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอยู่ก่อน และได้เบียดบังไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ใน Post ต่อ ๆ ไปเราจะได้คุยกันในรายละเอียดของการทุจริตแต่ละประเภทให้ชัดเจนขึ้นครับ Post นี้ขอจบแค่นี้ก่อน เพราะถ้าเริ่มแล้ว เดี๋ยวเรื่องจะยาวเกินไป
แต่ผมขอปิดท้าย ด้วยวาทะของท่านอดีตนายกรัฐในตรีของเราท่านหนึ่ง ...
"... ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียงสองปี
ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้ ..."
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
แฟ้มภาพจาก มติชน
ปล.1 เมื่อได้ยินผมพูดถึงประโยคนี้ของคุณชายคึกฤทธิ์เข้า มิตรสหายท่านหนึ่งก็ตอบผมมาทันทีว่า "... พอปูด้วยทองคำเสร็จแล้ว ถนนก็จะถูกขโมยไปหมดเกลี้ยงในวันถัดไป... "
ปล.2 ส่วนมิตรสหายอีกท่านหนึ่ง ก็เสริมขึ้นมาลอย ๆ ว่า "... นี่ประเทศเราก็ไม่มีนักการเมืองอยู่ในอำนาจและมีโอกาสโกงมาหลายปีแล้วนะ ทำไมยังไม่เห็นถนนทองคำสักเส้น ..."
ขอไปหัวเราะทั้งน้ำตาแป๊บนึงนะครับ ...
ขอบคุณมากครับ
Website:
www.antifraud.in.th
Blockdit:
www.blockdit.com/antifraud.in.th
อ้างอิง
1. Fraud tree
https://www.acfe.com/fraud-tree.aspx
2.บทความของ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643533
1 บันทึก
7
2
1
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย