11 พ.ค. 2019 เวลา 14:14 • บันเทิง
รำลึกความหลังของคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ดันมาเรียนนิติศาสตร์ (ปฐมบท)
....หากให้ย้อนหลังกลับไปถึงช่วงสมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา แม้กระทั่งช่วงชีวิตวัยมหาวิทยาลัยตอนต้นๆ ผมก็เคยมีความคิด ความรู้สึกเหมือนกับเด็กๆส่วนใหญ่ว่า “เฮ้ย..ค่อยอ่านหนังสือตอนใกล้สอบก็ได้” “เรียนในห้องอย่างเดียวก็พอแล้ว” หรืออื่นๆก็ตาม ซึ่งถ้าหากได้ถามผู้รู้หรือผู้ใหญ่ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนที่เขาจะเรียนนิติศาสตร์หรือเรียนกฎหมายเขาต้องอ่านหนังสือกันเยอะนะ หรือหากจะให้พูดแบบสมัยนี้ที่เขานิยมใช้กันคือ “อ่านหนังสือดุนะ” แต่ตัวผมดันไม่ใช่คนประเภทที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจสักเท่าใดนัก แต่กลับมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเรียนนิติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยประถมเลยก็ว่าได้ ซึ่งเหตุผลที่อยากจะเรียนทางด้านนี้ก็คงไม่พ้นเหตุผลสามัญทั่วไปของเด็กที่อยากเรียนนิติศาสตร์คือ ต้องการเห็นความยุติธรรมในสังคม ได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วยความรู้ทางด้านกฎหมายที่ตนมี และชีวิตของผมก็ได้ดำเนินเดินทางผ่านการศึกษาในระดับประถม ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลายสายศิลป์ฝรั่งเศส(แบบเรียนๆโดดๆ) จนกระทั่งมาถึงช่วงมหาวิทยาลัยจนได้
...ในชีวิตช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยนั้นความตั้งใจของผมไม่เคยเปลี่ยน แม้จะมีวอกๆแวกๆบ้างเป็นบางที แต่เนื่องจากสายที่ผมได้เรียนในสมัยมัธยมปลายนั้นทางเลือกให้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้เปิดกว้างมากเท่ากับสายวิทย์-คณิตฯสักเท่าใดนัก ซึ่งในช่วงสมัยนั้นการสอบเพื่อจะได้เรียนต่อในระดับมหา’ลัยนั้นจะใช้ระบบสอบ GAT-PAT เพื่อใช้ประกอบกับเกรดในระดับมัธยมปลายเพื่อยื่นต่อมหา’ลัยและคณะที่ตนอยากจะเข้าศึกษาต่อ ซึ่งก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าผมไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือ โดยมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เรียนในห้องอย่างเดียวก็พอ นั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมทำข้อสอบในส่วน “แกท-แพท” ไม่ดีนัก ประกอบกับในระหว่างที่รอผลแกทแพทดังกล่าว มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคเหนือได้เปิดสอบตรงเพื่อรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อ ซึ่งก็มีสำนักวิชาหรือคณะนิติศาสตร์เปิดรับแบบสอบตรงในครั้งนี้ด้วย ไม่รู้ว่าเพื่อนๆชวนไปสอบหรือเป็นเพราโชคชะตาใดๆก็ตาม ผมสอบติดเป็นหนี่งในคนที่จะได้เรียนต่อในสำนักวิชานิติศาสตร์ตามความฝันจนได้...โดยที่ก่อนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สอบได้นั้นจะต้องมีกระบวนการสอบอีกครั้งหนึ่งก่อนซึ่งหลายๆคนน่าจะเคยผ่านมาแล้วไม่ว่าตอนใดก็ตอนหนึ่งคือการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งนี้ก็เป็นช่วงที่ผมรู้สึกแปลกใจและดีใจ(เล็กๆ) เมื่ออาจารย์ผู้ทำการสอบสัมภาษณ์ผมได้อ่านและเห็นผลการเรียนในสมัยม.ปลาย แล้วถามว่า “ผลการเรียนก็ดี มาสมัครที่นี้ทำไม มหาลัยอื่นน่าจะตอบโจทย์เราได้มากกว่านี้นะ” ผมก็ได้รับปากอาจารย์ว่าจะลองไปสอบที่อื่นดู แต่จนสุดท้ายแล้ว ผมก็ได้กลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จนได้ ฮ่าๆ
...ซึ่งในช่วงการเรียนชั้นปีที่ 1 เทอม 1 นั้นจะไม่ได้เน้นการเรียนในวิชากฎหมายมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ให้นักศึกษาใหม่ ได้ปรับตัวเข้ากับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นโลกใบใหม่ของการเรียนเลยก็ได้ เนื่องจากระบบการเรียน การสอนแตกต่างจากในระดับประถมหรือมัธยมมาก เช่น จะเข้าเรียนหรือไม่ก็ได้ ไม่มีการบ้าน ไม่มีหนังสือที่ต้องบังคับให้ซื้อ ใครใคร่เรียน-เรียน ใครใคร่อ่าน-อ่าน แต่ถึงแม้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะถือเป็นโลกใบใหม่ของผมก็ตาม แต่วิธีการเรียน การสอบของผมก็ยังคงอยู่ในโลกใบเก่าของผมอยู่คือ “เรียนในห้องก็พอ หนังสือไม่ต้องอ่านหรืออ่านใกล้สอบสักเดือนหนึ่งก็ได้” และชีวิตในมหาลัยของผมก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงสอบครั้งแรกในมหาลัย ...โดยต้องขอเล่าถึงการสอบของสำนักวิชานิติศาสตร์ก่อนว่า(ในสมัยของผม) จะมีการสอบเพียงเทอมละครึ่งครั้งเท่านั้นในวิชากฎหมาย ในการสอบนั้นมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ไม่มีคะแนนเก็บ ไม่มีสอบกลางภาค ไม่มีคะแนนเข้าห้อง เป็นการวัดความรู้ ความสามารถตามข้อสอบที่ท่านอาจารย์จะประทานให้มาล้วนๆ เป็นการเขียนตอบหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของข้อสอบแบบอัตนัย ในครั้งแรก วิชาแรกของผมนั้นโดนเข้าไป 5 ข้อ ข้อละ 20 คะแนน ให้เวลาในการสอบ 4 ชั่วโมง โดยในช่วงการทำข้อสอบนั้น สมองผมออกจะเบลอๆไปนิด ไม่รู้ว่าเป็นการสอบครั้งแรกเลยรู้สึกตื่นเต้น หรือในหัวไม่มีความรู้จะไปตอบคำถามในข้อสอบเลยก็ไม่อาจทราบได้ เนื่องจากอ่านหนังสือตามแบบโลกการเรียนในสมัยเก่าของผมนั้นเอง
...เมื่อผลการสอบออกมา ผมได้เกรดเพียงแค่ C+ เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะท่านอาจารย์เมตตาหรืออะไรก็ไม่อาจทราบได้ แต่นั้นก็เป็นคะแนนที่ค่อนข้างจะพอใจ จึงทำให้ผมไม่รู้สึกว่าการเรียนแบบโลกสมัยเก่าของผม โดยการอ่านหนังสือก่อนสอบเพียงหนึ่งเดือนไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะสำนักวิชานิติศาสตร์ จนกระทั่ง...ผมได้พบกับการสอบและผลการสอบ โดยเฉพาะอย่ายิ่งคำพูดหนี่งประโยคของอาจารย์ผู้สอนผมท่านหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตการเรียนนิติศาสตร์ของผมเปลี่ยนไปตลอดกาล...
โฆษณา