7 มิ.ย. 2019 เวลา 09:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แบตเตอรี่แท้ กับ แบตเตอรี่เทียมต่างกันอย่างไรบ้าง ?
ด้วยราคาที่ต่างกันเป็นเท่าตัว แบตเตอรี่แท้มีอะไรดี นอกจากแบรนด์ แล้วควรเลือกซื้อยังไง เราจะมาแจกแจงเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งต่อไปค่ะ
โดยทั่วไป แบตเตอรี่ ในตลาดที่คนธรรมดาๆ จะสามารถหาซื้อได้ (หรือร้านที่รับเปลี่ยนแบตมีให้เลือก) หลักๆ จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทค่ะ
1. แบตเตอรี่แท้ คือ แบตที่มียี่ห้อเดียวกับสินค้า หรือยี่ห้อเดียวกับแบตเตอรี่ที่ติดมากับสินค้า มีคุณสมบัติเดียวกับแบตเดิมที่ติดมากับสินค้าทุกประการ มักมีราคาที่แพงโดดกว่าอันอื่นพอสมควร
2. แบตเตอรี่เทียบ คือ แบตที่บริษัทอื่นผลิตออกมาขายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า มักมีราคาถูกกว่า จะแบ่งได้เป็น แบตเทียบจากโรงงาน OEM (โรงที่รับจ้างผลิตแบตแท้) และไม่ใช่ OEM
3. แบตเตอรี่เทียม รวมถึง แบตเตอรี่ที่จงใจทำเลียนแบบของแท้ หรือเป็นของแท้ที่ตก spec โดนปฏิเสธรับของแล้ว โรงงานลักลอบแอบมาขายก็มี หรือแบตเตอรี่ที่ผลิตโดยโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานก็มี
ปัจจุบันแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่าง มือถือ notebook กล้อง มักจะใส่วงจรไฟฟ้าและระบบต่างๆ รวมเข้ามาใน module แบตเลย ไม่ใด้มีแต่ cell แบตเตอรี่ เหมือนแบตเตอรี่ใน ups รถยนต์ หรือถ่านชาร์จ โดยสิ่งที่แตกต่างกันในแบตแต่ละประเภท มีหลักๆที่สำคัญๆอยู่ 3 อย่าง คือ
1. BMS (Battery management System)
2. คุณภาพของ Cell
3. การควบคุมคุณภาพการผลิต
โดยสิ่งที่แตกต่างกัน 3 อย่าง จะส่งผลต่อการใช้งานของผู้ใช้ยังไงบ้าง ??
1. วงจร BMS สามารถจัดการ การเสียบชาร์จทิ้งไว้ค้างคืนได้ โดยไม่ส่งผลเสียต่อตัวแบต (อุปกรณ์บางชนิดอาจจัดการได้ที่ตัวเครื่องเลย)
2. วงจร BMS สามารถทำให้ชาร์จไปด้วย ใช้งานไปด้วยได้
3. BMS สามารถตัดวงจรเมื่อแบตใกล้หมด เพื่อป้องกันการเกิด deep sleep
4. BMS สามารถบริหารอายุการใช้งาน cell ได้เอง ทำให้ไม่ต้องคอยมาใช้ให้เกือบหมด แล้วชาร์จจนเต็มแบบสมัยโบราณ
5. อายุการใช้งานของ cell
แบตเตอรี่มาตรฐานในมือถือระดับเรือธงนั้น ออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานประมาณ 500 cycle (ใช้จนหมดแล้วชาร์จจนเต็ม 500 รอบ) ก่อนจะเสื่อมสภาพ ซึ่งหากใช้งานปกติ (หมดวันเหลือ 10-30%) จะใช้ได้ประมาณเกือบๆ 1.5-2 ปี ในขณะที่แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพรองลงมา ก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลงไป
6. พลังงานสูญเสียในตัวแบตเตอรี่ที่ต่างกัน
7. การออกแบบ cell ซึ่งผลต่อ “โอกาส” เกิดอาการแบตเตอรี่บวม หรือระเบิด ซึ่งแบตเตอรี่ขนาดเท่ากัน แต่คนละยี่ห้อ ย่อมมีการออกแบบที่ต่างกัน
8. การควบคุมคุณภาพการผลิต ที่ต่างกัน ของแท้โอกาสที่จะเจอของเสียน้อยกว่า (แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี)
9. การทำงานตามฟังก์ชันของอุปกรณ์ แบตเตอรี่ที่ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์โดยตรงย่อมทำงานได้ครบทุกอย่าง เช่นการบอกอายุแบตเตอรี่(ว่าเสื่อมหรือยัง)
10. ความแม่นยำในการระบุ % ที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่
11. การควบคุมอุณหภูมิ ตัดวงจรเมื่ออุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่า ที่ cell จะทำงานได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
12. การควบคุมแรงดัน หรือกระแส เมื่อ cell ทำงานผิดปกติ หรือเกิดลัดวงจรภายใน
จะเห็นว่าความแตกต่างนั้นเยอะกว่า แค่ความทนทานกับอายุการใช้งานมาก ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวเรา คิดว่าการเลือกใช้ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น
แบตเตอรี่ ที่ใช้งานหลักยังไงก็ควรเป็นแบตแท้ หรือแบตเทียบ(ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงด้านแบต) ไม่ควรใช้แบตโนเนม หรือแบตเทียมอะ
ส่วน แบตเตอรี่ สำรอง อาจจะเลือกใช้อะไรก็ได้ (คือนานๆใช้ที ไม่ได้ใส่ทิ้งไว้) แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงแบตเทียมอยู่ดี
แบตเตอรี่ เทียมอาจจะเอามาใช้ในอุปกรณ์เก่าๆ ใกล้จะซื้อใหม่หรืออุปกรณ์สำรอง ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ต้องคอยดูสภาพการใช้งานให้ดี และไม่แนะนำให้ใช้กับอุปกรณ์ที่พกติดตัวค่ะ
โฆษณา