12 เม.ย. 2019 เวลา 07:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โลกเสี่ยงใกล้ “ภาวะเรือนกระจก” หรือไม่ ⁉️🔥🌎
และมันส่งผลกระทบต่อโลกเราอย่างไรบ้าง 😰
มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงระบบการไหลเข้าออกของพลัง งานความร้อนจากดวงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่มีการควบคุมขึ้น
สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของโลก การเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของชั้นบรรยากาศ และความผันแปรของภูมิอากาศตามธรรมชาติ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ก่อมลพิษทางอากาศ ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนซึ่งปกป้องผิวโลก และก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้น..
ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect)
ภาวะเรือนกระจกคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะเรือนกระจก คือ ภาวะที่ชั้นบรรยากาศของโลกกระทำตัวเสมือนกระจก ที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ จากนั้นก็จะคายพลังงานความร้อน ให้กระจายอยู่ภายใน ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก จึงเปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิ และเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดีพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลกอย่างมากมาย
1. ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
สภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นตลอดศตวรรษที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบถึงความดันบรรยากาศด้วย และการเปลี่ยนแปลงในความดันบรรยากาศนี้เองที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศโลก เพราะความดันอากาศจะควบคุมการไหลเวียนบรรยากาศ ดังนั้นจึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของความชื้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อปริมาณของฝนที่ตก, อุณหภูมิ, ลม, และพายุ
2. ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
เมื่อมีฝนตกหนักขึ้น จนเกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม ดินอันอุดมสมบูรณ์จะถูกพัดพาไปตามลำน้ำเกิดเป็นความขุ่นของสายน้ำ ที่เมื่อตกตะกอนจะสร้างความตื้นเขินให้แก่แหล่งน้ำ เมื่อสายน้ำขุ่นไหลออกสู่ชายฝั่งจะทำลายแนวปะการัง แหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนั้นแล้วตะกอนดินที่มีปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง ยังช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสาหร่ายตามชายฝั่ง เมื่อสาหร่ายเหล่านี้ตายลง จะเกิดการเน่าเสีย ที่ลดปริมาณออกซิเจนในน้ำจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
3. ผลกระทบต่อแหล่งพลังงาน
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแหล่งพลังงาน เกิดขึ้นกับกิจกรรมขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรที่อยู่ใต้อิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดพายุหมุนที่รุนแรงย่อมเป็นอุปสรรคในการขุดเจาะน้ำมันในทะเลและมหาสมุทร วาตภัยอาจกระหน่ำแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจนอับปาง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมากกว่าการผลิตพลังงานรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากของเขื่อนในหน้าแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่พอต่อการผลิตไฟฟ้า
4. ผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลและที่อยู่อาศัยของมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าถ้าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอีก 0.3OC จะทำให้กราเซียร์ (glacier) เกิดการละลายจนระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอีก 100 เมตร การขยายตัวของมหาสมุทรทำให้เมืองที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก จะถูกน้ำท่วม จนมนุษย์ต้องมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และสภาพสังคม
5. ผลกระทบต่อการเกษตรกรรม
ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเร่งการเจริญเติบโตของพืช แต่ในบริเวณที่มีการจัดสรรน้ำในการชลประทานได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเกษตรกรรม อากาศที่ร้อนขึ้นจะเร่งการระเหยและการคายน้ำของพืช ทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวแห้งตาย ในขณะเดียวกัน อากาศร้อนยังเร่งการเจริญเติบโตของแมลงและจุลินทรีย์บางชนิดที่ทำลายพืช
6. ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของโลก
ระดับน้ำทะเลที่สูงและอุ่นขึ้น ทำให้สัตว์และพืชต่างๆต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด และถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะล้มตายลง เช่นในปี 1998 อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลได้ทำลายปะการังของโลกไป ร้อยละ 10 และส่งผลกระทบต่อการสืบพันธ์ของสัตว์และปลาน้ำเย็น นอกจากนั้นระดับน้ำที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดการสูญพันธ์ของกบ 50 ชนิดในป่าของคอสตาริก้า (Coata Rica) ในมหาสมุทรอาร์คติกแมวน้ำและหมีขาว กำลังเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายจากช่วงฤดูหนาวที่สั้นลง ส่วนดินแดนในเขตมรสุม จะมีพายุฤดูร้อนเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น โดยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียของผลิตผลทางการเกษตรและมีการระบาดที่มากขึ้นของแมลงและเชื้อโรคหลายชนิด นอกจากนั้นการระบาดนี้ยังค่อยๆลามขึ้นไปในดินแดนทางขั้วโลกและที่สูงตามยอดเขาที่เคยหนาวเย็น
7. การสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ที่ผิดปกติบนผิวโลก
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าความผิดปกติในการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ของโลกในฤดูกาลต่างๆ มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้น และ การหายไปของน้ำแข็งที่ขั้วโลก เนื่องจากแถบเส้นศูนย์สูตรเป็นบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด ดังนั้นการหายไปของป่าในเขตร้อนชื้น จึงทำให้การสะท้อนรังสีของโลกผิดปกติไป ซึ่งจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของปริมาณน้ำฝนที่ตก
8. ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์
การเพิ่มอุณหภูมิของอากาศทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและอนามัยของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อากาศที่ร้อนและมีความชื้นสูงจะบั่นทอนสุขภาพในการทำงานของมนุษย์ ก่อให้เกิดความกดดันต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงจนง่ายต่อการรับเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ โดยอุณหภูมิและความชื้นที่สูงเกินไปอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนเกิดการเสียชีวิตได้ เช่นกรณีคลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ขยายสู่ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1995 ทำให้มีผู้สูงอายุ เด็กและคนป่วย เสียชีวิต 739 คนภายในเวลา 1 สัปดาห์ เมื่ออุณหภูมิสูง 37OC ที่ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90 และในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ 2003 คลื่นความร้อนได้ทำให้คนยุโรปเสียชีวิตประมาณ 35,000 คน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสแห่งเดียวมีคนเสียชีวิตถึง 14,802 คน โดยอากาศอุ่นชื้นที่รุนแรงของคลื่นความร้อน ทำให้ร่างกายของมนุษย์สูญเสียน้ำอย่างมาก จนจิตใจเกิดความสับสน มีปัญหาต่อระบบการหายใจ อากาศร้อนทำให้เลือดสูญเสียความสามารถในการจับตัวเป็นก้อน เกิดเลือดออกตามทวารและอวัยวะต่างๆเช่น หู ตา จมูก ปากเป็นต้น
ถึงแม้ว่าเราจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน แต่ผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ในอดีตจะคงอยู่อีกหลายทศวรรษ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมีอายุยาวนานในชั้นบรรยากาศและการถ่ายความร้อนจากบรรยากาศไปสู่ทะเลลึกนั้นต้องใช้เวลานาน
สิ่งนี้หมายความว่าในทุกๆ วัน ปริมาณก๊าซที่ก่อความร้อนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราควบคุมภาวะโลกร้อนได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้เรายังคงสามารถกำหนดอนาคตของสภาพภูมิอากาศได้ด้วยทางเลือกครั้งใหญ่
โฆษณา