3 พ.ค. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกลืม ตอนที่ 4
นักศึกษาผู้ขยันเกินคน
หลังจากได้รับจดหมายตอบที่ชวนสงสัยแล้ว นิโคลาก็ตัดสินใจรีบเดินทางกลับ Gospić และนิโคลาก็พบคำตอบที่เขาสงสัยแลัว
1
สาเหตุที่พ่อแม่ของเขาไม่อยากให้เขารีบกลับ เนื่องจากในเมือง Gospić เวลานั้น เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงถึงตายในสมัยนั้น
และเพียงแค่กลับมาบ้านวันแรก นิโคลาก็ติดอหิวาซะแล้ว
1
นิโคลาต้องนอนซมอยู่บนเตียงเป็นเวลาถึง 9 เดือน และอาการก็มีแต่ทรุดกับทรุด ซึ่งพ่อแม่ของเขาก็ใจไม่ดี เนื่องจากเดน ลูกชายคนโต พี่ชายของนิโคลาก็เสียชีวิตไปแล้ว พวกเขาไม่อยากเสียนิโคลาไป
ในวันหนึ่ง ขณะที่นิโคลาป่วยปางตาย มิลยูทิน พ่อของเขาเฝ้าเขาอยู่ข้างเตียง
นิโคลากล่าวกับพ่อของเขาว่า “หากพ่อยอมให้ผมเรียนวิศวะ ผมอาจจะดีขึ้นก็ได้”
“แกจะต้องได้เป็นวิศวกร ได้ยินมั้ย แกจะต้องไปเรียนในโรงเรียนวิศวกรรมที่ดีที่สุดในโลกและแกจะต้องเป็นวิศวกรที่เก่งที่สุด” คือคำตอบของมิลยูทิน
ด้วยคำตอบนี้เองครับ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น
นิโคลาอาการดีขึ้นอย่างมาก ไม่ถึงอาทิตย์ เขาก็สามารถลุกขึ้นนั่งได้แล้ว ไม่ถึงอาทิตย์ต่อมา เขาก็สามารถลุกเดินได้ และหายเป็นปกติในที่สุด
1
เดือนกันยายน ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) ขณะมีอายุได้ 19 ปี นิโคลาก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันโพลิเทคนิค ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกราซ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย
หลังจากเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย นิโคลาก็ตั้งใจเรียนอย่างมาก
เขามักจะตื่นนอนตั้งแต่ตีสาม เข้านอนห้าทุ่ม และตลอดชีวิตของนิโคลา เขาเคยกล่าวว่าตลอดชีวิตของเขานั้น เขานอนแค่วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง
ในปีแรกที่นิโคลาเข้ามหาวิทยาลัย เขาลงทะเบียนเรียนกว่า 9 วิชา ซึ่งมากกว่านักศึกษาคนอื่น เขาเรียนทั้งฟิสิกส์ พฤกษศาสตร์ เคมี รวมถึงภาษาต่างๆ
นิโคลาไม่เคยขาดเรียนเลย เขามักจะได้คะแนนสูงที่สุดในชั้น แถมยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมวัฒนธรรมเซอร์เบียอีกต่างหาก
ในปีที่ 2 ของการศึกษา นิโคลาเริ่มโฟกัสที่วิชาวิศวกรรม ลงทะเบียนเรียนแค่ฟิสิกส์ เครื่องกล และคณิตศาสตร์
ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 นี้เอง มหาวิทยาลัยของนิโคลาได้สั่งเครื่องจักรมาจากปารีส เครื่องจักรนี้จะบังคับให้กระแสไฟฟ้าไหลไปทางเดียว ซึ่งนี่เรียกว่า “ไฟฟ้ากระแสตรง”
1
นิโคลาได้แย้งศาสตราจารย์ในชั้นเรียนว่าจะเป็นการดีกว่า หากปล่อยให้กระแสไฟฟ้าไหลไปกลับ เนื่องจากไฟฟ้ากระแสตรงนั้น ยิ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดมากเท่าไร ก็จะยิ่งเสียพลังงานมากเท่านั้น การปล่อยให้กระแสไฟฟ้าไหลไปกลับจะทำให้ไม่สูญเสียพลังงาน ซึ่งนี่เรียกว่า “ไฟฟ้ากระแสสลับ”
1
ไฟฟ้ากระแสสลับไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะนำไฟฟ้ากระแสสลับมาใช้กับเครื่องจักรได้ยังไง
นิโคลาได้เริ่มแสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับศาสตราจารย์ จะเป็นอย่างไรต่อไป เขาจะคิดถูกหรือไม่ ผมจะมาเล่าต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา