21 เม.ย. 2019 เวลา 08:10 • การศึกษา
💁 เจาะชีวิต "แจ็ค หม่า" จากครูสอนอังกฤษ
สู่เจ้าของ Alibaba มหาเศรษฐีระดับโลก 💸🏆
2
เรียนรู้ชีวิต “แจ็ค หม่า” ในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่วัยเด็ก สู่จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ จนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก เจ้าของอาลีบาบา กว่าที่จะประสบความสำเร็จขนาดนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง
2
ชื่อของ "แจ็ค หม่า" (Jack Ma) โด่งดังไปทั่วทุกมุมโลก หลายคนรู้จักเขาในฐานะมหาเศรษฐี ผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง "อาลีบาบา" ที่มีความโดดเด่นทั้งการทำธุรกิจ และเรื่องราวการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก กระปุกดอทคอม จึงอยากจะพาทุกคนย้อนไปดูกันว่า กว่าที่ชายคนนี้จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ เขาผ่านอะไรมาบ้าง มีวิธีคิดอย่างไร ถึงสามารถชนะอุปสรรคต่าง ๆ มาได้
👼 ประวัติ แจ็ค หม่า กับชีวิตครอบครัวในวัยเด็ก 👪
แจ็ค หม่า มีชื่อจริง ๆ ว่า "หม่า หยุน" เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2507 ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีอะไรมากนัก ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ช่วงวัยเด็กของเขาอาจไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะเรียนไม่เก่ง ต้องซ้ำชั้นอนุบาลถึง 7 ปี และมักจะถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้ออยู่เสมอ ด้วยความที่เป็นเด็กตัวเล็กกว่าคนอื่น
1
นอกจากนั้น เขายังแตกต่างจากเด็กทั่วไปที่ส่วนใหญ่มักใช้เวลาหมดไปกับการเที่ยวเล่น แต่เขากลับเลือกใช้เวลาทุกเช้าวันละ 40 นาที มุ่งมั่นไปกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยปั่นจักรยานไปยังโรงแรม เพื่อคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสนอตัวเป็นไกด์นำเที่ยว ทำให้เขาได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษทุก ๆ วันเป็นเวลาถึง 9 ปี จนชำนาญการใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษ "Jack"ของเขาก็มาจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่ตั้งให้เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียงและสื่อสาร
 
          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความรักและพยายามฝึกภาษาอังกฤษตลอดเวลา แต่เขาก็ไม่ใช่คนเรียนเก่งอะไรนัก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ที่เขาไม่ถนัดเอาซะเลย จนทำให้พลาดการสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้ง ก่อนที่สุดท้ายจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยครูหางโจวได้สำเร็จ่
1
😔 ล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน 😧
1
หลังจากเรียนจบ แจ็ค หม่า ก็ได้ตระเวนหางานทำเหมือนกับคนอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งช่วงแรกของการหางาน เขาเคยโดนปฏิเสธมามากกว่า 30 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโดนปฏิเสธจากร้าน KFC เคยสมัครเข้าเป็นตำรวจ จากผู้สมัครทั้งหมด 5 คน มีเขาคนเดียวที่ไม่ติด หรือแม้แต่เคยไปสมัครงานในโรงแรม พร้อมกับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งก็เป็นเขาอีกเหมือนเดิมที่ไม่ได้งาน แต่ลูกพี่ลูกน้องคนนั้นได้งานไป
3
เรียกได้ว่าชีวิตของ แจ็ค หม่า ในช่วงเริ่มต้นเต็มไปด้วยอุปสรรคและความล้มเหลวจนชิน แต่ถึงแม้เขาจะถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่านับไม่ถ้วน ก็ไม่เคยทำให้เขาหมดหวังและยังคงพยายามหางานต่อไป โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การถูกปฏิเสธซ้ำ ๆ เป็นเหมือนบทเรียนของมหาวิทยาลัยในชีวิตจริงก็เท่านั้นเอง"
2
สุดท้ายเขาก็ได้งานแรกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อโดยได้รับเงินเดือนเพียง 500 บาท เขาเป็นครูอยู่ 5 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก หลังจากที่ได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐฯ ในปี 2538 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดโลกใหม่ของ แจ็ค หม่า ให้ได้รู้จักกับอินเทอร์เน็ต จนเป็นไอเดียจุดประกายให้เขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะเมื่อเขาลองค้นหาในอินเทอร์เน็ต กลับพบว่าไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับสินค้าจีนเลย ทั้งที่สินค้ามากมายที่ขายในอินเทอร์เน็ตล้วนผลิตจากจีนทั้งนั้น
👉 การเริ่มต้นการทำธุรกิจของ แจ็ค หม่า 👍
เมื่อ แจ็ค หม่า กลับมาที่ประเทศจีน เขาจึงตัดสินใจลองทำธุรกิจเป็นครั้งแรก ด้วยการรวบรวมเงินจากกลุ่มเพื่อนมาได้ราว 6 แสนบาท ลงทุนร่วมกันเปิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่า "China Yellow Pages" ขึ้นในเดือนเมษายน 2538 ที่มีคอนเซ็ปต์เป็นสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ โดยการรวบรวมรายชื่อบริษัทและสินค้าต่าง ๆ ในจีน มาไว้ในเว็บไซต์
🌟การมาของ China Yellow Pages ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีในจีน เพราะเริ่มได้เพียง 3 ปี บริษัทก็ทำเงินได้กว่า 24 ล้านบาท โดยมีรัฐบาลเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย นับว่าเป็นจุดที่ทำให้หลายคนเริ่มมองเห็นแววการเป็นนักธุรกิจของเขาเลยก็ว่าได้ แต่สุดท้าย แจ็ค หม่า ก็ตัดสินใจเดินออกมาจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ด้วยการขายหุ้นทั้งหมดให้รัฐบาลจีน
1
ทั้งนี้ มีหลายคนมองว่าเหตุผลที่ แจ็ค หม่า เลือกจะออกมาจาก China Yellow Pages ทั้งที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย เนื่องมาจากแนวคิดที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาล โดยเขาต้องการที่จะให้จีนทำการค้าร่วมกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งขัดกับความคิดของรัฐบาลในเวลานั้น แต่ไม่ว่าจุดจบของเขากับ China Yellow Pages จะมาจากสาเหตุอะไร มันก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ "อาลีบาบา"
👍อาลีบาบา ธุรกิจที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต แจ็ค หม่า
ในปี 2542 แจ็ค หม่า ตัดสินใจใช้เงินทุน 2 ล้านบาท ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ชื่อว่า"อาลีบาบา" (Alibaba) โดยนำชื่อมาจากนิทานเรื่องหนึ่ง เพื่อหวังให้เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางระหว่างผู้ผลิตและส่งออกสินค้าในจีนกับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งช่วงเริ่มต้นของอาลีบาบา อาจไม่ได้สวยงามเหมือน China Yellow Pages นัก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุน เพราะไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือเหล่านักลงทุน ต่างพากันมองว่า ธุรกิจนี้คงประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะไม่มีใครเชื่อว่าอีคอมเมิร์ซในจีนจะเกิดขึ้นได้จริง  
 
          แต่ด้วยความพยายามของ แจ็ค หม่า ทำให้ในปี 2543 อาลีบาบา ก็ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศจำนวน 700 ล้านบาท จนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก เนื่องจากบริษัทได้นำเงินก้อนนี้ ไปพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา โดยเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จนประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
3
ในขณะที่ อาลีบาบา เติบโตในตลาด B2B อย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่ง เว็บไซต์ที่ให้บริการแบบ B2C อย่าง "eBay" จากสหรัฐฯ ก็กำลังเข้ามารุกตลาดจีนเป็นอย่างมากเช่นกัน ทำให้ในปี 2546 เขาตัดสินใจเปิดตัว "Taobao.com" เว็บไซต์ขายของออนไลน์สัญชาติจีน ขึ้นมาแข่ง
แจ็ค หม่า เคยเปรียบไว้ว่า "eBay เป็นเหมือนฉลามในมหาสมุทร แต่ Taobao เป็นจระเข้แห่งแม่น้ำแยงซี ดังนั้นเราจึงได้เปรียบอยู่แล้ว ถ้าสู้ในบ้านของตัวเอง" และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะแม้ในช่วงแรก ธุรกิจของ Taobao จะดำเนินไปอย่างราบเรียบ ไม่มีกำไร แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี Taobao ก็พลิกโผขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ eBay ที่เคยมีสัดส่วนผู้ใช้บริการมากถึง 70-80% ตัดสินใจยกธงขาวออกจากจีนในที่สุด เพราะไม่สามารถขยายฐานลูกค้าสู้ Taobao ได้ ซึ่งกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ทำให้ชื่อของ แจ็ค หม่า เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ปัจจุบันอาลีบาบา ได้ขยายธุรกิจไปมากมาย ไม่เพียงแต่ Taobao เท่านั้น เพราะยังมีระบบชำระเงินออนไลน์อย่าง AliPay ที่มีผู้ใช้กว่า 1 พันล้านบัญชี รวมถึง Tmall.com เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่จับกลุ่มลูกค้าชั้นกลาง ธุรกิจ Social Network อย่าง Weibo และ Youku Tudou ซึ่งเปรียบเสมือน Twitter และ Youtube ในจีน และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งให้บริการคลาวด์, โลจิสติกส์, สโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และสื่อสิ่งพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง
1
หรือแม้แต่เว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดังอย่าง Lazada ก็โดนอาลีบาบาของเขาซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ แจ็ค หม่า เป็นเจ้าของ Lazada ในทุกประเทศที่เปิดดำเนินการอยู่ ทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย เรียกได้ว่าวันนี้เขาทำให้อาลีบาบาโตอย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับจุดเริ่มต้นที่ใช้เงินทุนเพียง 2 ล้านบาท
🍟แจ็ค หม่า ซื้อหุ้นจาก KFC🍗
อย่างที่บอกไปว่า แจ็ค หม่า มีประสบการณ์การถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า และหนึ่งในงานที่เขาน่าจะจดจำได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการสัมภาษณ์งานในร้าน KFC ที่มีผู้สมัคร 24 คน และมีเขาเพียงคนเดียวที่ถูกปฏิเสธ
1
"ผมเดินหางานในตอนนั้น รวมถึงสมัครทำงานกับ KFC ด้วย มีผู้สมัครทั้งหมด 24 คน แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนผ่านหมด มีผมคนเดียวที่ถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน" แจ็ค หม่า เผยความในใจ
แต่ใครจะคิดว่าตอนนี้เขาจะกลายเป็นเจ้าของ KFC ในประเทศจีนไปซะแล้ว ด้วยการทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการ Yum Brands บริษัทแม่ของ KFC และ Pizza Hut สาขาในจีน จนหลายคนต่างแซวกันว่านี่เป็นการล้างแค้นของแจ็ค หม่า แน่ ๆ เลย
- แจ็ค หม่า ซื้อกิจการ KFC จีนเรียบร้อย หลังสมัยหนุ่ม KFC ไม่รับเข้าทำงาน
💲ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีระดับโลก💲
ชื่อเสียงของ แจ็ค หม่า เริ่มโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากที่เขาได้นำอาลีบาบา หรือในชื่อหุ้น BABA เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น New York City ในเดือนกันยายน 2557 เพราะกลายเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกในขณะนั้น ด้วยมูลค่ากว่า 7.8 แสนล้านบาท ทำให้ในปีเดียวกันนั้นเอง แจ็ค หม่า ขึ้นแท่นคนที่รวยที่สุดในจีนได้สำเร็จ ด้วยทรัพย์สินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท
1
จนกระทั่งในปี 2559 แจ็ค หม่า ก็มีทรัพย์สินเพิ่มไปแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทได้สำเร็จ จนกลายเป็นคนที่รวยที่สุดของเอเชียในตอนนั้น และจากการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลกของ Forbes ล่าสุดในปี 2561 แจ็ค หม่า ได้ติดอันดับที่ 20 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มากถึง 1.3 ล้านล้านบาท ต้องบอกเลยว่าชายคนนี้รวยขึ้นทุก ๆ ปีจริง ๆ
💲การลงทุนในไทยของ แจ็ค หม่า 💹
ธุรกิจของ แจ็ค หม่า ไม่ได้ยิ่งใหญ่เฉพาะในแผ่นดินจีนเท่านั้น แต่ได้ขยายการลงทุนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ทางกลุ่มอาลีบาบา ก็ได้เข้ามาลงทุนในหลากหลายธุรกิจ ทั้งกับภาครัฐและเอกชน
สำหรับธุรกิจเด่น ๆ ของกลุ่มอาลีบาบา ที่เข้ามาลงทุนกับเอกชนไทย ก็อย่างเช่น บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายในไทยและจีน, ระบบชำระเงิน Alipay ให้บริการร่วมกับสถาบันการเงินไทยหลายแห่ง, เปิดบริการ Alibaba Cloud, แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ฟลิกกี้ (Fliggy) และร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้า ให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ
- เปิดอาณาจักร "แจ็ค หม่า" กับ 5 ธุรกิจ Alibaba ในไทย
และล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากเมื่อ แจ็ค หม่า เดินทางมาที่ประเทศไทย พร้อมจับมือกับรัฐบาลไทย ลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง ก็คือการลงทุนพัฒนาศูนย์ Smart Digital Hub ที่มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 11,000 ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นการจุดกระแสธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยให้เติบโตได้อีกมากเลยทีเดียว
💸 แจ็ค หม่า เศรษฐีใจบุญ ยิ่งให้ยิ่งรวย 💸
ไม่เพียงแค่ความสามารถในการสร้างธุรกิจให้ใหญ่โตเท่านั้น แต่ แจ็ค หม่า ยังเป็นที่ยอมรับในเรื่องของการแบ่งปันเพื่อสังคม โดยเขาเคยได้รับการจัดอันดับเป็นบุคคลที่ใจบุญที่สุดของจีน ประจำปี 2558 จากการที่เขาบริจาคหุ้นอาลีบาบา 2% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ก่อตั้งกองทุนและมูลนิธิที่มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษา และสุขภาพประชาชนจีน ฮ่องกง และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ในทุก ๆ ปี แจ็ค หม่า จะนำกำไร 0.3% ของอาลีบาบา บริจาคเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม และเขายังช่วยเหลือการกุศลด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กรุ่นใหม่ ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบทของจีน รวมถึงบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในบ้านเกิด
🏆รางวัลแห่งความสำเร็จ🏆
ความสามารถของ แจ็ค หม่า เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก การันตีได้จากการคว้ารางวัลมากมายทั้งในประเทศจีนและระดับโลก และเมื่อมีการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลก เราก็มักจะเห็นชื่อของ แจ็ค หม่า ติดทำเนียบอยู่เสมอ โดยในปี 2552 แจ็ค หม่า ก็ได้รับการยอมรับจากนิตยสาร Forbes China ให้เป็นนักธุรกิจจีนที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุด 10 อันดับแรก
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังกลายเป็นนักธุรกิจจีนคนแรกในรอบ 50 ปี ที่มีโอกาสอวดโฉมหน้าบนปกนิตยสาร Forbes ประจำเดือนเมษายน 2554 รวมถึงถูกจัดอันดับอยู่ใน 30 บุคคลแรกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2559 อีกด้วย้้
👐 เตรียมวางมือธุรกิจ ปูทางให้คนรุ่นใหม่ 👐
แจ็ค หม่า ในวัย 54 ปี ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะค่อย ๆ ลดบทบาทของตัวเองในการบริหาร Alibaba พร้อมเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแสดงความสามารถมากขึ้นโดยเขาจะยังคงทำหน้าที่ประธานบริษัท Alibaba ต่อไปอีกเพียง 1 ปี จนถึงวันที่ 10 กันยายน 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้ แดเนียล จาง (Daniel Zhang) ขึ้นมารับช่วงต่อ อย่างไรก็ดี แจ็ค หม่า จะยังคงนั่งในบอร์ดบริหารของ Alibaba เหมือนเดิม เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป
หลังจากวางมือจากตำแหน่งประธานบริษัท แจ็ค หม่า มีแผนที่จะอุทิศเวลาให้กับมูลนิธิการกุศลที่เขาก่อตั้ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
ใครจะไปคิดว่า จากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์ เรียนก็ไม่เก่ง สมัครงานที่ไหนก็มักเจอแต่คำปฏิเสธ แต่ด้วยความพยายามที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค การมีครอบครัวที่ดีคอยหนุนหลัง ภรรยาที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเขาตั้งแต่วันที่ไม่มีอะไร จนประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบการใช้ชีวิตให้กับคนทั่วโลกได้อย่างทุกวันนี้
ที่มา : เฟซบุ๊ก Alibaba Group
โฆษณา