10 พ.ค. 2019 เวลา 09:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เคยสงสัยไหม ทำไมปัจจุบัน EGAT (กฟผ.) หรือภาครัฐ ไม่ค่อยอยากสนับสนุน solar cell เท่าไรนัก
ในวันที่ประเทศไทยร้อนตับแตก แสงแดดแผดเผาขนาดนี้ หลายคนคงเคยคิดใช่มั้ยคะ ว่าถ้าประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลักก็น่าจะดี แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น วันนี้จะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ค่ะ
ก่อนอื่นขอพูดถึงระบบไฟฟ้าของประเทศไทยเราก่อนนะ
ประเทศเราใช้ไฟฟ้าที่แรงดัน 220 โวลท์(V) ความถี่ 50 เฮิรตซ์(Hz) โดยระบบไฟฟ้าทั้งประเทศจะเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยความถี่เป็นหลัก (เอาลึกแค่นี้ก่อนละกันเดี๋ยวงง)
ทีนี้โรงไฟฟ้าทั่วประเทศก็จะผลิตไฟฟ้า ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศตลอดเวลา (ไม่สามารถผลิตเอาไปเก็บไว้ก่อนได้)
เมื่อไหร่ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น มากกว่ากำลังผลิต ความถี่ก็จะตกลงต่ำกว่า 50Hz ทำให้ต้องเพิ่มกำลังผลิต
เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง หรือผลิตได้มากกว่าที่ใช้เยอะๆ ความถี่ก็จะพุ่งสูงขึ้นกว่า 50Hz ทำให้ต้องลดกำลังผลิตลงมา
โดยศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) จะเป็นคนคอยควบคุมกำลังการผลิต ให้ความถี่อยู่ระหว่าง 49.5 - 50.5 Hz เพราะถ้าความถี่ต่ำหรือสูงกว่านี้จะทำให้ เกิดปัญหากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้งานได้
ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงรถยนต์ เวลาเราเปิดแอร์ในรถปุ๊ป จะทำให้รอบเครื่องตกไปนิดนึง เพราะแอร์ไปกินกำลังเครื่อง ทำให้ความถี่(รอบเครื่อง) ลดลง ecu ก็จะฉีดน้ำมันเพิ่มให้ชดเชยรอบเครื่องขึ้นมาเท่าเดิม ถ้ามีอะไรมากินกำลังเครื่องเร็วเกินไป(เช่นปล่อยครัชไวๆ) รอบเครื่องก็จะร่วงลงเร็วเกินทำให้ ชดเชยรอบเครื่องไม่ทัน รถก็ดับนั่นเอง ในระบบไฟฟ้าก็คล้ายๆกัน ถ้าความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงขึ้นกว่า กำลังผลิตมากๆ ความถี่ก็จะตกจน ไฟดับทั่วประเทศ (blackouts)
กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่าค่ะ ว่าตกลงแล้วพลังงานแสงอาทิตย์นั้นส่งผลเสียอะไรบ้าง (หลักๆ ต้นเหตุคือความไม่แน่นอนของกำลังผลิตที่ได้นั่นล่ะ) ขอแบ่งเป็นข้อๆ ตามผลกระทบนะคะ
2
1. ทำให้โรงไฟฟ้าหลัก ต้องเพิ่มลดกำลังผลิตบ่อยและเยอะขึ้น ตามแสงแดดและสภาพอากาศ เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามามีบทบาทในระบบเพิ่มขึ้น
แล้วเพิ่มลดการผลิตเยอะๆ บ่อยๆไม่ดียังไงล่ะ ? ให้ลองเทียบกับรถยนต์ ระหว่างวิ่งที่ความเร็ว 100km/hr เป็นระยะทาง 100km กับขับแบบเร่งจาก 0 ถึง 160 km/hr แล้วเบรคจนเหลือ 20km/hr แล้วเร่งสลับไปเรื่อยๆ เป็นระยะทาง 100km เท่ากัน คิดว่าใช้น้ำมันเท่ากันมั้ยคะ แบบแรกอาจจะใช้น้ำมันแค่ 6 ลิตรกว่าๆ (อัตราสิ้นเปลือง 16km/l) แบบหลังอาจใช้น้ำมันมากกว่า 10ลิตร (อัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่า 10km/l) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างกันเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมถึงการสึกหรอของเครื่องยนต์ที่มีมากกว่าด้วย
ในมุมของโรงไฟฟ้าก็เหมือนกัน การคงการผลิตนิ่งๆ ย่อมต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการที่ต้องเพิ่มลดการผลิตเยอะๆ บ่อยๆ นั้นทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยสุดท้ายก็มารวมอยู่ในค่า ft ที่เราจ่ายกันนั่นแหละ... (คนใช้ solar ได้ประโยชน์ ส่วนคนอื่นๆ ก็ช่วยกันรับภาระกันไป)
2. ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อเป็นกำลังผลิตสำรองเอาไว้
อย่างที่เล่าไปตอนแรกว่า เราต้องทำกำลังผลิต ให้เท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าเสมอ ทีนี้ถ้ามีพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบเยอะๆ แล้วเกิดพายุเข้าล่ะ? กำลังผลิตในส่วนนี้ก็จะหายไปทันที จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเตรียมพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าชดเชยในส่วนนี้ด้วย ไม่อย่างงั้นความถี่อาจจะตกจนไฟดับทั่วประเทศได้เลย
ทีนี้ สมมติ มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 MW นั่นเราก็ต้องมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานอย่างอื่นขนาดใกล้เคียงกันสำรองไว้เวลาฉุกเฉินเช่นกัน โดยตลอดปีอาจจะได้เดินเครื่องแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นค่าใช้จ่ายที่แพงสุดๆ และทำให้ประเทศที่ใช้พลังงานสะอาด ค่าไฟแพงกว่าเราเยอะเลยล่ะ
3. วางแผนการผลิต และแผนอื่นๆ ยากขึ้น
ในประเทศไทยตอนนี้เริ่มมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีทั้ง solar farm ขนาดใหญ่ ลงมาถึง solar rooftop โดยมีทั้งที่ลงทะเบียน ทั้งไม่ลงทะเบียน ขายไฟเข้าระบบ หรือใช้เองในบ้าน อีกทั้งยังมีคนแอบจ่ายไฟกลับเข้าระบบในมิเตอร์หมุนกลับด้วย ซึ่งทำให้วางแผนยากมากๆ
ทีนี้ ลองนึกภาพว่ามี หมู่บ้านหนึ่งมี 100 units ติด solar rooftop ทุกหลังเลย ปกติหมู่บ้านนี้ใช้ไฟรวมกันไม่เคยเกิน 100kW อยู่ๆ เกิดพายุเข้าหลายวัน solar rooftop ผลิตไฟฟ้าไม่ได้เลย ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1MW ดื้อๆเลย (ไม่ได้ลงทะเบียน solar) ศูนย์ควบคุมที่ไม่ได้มีแผนรองรับไว้ก่อน ก็ต้องหาทางเพิ่มกำลังผลิตให้พอใช้ แถมสายไฟเข้าหมู่บ้านจะรับกระแสไหวมั้ย หม้อแปลงที่ใช้อยู่จะรับโหลดได้รึเปล่า นี่คือความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าใน 1 ปี จะมีเหตุการณ์แบบนี้กี่ครั้ง ลงทุนแก้ปัญหา(ให้หมู่บ้านนี้)ไปจะคุ้มทุนได้ยังไง จะกระทบกับค่าไฟเท่าไหร่
2
4. การควบคุมคุณภาพไฟฟ้า
การที่ผู้ใช้ solar rooftop ใช้ inverter แปลงไฟ DC เป็น AC จ่ายไฟเข้าระบบนั้น รูปคลื่นมันไม่ได้สวยงามเหมือนการผลิตด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แน่นอนตอนติดตั้งต้องมีการตรวจให้ผ่านมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็ยากที่จะลงไปตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้น (เยอะเกิน เจ้าของบ้านก็คงไม่ทำเอง) ซึ่งทำให้ส่งผลต่อคุณภาพไฟฟ้าในระบบได้ (เช่น harmonic) โดยปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของผู้จ่ายไฟเข้าระบบยังน้อย เลยยังไม่ค่อยเจอผลการทบมากนัก ซึ่งถ้ามีมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้เลยล่ะ
5. การไม่สามารถช่วยตอบสนองต่อ peak โหลด
Thailand peak load
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ในช่วง 1-3 ทุ่ม ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในช่วงนั้นได้เลย ทำให้ไม่ว่าเราจะมี solar farm มากแค่ไหน เราก็ยังต้องมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอในช่วงนี้ ไม่ใช่ว่า solar เยอะแล้วจะไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านะ ยังต้องมีเท่าเดิมจ้า
ซึ่งแน่นอน โรงไฟฟ้ามันมีอายุการใช้งาน ถ้า solar เยอะๆ กลางวันใช้ solar โรง fossil เดินเครื่องเฉพาะช่วง peak หารเฉลี่ยค่าก่อสร้างลงมานี่ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยทะลุโลก
6. การก่อให้เกิด duck curve
1
Duck curve Ex
บางประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เยอะๆ จะเริ่มเจอกับปัญหานี้ คือ solar ในระบบเยอะจนแทบจะมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งเมืองในตอนกลางวัน ซึ่งพอแดดหมด แดดหาย เมฆบัง ก็ต้องเพิ่มกำลังผลิตจากโรง fossils มาชดเชยให้ทัน ถ้าวันไหนเพิ่มไม่ทันก็จะเกิดไฟดับ ซึ่งก็เกิดไฟดับบ่อยครั้งจริงๆ จนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเลยล่ะ
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะมีคำถามว่าแล้วทำไม PEA (กฟภ.) ถึงเข้ามาในตลาด solar cell เองเลย
คือ PEA ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบกำลังผลิต ไม่ได้สนใจต้นทุนในการผลิต ซึ่งผลกระทบที่ร่ายยาวมา แทบไม่ได้มีผลต่อ PEA เลย แถมการมี Solar ในระบบในรูปแบบของ feed in traffic สามารถช่วยลด loss ในระบบของ PEA ได้ อีกทั้งเงินสนับสนุนส่วนต่างราคาซื้อ รัฐก็ออกให้ การเข้ามาของ solar rooftop อาจทำให้รายได้ของ PEA ในอนาคตลดลง PEA จึงต้องลงมาเล่นในตลาดนี้เอง เพื่อชดเชยรายได้ที่กำลังจะหายไป
สุดท้ายถึงปัจจุบันปัญหาจะเยอะจน EGAT ไม่กล้าออกตัวสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่ไม่ใช่ว่าประเทศเราจะต่อต้านพลังงานสะอาดนะคะ
1
ตอนนี้นั้น EGAT ได้ลงทุนไปกับงานวิจัยและ pilots projects มากมาย เพื่อพยายามให้เราสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยไม่กระทบต่อราคา และเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยรวม อย่างเช่น โคตรการ Smart grid, Smart City, Smart substation, micro-grid, Energy storage Systems, Battery Farm, Floating Solar, Smart power plant
เราอาจเห็นหลายประเทศแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย Battery farm
แต่ประเทศไทยตอนนี้ ยังใช้ไม่ได้ค่ะ เพราะราคาแบตเตอรี่นั้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6,000-10,000 บาท ต่อ kwh ซึ่งใช้งานได้แค่ 1,000-2,000 cycles ทำให้การกักเก็บพลังงานในตอนนี้นั้นมีต้นทุนสูงกว่า ราคาขายไฟฟ้าซะอีก (ต่างประเทศทำได้เพราะค่าไฟเค้าแพงไง) ซึ่งเราต้องรอราคาแบตเตอรี่ลดลงมากกว่านี้ ถึงจะมีลุ้นในการนำมาใช้งานค่ะ
ถ้าใครยังอยากใช้พลังงานแสงอาทิตย์อยู่ มาขอให้ข้อมูลค่ะ
ตอนนี้ราคานั้นลงมาอยู่ประมาณ 45,000 บาท ต่อ 1 kw
Solar cell ขนาด 1kw ในประเทศไทย ปีนึง ผลิตไฟได้ประมาณ 1,200 หน่วย ถ้าใช้เองหมดจะช่วยลดค่าไฟได้ปีละประมาณ 4,800บาท (ค่าไฟเฉลี่ย 4 บาท)
ประมาณ 9 ปีกว่าๆ คุ้มทุน ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา (เสียบ่อย นกขี้ใส่เยอะ ก็เศร้าไป) ถ้าใช้เองไม่หมดขายเข้าระบบได้แค่ 1.68 บาท จุดคุ้มทุนก็นานไปอีก ถ้าใช้เองไม่หมดแอบเอาไปหมุนมิเตอร์กลับระวังโดนปรับด้วยนะคะ อิอิ
จบแล้วจ้า
Edit 1 : ไม่คิดว่าจะมีคนอ่านเยอะขนาดนี้ ขอออกตัวว่า ข้อมูลที่นำมาเขียนศึกษาด้วยตัวเอง ตอนที่ต้องไปขายงาน solar+storage ให้ EGAT ค่ะ ไม่ใช่ข้อมูล official ของ EGAT นะคะ (กลัวโดน EGAT เล่นงาน อิอิ)
โฆษณา