24 เม.ย. 2019 เวลา 11:00 • กีฬา
"วิถีประชาธิปไตยของเรอัล มาดริด"
ฟุตบอลลีกระดับสูงของสเปน มีด้วยกัน 4 สโมสรที่ใช้ระบบการบริหารงานโดยแฟนบอลเพื่อแฟนบอล
หากจะถามหาความเป็นประชาธิปไตย คงต้องหากันที่ 4 สโมสรนี้ ประกอบด้วย บาร์เซโลน่า, แอธเลติก บิลเบา, โอซาซูน่า และ เรอัล มาดริด
ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด คือบุคคลในฝ่ายบริหารสโมสรฟุตบอลที่พวกเราน่าจะคุ้นชื่อกันมากที่สุด คุ้นกันมาตั้งแต่ยุค"กาลาคติกอส I" หรือเมื่อ 19-20 ปีก่อนโน่น
เปเรซ ได้รับเลือกมาดำรงค์ตำแหน่งคำรบสองในปี 2009 จากนั้นก็เป็นมาโดยตลอดจนถึงตอนนี้
เรอัล มาดริด นั้นเป็นสโมสรที่จัดตั้งขึ้นมาแต่แรกก็ใช้ระบบนี้อยู่แล้ว คือเริ่มต้นมาจากกลุ่มบัณฑิตที่จบมาจากอ็อกซ์ฟอร์ด และเคมบริดจ์ ถ้าจะให้เห็นภาพ พวกเขาตั้งบอร์ดบริหาร เลือกประธานสโมสรกันก่อนจะก่อตั้งสโมสรกันด้วยซ้ำ
ไม่มีใครเป็นเจ้าของสโมสร มีการเลือกตั้งประธานสโมสรบริหารงานกัน เหมือนบริษัทมหาชนจำกัด ประธานสโมสร ไม่ใช่เจ้าของ สามารถเปลี่ยนมือได้ผ่านการเลือกตั้ง
เดิมทีหลายสโมสรในสเปน มีโครงสร้างแบบนี้ "สโมสรเพื่อแฟนบอลโดยแฟนบอล" แต่ในปี 1992 รัฐบาลสเปน มีการเปลี่ยนแปลงกฏข้อบังคับหลายอย่าง หากสโมสรไหนอยากดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ต้องแจ้งผลประกอบการย้อนหลังไป 5 ปี แล้วต้องมีกำไรด้วย
ปรากฏว่าเข้าข่ายเหลือรอดมาได้ก็แค่ 4 สโมสรด้านบนที่ว่า
อีกอย่าง เรอัล มาดริด (สเปน), บาร์เซโลน่า (กาตาลัน) และ แอธ บิลเบา (บาสก์) มีความเป็นเชื้อชาติสูงมาก เลยได้การยอมกลายๆ ใครคนนอกจะเข้ามาบริหารพวกเขามั่วซั่ว คงเป็นเรื่องใหญ่
ทั้ง 4 สโมสรนี้ ลงทะเบียนเป็น "องค์กรกีฬาไม่แสวงหาผลกำไรที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของ"
หมายความว่า สมาชิกทุกคนแม้แต่ประธานสโมสรจะไม่ได้เงินจากการบริหารงานสโมสร การที่สโมสรขายนักเตะแล้วได้กำไร หรือหาสปอนเซอร์แพงๆ เป็นเพียงเม็ดเงินที่นำมาใช้ในการบริหารสโมสรให้ดีขึ้นเท่านั้น
เงินจะวนเข้าวนออกอยู่กับสโมสรเท่านั้น ไม่ใช่กับสมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือหลายๆ คน
แล้วแฟนบอลแบบไหน ที่จะสามารถมีส่วนร่วมต่อการออกสิทธิ์ออกเสียง เราอยู่เมืองไทย ไปโหวตออกเสียงทางอินเทอร์เน็ตได้ไหม ?
ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะแฟนบอลที่เป็นสมาชิกและมีส่วนต่อการออกสิทธิ์ออกเสียง เรียกว่า "โซซิโอส" (Socios)
- โซซิโอส จะต้องจ่ายเงินปีละ 123 ยูโรเป็นค่าสมาชิก แต่ใครเป็นมานาน 50 ปีขึ้นไป ไม่ต้องจ่าย
- การจะเข้ามาสมัครได้ ต้องมีโซซิโอสเดิม ลงชื่อรับรองอย่างน้อย 2 คน
- เมื่อเป็นโซซิโอสจะมีสิทธิ์ออกเสียงโหวต และซื้อตั๋วเกมต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนนอก
- มีกฏข้อบังคับอยู่ หากคนใดทำผิดจะโดนลงโทษหรือตัดสิทธิ์บางอย่าง
ปัจจุบัน เรอัล มาดริด มีสมาชิกโซซิโอส ประมาณ 9 หมื่น++
ลองนึกภาพว่าถ้าจะโหวตอะไรกันทีต้องรอการโหวตจากคนเกือบแสน มันคงเป็นเรื่องไม่สะดวกเท่าไหร่ พวกเขาเลยมีการโหวตเลือก "สมัชชาสมาชิก" จำนวนราวๆ 2,000 คน เข้าไปทำหน้าที่แทน และจะมีการเลือกกันใหม่ทุกๆ 4 ปี พูดง่ายๆ ก็เหมือนเลือก ส.ส. เข้าไปในสภานั่นเอง
สมัชชาสมาชิก กลุ่มนี้แหละที่จะเป็นพลังเสียงในการโหวตเลือกประธานสโมสร จากนั้นก็จะมีการเลือกบอร์ดบริหาร รวมไปถึง Electoral Members ที่ทำงานแยกจากฝ่ายบริหาร มาตรวจสอบดูแลการเลือกตั้ง การโหวตต่างๆ ภายในสโมสร
หากว่าการเป็นโซซิโอส เป็นเรื่องยากแล้ว การจะเป็นประธานสโมสรเรอัล มาดริด ยิ่งเป็นเรื่องโหดหิน
ประธานสโมสรจะมีวาระ 4 ปีเหมือนกัน หากประธานคนใด ไม่ได้บริหารงานแย่จนโดนกดดันจากสมาชิกทั้งหมดให้ลาออก หรือทุจริตแล้วโดนตรวจสอบให้พ้นจากตำแหน่งแล้วละก็ เมื่ออยู่ครบวาระจะมีการเลือกตั้งกันใหม่
ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ถูกเลือกมาในปี 2009, 2013 และล่าสุด 2017 ครั้นในการเลือกตั้งปี 2013 เขาได้ใช้สิทธิ์ขอแก้ไขคุุณสมบัติผู้สมัคร และได้รับการอนุมัติจากบอร์ดด้วย
1. ต้องเป็นคนสเปน (อันนี้เป็นข้อกำหนดเดิมอยู่แล้ว)
2. ต้องเป็นสมาชิกโซซิโอส มาอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกัน (จากเดิม 10ปี)
3. ต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ว่าต้องมีเงินอย่างน้อย 15% ของงบสโมสร โดยเงินนี้เจ้าของคือคุณคนเดียวเท่านั้น (ประมาณ 75ล้านยูโร ณ ครั้งล่าสุด)
จะเห็นได้ว่า จากคุณสมบัติด้านบน ใครจะก้าวขึ้นมาท้าชิงประธานสโมสรเรอัล มาดริด เป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะข้อ 2 และข้อ 3 ทำให้ บิเซนเต้ โบลูด้า ต้องหลุดจากคุณสมบัติการเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งในปี 2013 (เขาเป็นสมาชิกมา 16 ปี ณ ตอนนั้น)
ซึ่งมันก็พอบอกอะไรได้อยู่
ข้อแรก การเป็นคนสเปน หมายถึงสโมสรเป็นของแฟนบอล สโมสรในสเปนก็ต้องดูแลโดยคนสเปนเป็นธรรมดา
ข้อสอง มันบอกว่าคุณคือแฟนบอลเลือดข้น เพราะติดตามทีมมานาน ยอมง่ายเงินสมาชิกโซซิโอส รายปีมาตั้ง 20 ปีอัพ
ข้อสาม การมีเงินระดับนั้น หมายถึงคุณต้องเป็นนักธุรกิจหรือคนที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพอย่างมาก เป็นการันตีฝีมืออยู่กลายๆ
ฟลอเรนติโน่ เปเรซ จบวิศวโยธา เป็นประธานบริษัท ACS Group ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในสเปน
ปี 2016 บริษัทนี้มีรายได้ระดับ 3 หมื่น 4 พันกว่าล้านยูโร คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณประเทศไทยแล้ว คิดดูว่าประธานบริหารบริษัทใหญ่ระดับนี้ต้องเก่งแค่ไหน
เมื่อดูโครงสร้างโดยรวม สโมสรที่มีเจ้าของคือแฟนบอลเองแบบนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมาก แต่กระนั้น เปเรซ ก็ยังโดนโจมตีเรื่องไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเพียงพอ
เช่นเร่งแก้ข้อกำหนดของผู้ท้าชิง ลงเลือกตั้งประธานสโมสร เอาดื้อๆ คือเล่นเปลี่ยนกฏ
เขาเคยบอกว่าตัวเองเหมาะสมที่สุดแล้วในการบริหารสโมสรแห่งนี้ เพื่อให้ดำรงค์อยู่ซึ่งคุณค่า และมูลค่าของความเป็น เรอัล มาดริด
แม้กระนั้น เปเรซ ก็เคยยอมก้าวลงจากตำแหน่งหนหนึ่งในปี 2006 ยอมรับว่าการใช้นโยบายซื้อแต่แนวรุกดาวดัง กาลาคติกอสนั้นล้มเหลว
นายกยุบสภา ลาออก เลือกตั้งกันใหม่ เปิดโอกาสให้คนอื่นก้าวมาบริหารแทนบ้าง ว่าอย่างนั้น
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา