Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Suthut Chamchuen
•
ติดตาม
2 พ.ค. 2019 เวลา 02:29 • ประวัติศาสตร์
12 พระอัครมเหสีแห่งราชวงศ์จักรี 9 รัชกาล
ตอนที่1 🙏🙏🙏
1.สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หรือ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระนามเดิม นาก หรือ นาค เป็นชาวเมืองสมุทรสงคราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงมียศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ใน ร.๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่พระองค์ไม่ทรงยอมใช้ราชาศัพท์กับพระสวามีหรือพระราชโอรสและพระราชธิดาแต่อย่างใด ทรงเรียกพระสวามีว่า “เจ้าคุณ” และเรียกพระราชโอรสว่า “พ่อ” และพระราชธิดาว่า “แม่” โดยพระองค์ทรงยินดีที่จะใช้ภาษาสามัญของคนธรรมดา ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มิได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าแต่อย่างใด ยังคงเป็นท่านผู้หญิงนากตามเดิม มีพระราชบุตรทั้งหมด ๑๐ พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลก่อน ๆ ที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี จึงประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่เป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”
2.สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒
พระนามเดิมว่า “บุญรอด” หรือ “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด” มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระสวามี) แม้พระองค์จะทรงมีเชื้อสายจีนจากบิดา แต่ก็ทรงมีพระฉวีค่อนข้างคล้ำ มักถูกเปรียบเปรยว่าทรงเป็น “จินตหรา” จากวรรณคดีเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ของพระราชสวามี และทรงมีฝีมือในกิจการเครื่องต้น ทรงประกอบอาหารคาวหวานได้อย่างประณีตและมีรสโอชา เป็นที่ต้องพระทัยของ ร.๒ ยิ่งหนัก ทรงแอบลักลอบไปมาหาสู่เจ้าฟ้าบุญรอดอยู่บ่อยครั้ง จนทรงพระครรภ์ได้ ๔ เดือน ความทราบถึง ร.๑ ก็ทรงกริ้วนัก แต่เมื่อ ร.๒ เข้าเฝ้าเพื่อขออภัยโทษ และได้ให้สัตย์ปฏิญาณว่า “จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าฤๅเสมอเท่าเจ้าฟ้าบุญรอด” จึงทรงยอมมอบเจ้าฟ้าบุญรอดให้
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงต้องพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระขนิษฐาต่างพระมารดา เป็นเหตุทำให้เจ้าฟ้าบุญรอดทรงน้อยพระทัย ไม่เข้าเฝ้า ร.๒ อีกเลย จนกระทั่งวันที่พระราชสวามีเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าบุญรอดมีพระราชโอรสทั้งสิ้น ๓ พระองค์ และได้เป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติด้วยกันถึง ๒ พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชา และมีพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในรัชกาลที่ ๒
ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า “เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี” เปรียบเสมือนเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมีศักดิ์เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ จอมมารดาเจ้าทองสุก (เชื้อสายเจ้าพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์) มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี” แม้ว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะทรงสนิทเสน่หาในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ก็มิได้ทรงยกย่องหรือสถาปนาพระยศแต่งตั้งพระนาง รวมถึงพระโอรสกับพระธิดาแต่อย่างใด เนื่องจากถือสัตย์ที่เคยให้ไว้ว่าจะไม่ทรงยกย่องใครเหนือกว่า “เจ้าฟ้าบุญรอด” (พระอัครมเหสีฝ่ายขวา)
หลังจาก ร.๒ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เจ้าฟ้ากุณฑลผู้เป็นพระชายาก็ทรงชุบเลี้ยงเซา ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่เปิดเผยผิดจากปรกติขึ้นเท่าไร กล่าวกันว่า เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นเปรียบเหมือน “นางบุษบาวตี” ในพระราชนิพนธ์อิเหนา และแน่นอนว่า “นางจินตหรา” คือ เจ้าฟ้าบุญรอด นั่นเอง พระองค์ประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ (สิ้นพระชนม์) คนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยินใครเรียกว่า เจ้าฟ้า หรือ ทูลกระหม่อมฟ้าแต่อย่างใด เมื่อสิ้นร.๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเจ้าฟ้าพระราชโอรส ๓ พระองค์ต่อมาด้วยความลำบากอย่างยิ่ง
4.สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในรัชกาลที่ ๔
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ ๓ ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า และได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระนางนาฎบรมอัครราชเทวี” ของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๑๗-๑๘ พรรษา นับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรก แต่ก็ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศอยู่เพียง ๙ เดือนเท่านั้น ก็เสด็จสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ คือ “สมเด็จเจ้าฟ้าโสมนัส”
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สร้าง “วัดโสมนัสราชวรวิหาร” เพื่อพระราชอุทิศให้แก่พระองค์ ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ออกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี” ตามที่ทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๔ หากแต่มิได้เป็นพระราชชนนีในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มาเท่านั้นเอง
5.สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔
พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้ารำเพย ศิริวงศ์ พระมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์อยู่ในช่วงวัยเยาว์ ได้เข้ามาฝึกหัดการถวายงานพัด และพระองค์ก็สามารถพัดได้ถูกพระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่หม่อมเจ้าหญิงนี้ว่า “รำเพย” อันมีความหมายว่า “ลมเย็นที่พัดค่อย ๆ อ่อน ๆ” หลังจากนั้นได้ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา
ทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระยศเป็น “พระองค์เจ้า” พระราชทานพระนามว่า รำเพยภมราภิรมย์ และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์” มีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด ๔ พระองค์ เป็นพระราชมารดาในรัชกาลต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ และในรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”
6.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕
พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือที่ชาวบ้านขนานพระนามว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม” พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม ทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการและรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไป ทำให้เป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี”
พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม พร้อมกับพระราชธิดา และพระราชบุตรในครรภ์ ที่อายุเพียง ๕ เดือน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย / คลังประวัติศาสตร์
3 บันทึก
8
1
13
3
8
1
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย