27 เม.ย. 2019 เวลา 06:46 • ประวัติศาสตร์
หนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ลงข่าวการตายของบุคคลผู้หนึ่ง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมในปีนั้น อายุ 61 ปี
บุคคลผู้นี้ชื่อนายฟรานซิศ จิตร
หนังสือรายงานว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ร.ศ. 110 นายฟรานซิศ จิตร ป่วยเป็นอหิวาตกโรค หมอชูเชลยศักดิ์ (หมอเชลยศักดิ์แปลว่าหมอนอกทะเบียน) รักษาโดยประกอบยาให้กิน อาการยังทรงอยู่ วันรุ่งขึ้นเปลี่ยนให้หมอเทียนฮี (หมายถึงหมอเทียนฮี้ ต้นตระกูลสารสิน) รักษา อาการไข้จากอหิวาตกโรคหาย รับประทานอาหารได้บ้าง ต่อมาเกิดอาการลมอัมพาต แขนขาข้างด้านซ้ายตายไปซีกหนึ่ง เพ้อคลั่งไม่ได้สติ อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม เวลาสี่ทุ่มเศษ นายฟรานซิศ จิตร ก็ถึงแก่กรรม ได้รับพระราชทานผ้าขาวสองพับ เงิน 100 เฟื้อง ขุนฉายาสาทิศกร บุตรชาย เป็นผู้จัดการศพ
ใครคือนายฟรานซิศ จิตร?
ฝรั่ง? คนไทย?
…………………
หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1865 หน้า 55 ปรากฏโฆษณาข้อความว่า
“อนึ่ง มิศฟะรันซิศจิต, เปนพนักงานสำหรับชักเงารูป ปราถนาจะให้คนในกรุงนอกกรุงเข้าใจว่า, ตัวนั้นอยู่ที่แพ้ (เอนก นาวิกมูล หมายเหตุไว้ว่าน่าจะพิมพ์ผิด ใส่ไม้โทเกินมา) น่าบ้านกะดีจีน, ได้เป็นพนักงานสำรับชักเงารูปต่างๆ. รูปที่ได้ชักไว้แล้วนั้น, ก็มีหลายอย่าง, คือรูปวัง, แลรูปวัด, รูปตึก,รูปเรือน, แลรูปเงาต้นไม้, แลรูปท่านผู้มีวาศนาต่างๆ ในกรุงเทพนี้. ถ้าท่านผู้ใดปราถนา, จะให้ข้าพเจ้าไปชักเงารูปที่บ้านของท่าน ข้าพเจ้าก็จะไปทำ, ราคาค่าจ้างนั้น จะเอาแต่อย่างกลางภอสมควร.”
คำว่า มิศฟะรันซิศ คือ Mister Francis
มิศฟะรันซิศก็คือ ฟรานซิศ จิตร เป็นช่างชักเงารูปมืออาชีพ (ก็คือช่างถ่ายรูป)
ในศตวรรษที่ 19 การถ่ายรูปยังเป็นของใหม่สำหรับคนไทย การถ่ายรูปแบบตะวันตกเริ่มต้นในเมืองสยามเมื่อปี พ.ศ. 2388 แนะนำโดยบาทหลวงลาร์โนดีและสังฆราชปาเลอกัว
จากบันทึกประวัติศาสตร์ บาทหลวงหลุยส์ ลาร์นอดี (L’ abbe Larnaudie) เดินทางถึงประเทศสยามในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2388 นำกล้องและอุปกรณ์การถ่ายรูปต่างๆ เข้ามา เป็นครั้งแรกที่วิชาการถ่ายรูปมาถึงเมืองไทย
บาทหลวงหลุยส์ ลาร์นอดี มีความรู้กว้างขวาง รู้เรื่องไฟฟ้า นาฬิกา การถ่ายรูป การโทรเลข การชุบโลหะ เครื่องจักรกล เคยเป็นล่ามให้คณะราชทูตไทยที่ไปฝรั่งเศสสองครั้ง (พ.ศ. 2404 กับ พ.ศ. 2410)
เวลาที่บาทหลวงลาร์โนดีมาถึงไทยนั้น นายจิตรอายุราว 15 ไม่มีบันทึกว่านายจิตรเรียนการชักเงารูปเมื่ออายุเท่าใด เรารู้เพียงว่า นายจิตรเรียนวิชาการถ่ายรูปจากบาทหลวงลาร์นอดี และอาจจะได้เรียนกับนายจอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวอังกฤษผู้เดินทางมาสยาม ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะทรงพระเยาว์
ตามบันทึก คนไทยคนแรกที่เรียนวิชาถ่ายรูปคือพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา (ต้นสกุลนิลรัตน์) และนายฟรานซิศ จิตร
ในบรรดาช่างชักเงารูปสามคนนี้ นายจิตรฝากผลงานไว้มากที่สุด ทั้งรูปคน รูปสถานที่ รูปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 นับได้หลายร้อยภาพ คุณภาพเทียบได้กับช่างชักเงารูปต่างประเทศ
และเป็นช่างชักเงารูปอาชีพคนแรกของไทย
…………………
นายจิตรเกิดปี พ.ศ. 2373 รัชกาลที่ 3 บิดาชื่อตึง เป็นทหารแม่นปืนฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ไม่ทราบชื่อมารดา ไม่มีประวัติวัยเด็ก
นายจิตรเป็นคนไทยและเป็นคาทอลิก จึงได้รับนามตามชื่อนักบุญฟรานซิส เป็นที่มาของนาม ‘มิศฟะรันซิศจิต’
หลังจากชักเงารูปจนเชี่ยวชาญ นายจิตรกับบุตรชายก็เปิดร้านถ่ายรูป ชื่อ ฟรานซิศจิตร แอนด์ ซัน ก่อตั้งในปี 2406 (สมัยรัชกาลที่ 4) ที่กฎีจีน (บางทีเขียนกระดีจีน) ก็คือพื้นที่แถวโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นโบสถ์คาทอลิกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี อยู่ใกล้วัดกัลยาณมิตร
ร้านถ่ายรูปของนายจิตรตั้งบนเรือนแพหน้าโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นห้างชักเงารูปร้านแรกของสยาม
พื้นที่แถบโบสถ์ซางตาครู้สสมัย 150 ปีที่แล้วเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร ชาวบ้านอยู่ทั้งบนบกและเรือนแพในน้ำ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ก็อยู่แถวนั้น พิมพ์หนังสือชื่อ คำสอนคริสตัง เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ในเมืองไทยที่ใช้วิธีพิมพ์แทนการเขียน
นายจิตรลงโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น บางกอกรีคอร์เดอร์, จดหมายเหตุสยามไสมย บางกอกไตมส์, เดอะสยามเมอร์แคนไตล์กาเซท์ เป็นต้น
ยกตัวอย่างโฆษณาในหนังสือพิมพ์ The Bangkok Times ฉบับวันพุธที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) แปลจากภาษาอังกฤษได้ว่า
“ห้องภาพ ก่อตั้งปี ค.ศ. 1863
เอฟ. จิตร และบุตร
(จากเบนเกและคินเดอร์มานน์ ฮัมบูร์ก)
กระฎีจีน (ซังตาครูซ) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ (ตรงข้ามกับรอแยล เซมินารี)
ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นช่างภาพหลวงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม
รับถ่ายรูปทุกวันตั้งแต่เวลา 7 ถึง 11 พี.เอ็ม.
มีรูปทิวทัศน์จากทุกภาพของสยามไว้จำหน่ายเสมอ ตลอดจนรูปคนที่มีชื่อเสียงชาวสยามและรูปชีวิตชาวสยาม”
เบนเกและคินเดอร์มานน์คือช่างภาพชาวเยอรมันที่นายทองดี บุตรชายนายจิตรไปเรียนวิชาถ่ายภาพที่เมืองฮัมบูร์ก จึงนำมาเป็นจุดขาย
นอกจากทำกิจการส่วนตัวแล้ว นายจิตรยังรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรชิตภูบาล ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละห้าตำลึง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้า) สวรรคตใน พ.ศ. 2409 นายจิตรก็รับราชการกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ มีหน้าที่ถ่ายรูป ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละหนึ่งชั่งห้าตำลึง เป็นคนแรกที่ได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์เดินทางขึ้นไปถ่ายรูปพื้นที่แถววัดพนมวันและของเก่าในแขวงเมืองพิมาย เพื่อทำแผนที่ ให้พระยาสระบุรีและพระยานครราชสีมาดูแลจัดการอำนวยความสะดวก
ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์เดินทางไปพร้อมลูกมือสองคน บ่าวเจ็ดคน ขนหีบเครื่องมือ หีบน้ำยาไปหลายหีบ เมื่อเดินทางถึงสระบุรี พระยาสระบุรีสั่งการให้กรมการเมืองจัดช้างและเกวียน ส่งขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ไปถึงนครราชสีมา ครั้นถึงนครราชสีมาแล้ว พระยานครราชสีมาก็จัดช้างเป็นพาหนะ สั่งการให้กรมการเมืองพานายจิตรไปถ่ายรูปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา หลังจากถ่ายรูปเสร็จแล้ว ก็จัดช้างและเกวียนส่งตัวไปสระบุรี และกลับเมืองหลวง
…………………
ในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณว่าจะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศสยาม ณ หมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงโปรดให้ตั้งพลับพลาเพื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่นั่น
นายจิตรตามเสด็จรัชกาลที่ 4 ไปถ่ายสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะช่างภาพหลวง
เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงดังที่ทรงได้คำนวณไว้ทุกประการ
ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนบันทึกเหตุการณ์นี้ ตีพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท เล่ม 3 ตอน 6 ฉบับวันเสาร์ที่ 20 มกราคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ดังนี้
“สุริยุปราคาครั้งนี้เปนการประหลาดในท้องฟ้าอากาศ จับเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนสิบ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุฬศักราช 1230 ปี ได้เห็นที่ตำบลหัววานในอ่าว ทะเลสยามฝั่งตวันตกชื่ออ่าวแม่รำพึง แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าวอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตร พร้อมด้วยนักปราชญ์ชาวยุโรปหลายพวก มาสโมสรสันนิบาตประชุมพร้อมกัน คอยดูสุริยุปราคาอยู่ที่นั่นเปนอันมาก จึ่งทรงพระกรุณาโปรฎเกล้าฯให้ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ (จิตร) ช่างถ่ายรูปหลวง ถ่ายรูปสุริยุปราคาเมื่อจับสิ้นดวงพระอาทิตย์ดุจดั่งเช่นรูปในเล่มนี้ไว้ในวันนั้น เวลาเช้า 5 โมง 40 นาที”
ภาพถ่ายสุริยุปราคาแสดงให้เห็นว่านายจิตรสามารถถ่ายภาพเกี่ยวกับดาราศาสตร์ได้ด้วย เนื่องจากการถ่ายภาพราตรีนั้นยาก แม้ในสมัยปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯประทับอยู่ที่หว้ากอเป็นระยะเวลาเก้าวัน จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเริ่มมีพระอาการประชวรจับไข้ ทรงทราบว่าพระอาการประชวรครั้งนี้คงจะไม่หาย
เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ในพระบรมมหาราชวัง พระชนมายุ 64 พรรษา
นายจิตรยังคงรับราชการเป็นช่างภาพหลวงต่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ช่วงปี พ.ศ. 2414-2415 นายจิตรตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสิงคโปร์ ปัตตาเวีย พม่า และอินเดีย ทำหน้าที่ถ่ายรูป
ในปี พ.ศ. 2423 ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป ดูแลโรงแก๊ส พระราชทานเบี้ยหวัดปีละหนึ่งชั่งกับสิบตำลึง
นายจิตรเดินทางไปทั่วสารทิศเพื่อถ่ายรูป เขาถ่ายรูปคนทั่วไป สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ เพื่ออัดรูปมาขาย เช่น วัดอรุณราชวราราม พระสมุทรเจดีย์ เรือนไทยริมน้ำ ปราสาทหิน พระราชวังบางปะอิน พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งต่างๆ วัดพระแก้ว ไปจนถึงภาพชีวิต เช่น ชีวิตริมน้ำ เรือพายขายของ รูปเด็กผมจุกนั่งบนเรือนแพริมน้ำ คนเป่าปี่ ช่างฟ้อน ฯลฯ
ผลงานของเขามีตราประทับ ฟรานซิศจิตร บ้าง ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ บ้าง ฟรานซิศจิตร แอนด์ ซัน บ้าง
ในช่วงเวลาสองแผ่นดิน นายจิตรถ่ายรูปไว้จำนวนมากกว่าช่างภาพคนอื่นๆ ในประเทศ
ในปี พ.ศ. 2542 มีข่าวเผยว่าผลงานบางชิ้นของนายจิตรถูกช่างภาพต่างประเทศนำไปอ้างว่าเป็นของตน
…………………
ประวัติศาสตร์ท่อนนี้บอกเราว่า เมื่อราวหนึ่งร้อยห้าสิบปีที่แล้ว ช่างชักเงารูปชาวไทยคนหนึ่งฝากผลงานไว้ในประวัติศาสตร์ บันทึกภาพที่บอกเล่าชีวิตของคนไทยในยุคนั้น และบันทึกเหตุการณ์ ด้วยผลงานที่หลากหลายอย่างยิ่ง
มิเพียงบันทึกภาพ ยังบันทึกชีวิต
มิเพียงบันทึกชีวิต ยังบันทึกประวัติศาสตร์
และด้วยเงารูปเหล่านั้น เราจึงสามารถย้อนเวลาไปดูประวัติศาสตร์ที่เราลืมได้
…………………
หมายเหตุ
- เขียนอ้างอิงจากงานของ เอนก นาวิกมูล เช่น ฟรานซิส. จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่ นิตยสารสารคดี (ปีที่ 17 ฉบับที่ 204 เดือน กุมภาพันธ์ 2545)
- ภาพถ่ายฝีมือนายจิตร รวมทั้งกระจกรูปสุริยุปราคา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
- หลังจากนายจิตรตายไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2456 ตระกูลของเขาได้รับพระราชทานนามสกุล จิตราคนี นายจิตรเป็นต้นสกุล จิตราคนี
- ปัจจุบันโบสถ์ซางตาครู้สยังคงได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี การเดินทางไปโบสถ์ซางตาครู้สอาจนั่งเรือข้ามฟากจากท่าปากคลองตลาด ข้างโรงเรียนราชินี
…………………
เครดิต โดย วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา