15 เม.ย. 2019 เวลา 13:19 • การศึกษา
ระบบกฎหมาย vs ปัญหาในบ้านเรา
ในโลกนี้มีระบบกฎหมายใหญ่ๆแบ่งได้ 3 ระบบ คือ กม.ลายลักษณ์อักษร (Civil Law) กม.จารีตประเพณี (Common Law) และสุดท้ายคือ ระบบกม.ที่ใช้ในประเทศสังคมนิยม เช่น กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งในที่นี้จะไม่กล่าวถึง (เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่บังคับได้เสมอไปในความเป็นจริง)
ระบบกม. Civil Law คือระบบที่ยึดเอาตัวบทกม.เป็นใหญ่ ป้องกันการถกเถียง เพราะกม.มีความชัดเจนแน่นอน ไม่ต้องตีความมากมาย เวลามีข้อพิพาทระหว่างกัน ศาลจะตัดสินไปตามบทบัญญัติแห่งกม.ที่เกี่ยวข้อง ระบบ Civil Law นี้ใช้ในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรปและเอเชียส่วนใหญ่
ส่วนระบบ Common Law คือระบบที่วินิจฉัยและตัดสินข้อพิพาทโดยอิงจากบรรทัดฐานในคดีเรื่องเดิมของศาลที่พัฒนาและสั่งสมกันมาเป็นร้อยๆปี แต่อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องความยุติธรรมเป็นสำคัญ (จริงๆแล้วระบบนี้มีกม.ที่เป็นเนื้อหาจับต้องได้เช่น พรบ.ต่างๆเหมือนบ้านเรานะครับ เพียงแต่เค้าจะยึดเอาคำพิพากษาศาลแนวเดิมเป็นหลักในการตัดสินคดี) ... ระบบ Common Law นี้เริ่มจากประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบตามมาด้วยสหรัฐอเมริการวมถึงกลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพเดิมบางประเทศ
ทั้งสองระบบมีความแตกต่างกัน แต่ละประเทศที่รับเอากม.แต่ละระบบเข้ามาใช้ก็คงเลือกเอาระบบที่ตนเองเห็นว่าถูกจริตเหมาะสมกับสังคมและประชาชนของตัวเอง ..
สำหรับประเทศไทยนั้นพิเศษอยู่นิดหน่อยกล่าวคือถ้าเป็นด้านกม.สารบัญญัติคือกม.เรื่องต่างๆทั่วไปที่ใช้กัน เราอยู่ในระบบ Civil Law คือยึดเอาลายลักษณ์อักษรแห่งกม.เป็นสำคัญ แต่ในส่วนของกฎ กติกา มารยาทในการตัดสินคดีของศาล (วิธีพิจารณาคดี) เราก็ใช้บรรทัดฐานหรือแนวคำพิพากษาของศาลในคดีเดิมๆ (แบบ Common Law) มาช่วยเสริมในกรณีมีปัญหาที่ต้องตีความ เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายข้อพิพาท..เรียกในแง่ดีว่าเป็นความความยืดหยุ่นเพื่อความยุติธรรม (แต่นักกม. ถูกสอนกันมาว่าระบบวิธีพิจารณาคดีของบ้านเราที่กล่าวมานี้เป็นระบบผสม)
สิ่งที่น่าคิดและชวนให้ถกเถียงในประเด็นเรื่องระบบกม.ที่กล่าวมาคือ เวลาสังคมบ้านเรามีปัญหาทางกม.เกิดขึ้น เรามักได้ยินการถกเถียงและตีความ ข้อกม.เพื่อเข้าข้างหรือโน้มเอียงไปสู่ผลประโยชน์ฝ่ายตน โดยที่ผู้คนหรือสังคมละเลยการพิจารณาตัวบทกม.ไป เหมือนกับลืมไปว่าบ้านเราควรยึดเอาลายลักษณ์อักษรของกม.เป็นยุติ เช่น ถ้าเรายังไม่มีกม.อุ้มบุญ ก็ทำให้มันมีเป็นรูปเป็นร่างเสีย จากนั้นก็แก้ไขพัฒนากันไป ไม่ใช่มาปล่อยเป็นประเด็นถกถียงแบบไม่รู้จบแบบนี้ (ขอบอกว่าคนที่เป็นนักกม. เค้าไม่งงกับเรื่องนี้เลย)
โดยส่วนตัวเห็นว่าหากมีปัญหาเรื่องกฎหมายเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจหรือหน้าที่ในเรื่องนั้นต้องเป็นหลักในการนำพาสังคมไปในทางที่ถูก คือกลับไปแก้ไขที่สาเหตุคือกฎหมาย การมาถกเถียงทะเลาะกันไปมาหรือตีความไม่ตรงกันผ่านสื่อเป็นรายวันนั้น ล้วนไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดกับใครทั้งสิ้น ทั้งยังสะท้อนถึงความจริงว่า สังคมบ้านเราไม่ค่อยยึดถือกม.เป็นหลักคิดเวลาที่เกิดประเด็นพิพาททางสาธารณะ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มั่ว”)
ขนาดระบบที่ยึดถือลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก ยังตีความกันวุ่นวายขนาดนี้ .. ทำเอาผมไม่อยากคิดเลยว่าถ้าบ้านเราใช้ระบบ Common Law เราจะอยู่ในสภาพอย่างไรกัน
โฆษณา