24 เม.ย. 2019 เวลา 07:11 • ปรัชญา
“เดินสู่อิสรภาพ”
 
ผู้เขียน: อ.ประมวล เพ็งจันทร์
 
ขนาด: 504 หน้า
สนพ: สุขภาพใจ
หมวด: ปรัชญาชีวิต / จิตวิญญาณ
เหมาะกับใคร: “ผู้ต้องการเติบโตจากภายใน”
เดินสู่อิสรภาพ
ลองจินตนาการดูครับ…
 
หากอาชีพที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ รับราชการ เป็น “อาจารย์ในมหาวิทยาลัย” ที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้รับการยอมรับนับถือ กับความรักจากลูกศิษย์ลูกหามากมาย
 
มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ที่แน่นอน...
 
มีภรรยาครองคู่กันมานาน และรักกันมาก...
 
ที่สำคัญตอนนี้ คุณมีอายุ 51 ปีแล้ว เหลืออีกเพียงไม่กี่ปี คุณก็จะได้รับบำนาญ เข้าสู่ช่วงชีวิตที่สงบสุขหลังเกษียณราชการ
 
คุณคงไม่เลือกทำบางอย่าง เพื่อให้ตนเองต้องเสี่ยงกับการสูญเสียสิ่งที่ว่าทั้งหมด อย่างแน่นอน (ผมเองก็เช่นกัน)
.
.
แต่ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ กลับเลือกลาออก… และเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในวันที่ 23 ต.ค. พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 ของตนเอง...
อ. ประมวล มีความคิดที่จะลาออกมาหลายปีแล้วครับ เนื่องจากสังเกตเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่ทำการสอนกำลังเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็น “สถานขายบริการ ด้านการศึกษา” การเป็นเพียง “โรงงาน” เพื่อผลิต “แรงงาน” ป้อนให้กับระบบอุตสาหกรรม
 
รับใช้ระบบทุนนิยม โดยมีเงินเป็นตัวแปรสำคัญ...
มากกว่าจะสร้างเสริมอุดมการณ์อันทรงคุณค่า และนักศึกษาที่มีคุณภาพ คืนสู่สังคมไทย
 
อาจารย์ไม่สามารถต้านทานกระแสที่เกิดขึ้นได้ จึงเลือกวิธีการลาออก เพื่อกลับมาแสวงหาการเดินทางกลับมาภายในของตนเอง
 
.
ทว่า การจะลาออกนั้น “ภรรยา” ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายสิบปี ต้องเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเสียก่อน ดังนั้น วันที่อาจารย์ลาออก จึงเป็นวันที่ภรรยาผู้เป็นที่รัก เลือกให้นั่นเองครับ
เดินสู่อิสรภาพ เป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร นี่คือ 10 ข้อ ที่ผมอยากแบ่งปันให้คุณครับ
.
.
1.“เดินกลับบ้าน”
.
.
สิ่งที่ อ.ประมวล ตั้งใจทำหลังจากลาออก ก็คือ “เดินเท้ากลับบ้าน” !
 
ก้าวแรกของการออกเดิน อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และจุดหมายปลายทางคือ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 1,000 กว่ากิโลเมตร
2. “กำหนดการเดินทางเป็นอย่างไร?”
.
.
หลังจากฝึกซ้อมเดินเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ในตัวเมืองเชียงใหม่ อาจารย์ก็ออกเดินในวันที่ 17 พ.ย. 2548 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง (วันที่ 23 ต.ค. คือวันเดินซ้อม)
 
มีเพียงกำหนดออกเดินทางที่แน่นอนเท่านั้น แต่วันที่ถึงจุดหมาย ไม่ได้ถูกกำหนดไว้แต่อย่างใด
3. “สิ่งของที่พกไปมีอะไรบ้าง”
.
.
เสื้อผ้าไม่กี่ชุด แปรงและยาสีฟัน ยานิดหน่อย และของใช้ที่จำเป็นอีกเล็กน้อย เพื่อให้มีสิ่งของที่ต้องพกติดตัวไป มีน้ำหนักเบาที่สุด
 
ที่สำคัญ “ไม่พกเงินติดตัวไป แม้แต่บาทเดียว”
4. “วัตถุประสงค์ของการเดิน?”
.
.
เพื่อ...ปฏิบัติธรรม และเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต ด้วยการก้าวออกไปเผชิญความไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ความกลัว เป็นการฝึกฝนกำกับจิตของตนเอง ไม่ให้หวั่นไหวไปกับโลกภายนอก
 
เพื่อ...ฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็งพอที่จะปลดปล่อยตนเองให้รอดพ้นจากอำนาจแห่งเงินตรา
 
เพื่อ...การสลายอัตตา ที่เป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา ให้มุ่งหน้าไปที่การสะสม ยึดติด และก่อให้เกิดความทุกข์ที่วนเวียนไม่จบไม่สิ้น
 
เพื่อ...พิสูจน์ให้เห็นว่า ในสังคมไทย ยังมีผู้คนดีๆ ที่มีเมตตากรุณาอยู่อีกมากมาย
 
เพื่อ...เรียนรู้ชีวิตของผู้คนระหว่างทาง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร ยากดีมีจนแค่ไหน หรือนับถือศาสนาอะไร ล้วนมีบทเรียนบางอย่างที่อาจารย์สามารถใช้เป็นบทเรียนได้
5. “จะไปพักที่ไหนบ้างระหว่างทาง ?”
.
อ.ประมวลตั้งจิตไว้ว่า จะไม่เดินไปหาคนรู้จัก หรือเพื่อนฝูงระหว่างการเดินทางเลย เพราะไม่ต้องการยึดติดกับความสะดวกสบาย
 
ที่พักหลับนอนนั้น จึงไม่ได้ถูกกำหนดไว้ ส่วนใหญ่อาจารย์จะไปขอพักที่ “วัด” ซึ่งแล้วแต่เจ้าอาวาสจะกรุณา บางครั้งก็ได้นอนในกุฏิที่สะดวกสบาย บางครั้งก็นอนที่ศาลา บางครั้งก็ไปนอนกับคนจรจัด
 
หรือบางที ผู้คนที่มีเมตตาก็ชักชวนให้ไปนอนค้างที่บ้าน ซึ่งบางครั้ง อาจารย์จะปฏิเสธ หากว่ายังเหลือเวลาที่พอจะเดินได้เพิ่มเติม
6. “อาหารการกิน หาได้ที่ไหน”
.
.
ในเมื่อไม่พกเงิน จึงไม่มีทางที่จะไปซื้ออาหารมารับประทานได้ ฉะนั้น “อาหาร และน้ำดื่ม” จึง “แล้วแต่” ผู้คนที่พบระหว่างทางจะเสนอให้
 
อาจารย์จะไม่ขออาหารจากใครก่อน เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปรบกวนผู้อื่น
 
อาจารย์ไม่สะสมอาหารระหว่างการเดิน แต่มีบางครั้งเหมือนกันที่จำต้องเก็บไว้บ้าง เพราะผู้มอบมีความตั้งใจให้ที่สูงมากๆ
 
ส่วนใหญ่แล้ว อาจารย์จะได้ทานเพียงมื้อ หรือ 2 มื้อเท่านั้น บางวันก็ไม่ได้ทานเลย บางครั้งกระหายน้ำมากจนแทบจะขาดใจก็มี
7. “เส้นทางที่เดิน เป็นที่ไหนบ้าง?”
.
.
เส้นทางที่เดินไม่ใช่ถนนสายหลัก เพราะถนนสายหลักเต็มไปด้วยรถรา ผู้คน ความวุ่นวาย ทำให้เจริญสติได้ไม่ง่ายเลย
 
ทางที่เดิน จึงเป็นถนนสายรองที่เงียบสงบ แต่โอกาสของการพบเจอผู้คน ก็จะน้อยกว่าด้วย
8. “ทำไมไม่บวชเป็นพระ แล้วจึงออกเดิน?”
.
.
การออกเดินแบบสมณะ ย่อมได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง ซึ่ง อ.ประมวล ประสงค์การเติบโตทางภายในในฐานะของปุถุชน เพื่อเรียนรู้เรื่องความเมตตาของมนุษย์ จึงไม่ต้องการให้อาภรณ์ของพระสงฆ์มาเป็นเกราะคุ้มภัยใดๆ ทั้งสิ้น
9. “ติดต่อภรรยาที่บ้านได้อย่างไร?”
.
.
อาจารย์ไม่ได้พกโทรศัพท์มือถือไปด้วย จึงเลือกที่จะเขียนจดหมายกลับมาให้ภรรยาบ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้
 
บางครั้งที่เจอคนรู้จักโดยบังเอิญ (ซึ่งน้อยมาก) ก็อาจได้โทรศัพท์กลับไปหาภรรยา เพื่อให้คลายความเป็นห่วงไปได้บ้าง
10. “การเตรียมใจของ อ.ประมวล”
.
.
การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ เป็นการฝึกตนทั้งของ อ.ประมวล และภรรยาที่เป็นที่รัก
 
ท่านใช้ร่างกายในการเดินทางภายนอก และใช้การปฏิบัติธรรมระหว่างเดิน ในการเดินทางกลับมาภายใน
 
ท่านไม่ได้คาดหวังว่าจะมีใครเข้าใจ แต่ผู้คนที่พบล้วนเข้าใจ ประทับใจ และเป็นกำลังกาย กำลังใจเพื่อส่งให้ท่านเข้าใกล้จุดหมายไปทีละนิดๆ
 
อย่างไรก็ดี ท่านและภรรยาได้เตรียมใจไว้แล้ว หากมีเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจทำให้ท่านต้องสูญเสียชีวิต ก็จะไม่เสียใจ หรือเสียดายเลย
บทส่งท้าย….
.
ผมรู้จัก อ.ประมวล ผ่านการดูยูทูปหลายครั้ง ชอบฟังแนวคิดที่จริงใจ จริงจัง ทว่าสงบเย็น สบาย และเคยได้ยินท่านเล่าเรื่องการเดินทางกลับบ้านจากเหนือสู่ภาคใต้นี้มาบ้างแล้วครับ แต่ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อน
 
จนเห็นว่าเพจ “Wake Up: สื่อปลุกใจ” มีขายด้วย
 
ปกติร้านนี้จะจำหน่ายหนังสือมือ 1 ครับ มีเพียงเล่มนี้ที่เป็นมือ 2 และผมก็ไม่ลังเลที่จะซื้อ เพราะคิดว่าคงคุ้มค่าอย่างแน่นอน
 
.
ไม่ผิดหวังเลยครับ...
 
เป็นอีกเล่มที่มีความหนาเกิน 500 หน้า แต่วางไม่ลง เพราะอ่านเพลิน สนุกมาก กับการได้เอาใจช่วยทุกย่างก้าวของอาจารย์ แม้จะรู้ดีว่าตอนจบเป็นยังไง ก็ยังมีหลายครั้งที่น้ำตาซึม จาก “สัจธรรม” ที่อ่านพบในหนังสือครับ...
อาจารย์ต้องพานพบ อุปสรรค ความท้าทายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายที่ใช้งานมาเกิน 50 ปีแล้ว อาหาร โดยเฉพาะน้ำดื่ม ที่จำเป็นมาก สำหรับอากาศร้อนจัดแบบบ้านเรา ล้วนสอนบางอย่างให้ท่านอยู่ตลอดเวลา
.
.
มีบางครั้งที่ผู้คนเกิดความกังวล และหวาดกลัว เมื่อเห็นคนแปลกหน้าย่ำเท้ามาในหมู่บ้านของเขา บางคนก็มองว่าอาจารย์สติไม่ดี ไม่อยากเสวนาด้วย
 
แต่ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อได้คุยกันแล้วก็จะเปลี่ยนความคิดไปทันที
 
พวกเขาพร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือทั้งอาหาร น้ำดื่ม ที่พัก ยานพาหนะ ส่วนใหญ่อาจารย์ยินดีที่จะรับ แต่ถ้าเป็นเงิน จะก็ได้รับการอธิบาย และปฏิเสธอย่างสุภาพแทน
เมื่ออ่านจบ ผมกลับมาขบคิดว่า ทำไมท่านจึงได้รับความช่วยเหลืออยู่เสมอ แม้บางครั้งแทบจะเจียนตายทีเดียว โดยจะมีแพทเทิร์นประมาณนี้ครับ
.
.
1)ความเป็น “อาจารย์” ทำให้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็น ว่าเพราะเหตุใดท่านจึงออกมาเดินเท้าแบบนี้
 
.
2) ผู้คนสัมผัสได้ ว่าอาจารย์เป็นปราชญ์ ด้วยการพูดจา ความรักเมตตา การถ่อมตัว ถ่อมใจ จากเพียงการได้พูดคุยระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้หลายๆ คนเปิดใจ
 
.
3) ความไม่ถือตัว ถือยศฐา บรรดาศักดิ์ ว่าฉันนี่ยิ่งใหญ่ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง หาก อ.ประมวล ยินดีให้ทุกคนและทุกสิ่ง เป็นครูของท่าน ไม่ว่าจะเป็น พระสงฆ์ ข้าราชการ ชาวบ้าน คนเลี้ยงวัว คนไร้บ้าน หมาขี้เรื้อน กระทั่งไส้เดือนตัวเล็กๆ
 
.
4) อาจารย์ไม่เคยเรียกร้องขออะไร จากใครทั้งสิ้น ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เมตตาของผู้อื่น นั่นเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เป็นผู้ให้
 
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้คนได้มอบ “ทาน” อันบริสุทธิ์ และได้รับ “บุญ” อันบริสุทธิ์ กลับมาเช่นเดียวกัน
 
.
5) มนุษย์ทุกคน ล้วนมียีนส์ที่ต้องการการผจญภัย การเรียนรู้ เติบโต
 
ลึกๆ แล้ว พวกเราอยากจะออกก้าวเดินแบบอาจารย์บ้าง แต่เราทำไม่ได้ ด้วยความจำเป็นและหน้าที่ของชีวิต ชาตินี้พวกเราอาจไม่ได้ทำเลยก็ได้
 
เมื่อเราเห็นใครบางคน กล้าหาญที่จะลุกมาทำบางสิ่งที่แตกต่างเพื่อการเติบโตภายใน เราจะ “รู้สึก” และ “เชื่อมโยง” กับเสียงร่ำร้องในกายของเราเอง
 
ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ พี่ตูน บอดี้สแลม หรือจะเป็นใครก็ตามอีกในอนาคต
 
หรือกระทั่งการใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า...
 
เรายินดีที่จะสนับสนุนพวกเขา เราพร้อมที่จะช่วยให้เขาบรรลุทุกสิ่งที่ปรารถนา เพราะนั่น เท่ากับเราเองก็เติบโตไปเช่นเดียวกัน
หนังสือยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ สมแล้วที่ได้รางวัลมาอย่างมากมาย เป็นหนึ่งในเล่มที่สุดยอดที่สุดที่ผมอ่านในปีนี้ครับ!
 
ขอบคุณทุกๆ ท่านนะครับ แล้วพบกันใหม่เล่มต่อไปคร้าบ…
.
.
ซิม
24 เม.ย. 62
ติดตามรีวิวเล่มใหม่ที่ เพจ Books for Life ครับผม
โฆษณา