9 พ.ค. 2019 เวลา 06:23 • ปรัชญา
“ทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย”
ประโยคอมตะที่ผมได้ยินมาแต่เด็ก และก็เคยพบเป็นกับตนเองมาด้วยโดยตรง
เรื่องคือ ด้วยความเป็นเด็กนักเรียนจบนอกด้วยอายุยังน้อย ตอนนั้นจบป. โท สองใบ จากต่างประเทศด้วยอายุ 22 ปี แล้วได้รับโอกาสในการบริหารงานในระดับสูงจากพี่ผู้ใหญ่ที่เราเคารพมากๆ เราก็คะนองว่า ช่วงสองปีแรกทำงานไหนก็สำเร็จ จับอะไรก็เรียกว่าเป็นผลงาน จนตนเองโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยคงามคะนองตน จึงโดนขัดขา และพลาดท่าจนตอนนั้นเสียขวัญไปยกใหญ่ เปรียบเสมือนอิคารอส ที่เหิมเกริมบินขึ้นสูงจนโดนความร้อนละลายปีกจนตกลงสู่พื้นดิน
ผ่านมากว่า 5 ปี ที่ตนโดนเหตุการณ์นั้นเข้า ลองนึกย้อนดูแล้วรู้สึกว่า ผมผิดตรงไหน ทำดีแล้วมันจะเด่นขึ้นมา จะผิดอะไร? เลยไปนึกย้อนหาที่มาของประโยคอมตะนี้ สรุปได้ว่า ผู้ประพันธ์คือ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)
หลวงวิจิตรวาทการ เป็นนักประพันธ์ และข้าราชการผู้มีบทบาทอย่างมากช่วงจอมพลสฤษดิ์ และจอมพล ป. และเกือบโดนข้อหาอาชญากรรมสงครามหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งบทประพันธ์ส่วนใหญ่ของท่านจะเป็นช่วงหลังจากการพ้นโทษในครั้งนี้
หลักจากไปนั่งไล่อ่านกลอนหลายบทของท่าน แม้จะหาไม่พบว่าแต่งช่วงไหน แต่สิ่งที่รับรู้ได้คือ ท่านเก่งเรื่องการประพันธ์ในแนวปลุกใจมากๆ และอีกอย่างที่น่าสนใจคือการแฝงแนวคิด ปรัชญา มีกลอนหลายตัวที่สอนเรื่องคิดให้ดีก่อนจะทำอะไร เพราะทุกอย่างมีสองด้านเสมอ คนเห็นได้ทั้งดำขาว เช่นบทนึงที่ผมชอบมาก
“เมื่อมีร้อนมีเย็นเป็นเครื่องแก้ เมื่อมืดแท้แล้วก็มีสว่าง
ถึงครื้มฟ้ามัวฝนทุกทิศทาง เมื่อเมฆจางก็จะกลับเห็นแสงจันทร์”
และแน่นอน บทประพันธ์ที่มาของประโยคอมตะ
“อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”
จากช่วงชีวิตและการทำงานของท่าน ผมกลับรู้สึกว่าบทประพันธ์นี้อาจจะเป็นการเหน็บถึงคนรอบข้างก็เป็นได้ เพราะต้องบอกว่าท่านเป็นบุคคลนึงที่เติบโตได้ไวมาก ช่วงอายุ 20-30 ปี ไปประจำอยู่สถานทูตไทยในหลายประเทศ กลับมาก็ได้รับตำแหน่งจนถึงระดับเทียบเท่าปลัดสำนักนายกฯ และเคยเป็นระดับรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ท่านน่าจะต้องเคยเจอปัญหาเพราะเรื่องความสามารถและโดดเด่นของตนเองมาบ้าง
แล้วทำไมเราจะเด่นไม่ได้หล่ะ? ประโยคนี้มันกลายเป็นประโยคที่ดึงหลังเด็กไทยไว้หรือเปล่า? “เก่งได้นะ แต่อย่าเด่น!” มันทำได้เด็กๆกลัวแม้แต่การยกมือตอบคำถามในห้องเรียนหรือเปล่า? คำว่า “อย่าเด่น” มันช่างดูปิดกั้นตัวตนของเราเสียเหลือเกิน
ญี่ปุ่นมีประโยคที่คล้ายกัน ประมานว่า “ช่างไม้มักตอกตะปูที่โผล่ออกมา” ซึ่งเปรียบว่า คนที่พยายามทำตัวออกนอกหน้ามักโดนคนอื่นกลั่นแกล้ง หรือรังเกียจจากสังคม แต่รู้สึกไหมว่ามันเปรียบได้แตกต่างกันเหลือเกิน ญี่ปุ่นไม่ได้บอกว่า ดี+เด่น จะโดนรังเกียจนะ แต่แค่ว่าถ้าทำตัวออกนอกหน้า จะโดนรังเกียจ
มองไปในภาพใหญ่ขึ้น ดี+เด่น=ภัย มันกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกไหม ว่าสังคมของเราไม่ยอมรับคนดี? จะดี ก็ดีอยู่เฉยๆ มันมีความเนาแฟะของสังคม ที่เราควรจะดีอยู่เงียบๆ หรือเปล่า? ผมว่าหลวงวิจิตรพยายามจะสะท้อนถึงสังคมที่เราอยู่ มากกว่าที่จะสอนเราว่า “ห้ามเด่น”... กลอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาไว้บอกคนดี ว่าอย่าทำอะไรออกนอกหน้า แต่เพื่อบอกคนริษยาว่า “เค้าทำดีแล้ว คุณจะไปกลั่นแกล้งเค้าทำไม?” มากกว่า
ถ้าลูกโตขึ้น ผมก็คงสอนลูกว่า การทำดีนั้น ทำไปเถอะ ถ้าการทำดีจะทำให้เราเด่น ก็ช่างมันเถอะ แต่ให้รู้ไว้ว่า วันใดที่เจอคนเก่งกว่า เด่นกว่า ลูกอย่ารังเกียจหรืออิจฉาเค้า แต่จงจำไว้ว่าลูกต้องเรียนรู้จากการกระทำของเขา ถ้าทุกคนเห็นลูกแล้วทำตาม สังคมไทยของเราจึงเจริญ
โฆษณา