16 เม.ย. 2019 เวลา 02:47 • ประวัติศาสตร์
เคยได้ยินคำว่าประพาสต้นไหมคะ ทราบไหมคะว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร ถ้าได้ทราบแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นที่มาที่น่ารักมากๆเลยค่ะ 😊
1
ในรูป รัชกาลที่ 5 กำลังเสวยพระกระยาหารร่วมกับผู้ตามเสด็จเมื่อคราวเสด็จประพาสกำแพงเพชรพ.ศ. 2449
พระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสมากมายและเกือบจะทั่วพระราชอาณาจักร นอกจากเมืองเหนือและอีสาน บางทีก็เสด็จเป็นทางราชการอย่างเจ้าชีวิต บางทีก็เสด็จอย่างลำลองที่สุด เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินอาหรับในหนังสือArabian Nights ซึ่งทรงอ่านในภาษาอังกฤษและโปรดมาก ทรงแปลเรื่องหนึ่งเป็นกาพย์กลอนไทยอย่างไพเราะเรียกว่านิทราชาคริต
เวลาเสด็จอย่างลำลองมีแต่พระสหายที่สนิทตามเสด็จเช่น พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ หรือข้าราชการมหาดเล็ก การไปเที่ยวด้วยกันในหมู่ใหญ่ๆเป็นของที่ไทยเราชอบ ในกรณีนี้ มักจะเสด็จไปตามลำน้ำลำคลองโดยเรือแจวเรือพายลำเล็กๆหลายๆลำ แวะเยี่ยมหมู่บ้านอันอยู่ไกลจากตัวเมืองต่างๆ
ในสมัยนั้นภาพถ่ายหรือหนังสือพิมพ์ที่ลงภาพถ่ายยังมีน้อยหรือเกือบจะไม่มีเลย จึงเสด็จประพาสเช่นนั้นได้สะดวก โดยไม่มีผู้คนรู้จักหรือจำได้ ทรงปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ทรงรับเชิญจากชาวบ้านให้ขึ้นบ้านของเขา ของที่สำคัญที่สุดคือ ทรงได้ยินได้ฟังโดยตรงจากปากของราษฎรอย่างใกล้ชิดว่า เขามีความรู้สึกอย่างไรกับการปกครองและการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงต่างๆของพระองค์
ที่บ้านแห่งหนึ่งเมื่อกำลังเสวยและคุยอยู่กับชาวบ้าน บทของชาวบ้านพูดพึมพำอยู่ว่า "เหมือนนัก แน่แล้ว"
บิดาจึงต้องถามว่าใครเหมือนใคร บุตรชี้ไปยังบุรุษผู้หนึ่งในหมู่คนที่มาจากกรุงเทพ และรับว่าเห็นเหมือนรูปเจ้าชีวิตที่เขาเคยตั้งไว้ตามเครื่องบูชา จึงเป็นอันว่ากลแตก เลยฮากันทั้งวง ทรงรับอย่างดีว่าพระองค์คือเจ้าชีวิต และชาวบ้านเหล่านั้นไม่ต้องตกใจ มีความเกรงกลัวอย่างใด
มีชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จไปเยี่ยมบ่อยๆ ผู้นั้นมีนามว่าอ้น ซึ่งไม่รู้จักพระองค์ว่าเป็นใครอยู่เป็นเวลานาน วันหนึ่งนายอ้นคงจะแปลกใจและตื่นเต้นมาก เมื่อเจ้าหน้าที่พื้นเมืองเอาของพระราชทานมาให้ อันประดับพระมหามงกุฎและคำจารึกว่า "จากเพื่อน จ.ป.ร."
ทรงเรียกว่าตาอ้น ฉะนั้นต่อมาการเสด็จเที่ยวอย่างลำลองเช่นนั้น จึงทรงเรียกว่าประพาสต้น(ตาอ้น=ต้น)
เป้ยคัดลอกมาจากหนังสือเจ้าชีวิตค่ะ
เขียนโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
โฆษณา