15 พ.ค. 2019 เวลา 15:08 • ปรัชญา
[บทเรียนจาก The Old Man and the Sea]
“ขณะที่โลกกำลังหลับใหลยามใกล้รุ่งของวันนั้น ชายชราคนหนึ่งนั่งครุ่นคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาอย่างเงียบสงบ จากนั้นก็ค่อย ๆ เหนี่ยวไกปืนลูกซองซึ่งตัวเองอมปากกระบอกไว้…”
ข้อความนี้ปรากฏในย่อหน้าสุดท้าย ของบทความในหนังสือ ‘เส้นทางนักประพันธ์’ ที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (นักเขียนในดวงใจของผม) เขียนถึงชีวิตและผลงานของนักเขียนอเมริกันผู้ลือเลื่องนาม Ernest Hemingway ที่พูดถึงการปิดฉากชีวิตของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1961
นั่นคือภาพจำแรกที่ทำให้ผมได้รู้จักนักเขียนเจ้าของผลงานที่ตรึงตราตรึงใจของผมตลอดกาลอย่าง The Old Man and the Sea หรือ เฒ่าผจญทะเล, เฒ่าทะเล, ชายชรากับทะเล ฯลฯ อย่างที่หลายคนคง จะคุ้นหูคุ้นตากันดี
การปิดฉากชีวิตของมหายักษ์แห่งโลกวรรณกรรม นำมาซึ่งสงสัยใคร่รู้ของผมเป็นอย่างมาก ว่าเหตุใดมนุษย์คนหนึ่งที่หลายคนให้การยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการน้ำหมึกโลก กลับเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเยี่ยงนี้
ซึ่งเมื่อผมได้อ่านงานของเขาก็ค้นพบว่าคำตอบนั้นมีแล้วใน The Old Man and the Sea ผลงานช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในวันที่ 10 ธันวาคม 1954 และได้รับยกย่องให้เป็นศิลปะการเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและสไตล์การเล่าเรื่องชั้นบรมครูที่ญาติน้ำหมึกทั่วโลกต่างให้การกล่าวขาน
The Old Man and the Sea เป็นนิยายขนาดสั้นที่เล่าถึงการต่อสู้ของชายชราประมงชาวคิวบาคนหนึ่งนามตาเฒ่าจอมดื้อดึง ‘ซานติอาโก’ ผู้อับโชคที่กำลังหวนหาชัยชนะครั้งสุดท้ายกับปลามาร์ลินยักษ์ กลางห้วง ทะเลลึก การต่อสู้นี้กินเวลาร่วมสามวันสามคืน ชายชราได้รวบรวมประสบการณ์ตกปลาทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับปลายักษ์
“…มันดูสงบนิ่ง เขาคิด มันคงทำตามแผนของมัน แต่แผนของมันคืออะไร แล้วแผนของข้าล่ะ สำหรับแผนของข้าก็เห็นจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารับมือกับแผนของมัน เพราะความใหญ่ยักษ์ของมันนั่นเอง ถ้ามันกระโดดขึ้นมาเมื่อไหร่ข้าก็จะฆ่ามันเมื่อนั้น แต่ดูท่ามันจะอยู่ในน้ำตลอดเวลา งั้นข้าก็จะอยู่กับมันตลอดไป…”
เขาเฝ้าครุ่นคิดถึงวิธีการที่จะจัดการกับมันขั้นเด็ดขาด ซึ่งเผยให้เห็นห้วงสำนึกและท่วงท่าอันสง่างามยิ่งของนักรบผู้จัดเจนสมรภูมิที่กำลังใช้ภูมิปัญหาประเมินท่าทีของคู่ต่อสู้ที่คาดการณ์ได้ยากยิ่ง การตัดสินใจปักหลักสู้ด้วยหัวใจเด็ดเดี่ยวจึงเป็นหนทางเดียวที่ชายชราเลือกในยามที่ต้องอยู่ลำพังกลางห้วงทะเลลึก อันมีเพียงสายลม ระลอกคลื่นกระทบกราบเรือ หมู่นกนางแอ่นบินโฉบไปมา ฝูงปลาบิน และโลมาที่กระโดดฮุบอากาศที่คอยเป็นเพื่อนในยามเปล่าดาย
เห็นได้ชัดว่า Hemingway จงใจเลือกที่จะให้ตาเฒ่า ‘ซานติอาโก’ อยู่ในจุดที่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างและต้องรีดเค้นศักยภาพของตัวเองทั้งหมดออกมาใช้ ชายชราจึงต้องใช้ทรัพยากรอันมีอย่างจำกัดจำเขี่ยให้คุ้มค่ามากที่สุด แม้กระทั่งพลังใจที่แข็งกร้าวของเขายังถูกเค้นออกมาใช้จนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว
“…ชายชราเคยพบเห็นปลาใหญ่มานักต่อนัก เขาเคยพบเห็นปลาที่มีน้ำหนักมากกว่าพันปอนด์มาไม่น้อย ซึ่งเขาเคยจับมาแล้วถึงสองตัว หากไม่ได้จับคนเดียว แต่ขณะนี้เขาอยู่เพียงลำพังในห้องทะเลลึก ห่างไกลแผ่นดิน เขาได้พบเห็นและติดแน่นอยู่กับปลาตัวใหญ่กว่าใดที่เคยเห็นมา ดูเหมือนจะใหญ่กว่าตัวใดที่เคยได้ยินได้ฟังมาเสียด้วย ทั้งที่มือข้างซ้ายกอดกำตะคริวราวกับโดนกรงเล็บเหยี่ยวจิกทึ้งไว้ฉะนั้น…”
ประมงเฒ่าผู้ระห่ำห้าวนี้เป็นดั่งตัวแทนของมนุษย์ผู้ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเผชิญทุกข์ทนในทะเลชีวิตเพียงลำพังโดยที่ไม่มีใครรู้เห็น ใช่หรือไม่ว่า ในโลกของความเป็นจริงไม่มีมนุษย์คนใดสนใจปัญหาภายในของกันและกันจริง ๆ จัง ๆ มากไปกว่าการคร่ำเคร่งอยู่แต่กับปัญหาของตนเอง
การต่อสู้อย่างถึงที่สุดนั้นยังคงดำเนินต่อไปตราบใดที่ยังมีเรียวแรงและลมหายใจ ทุกชีวิตต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดความพยายามคือของขวัญที่ทำธรรมชาติมอบให้สิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ ชายชราและปลายักษ์ ก็เช่นเดียวกัน
“…ข้าจะต้องพยายามขึ้นอีก ชายชราให้สัญญากับตัวเองแม้จะเหลือบเห็นมือทั้งสองข้างของตัวเองอ่อนปวกเปียกก็ตาม ส่วนตาก็พร่ามัวมองเห็นได้เพียงชั่วแวบ และแล้วเขาก็พยายามอีกครั้ง แต่ก็เข้าอีหรอบเดิม เขาคิด เขารู้สึกวูบแทบจะทรงตัวไม่อยู่ ข้าจะลองอีกหน เขาพยายามอดทนกับความเจ็บปวดทั้งมวล ใช้พละกำลังที่เหลือเรียกความทระนงซึ่งเลือนหายไปจนหมดแล้วคืนมา ต่อสู้กับความทุกข์ทรมานของเจ้าปลาใหญ่ตัวนั้น…”
มนุษย์มีมิติการต่อสู้ที่แตกต่างหลากหลายและแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการกับอุปสรรคที่ประเดประดังถั่งโถมซัดต่างกันออกไป แม้มีมิติปัญหาที่ไม่เหมือน ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อขึ้นสู่สังเวียนชีวิตแล้ว เราต่างก็ล้วนมีจุดรวมเดียวกัน นั่นคือ ต้องชนะ!
ความพร้อมที่จะไขว่คว้าโอกาสสำคัญพอ ๆ กับการวางแผนที่ดี เพราะเมื่อโอกาสผ่านเข้ามาความพร้อมและการวางแผนที่ดีเท่านั้นที่จะฉุดคว้ามันไว้ให้อยู่มือ หลังจากที่รอคอยมานานแสนนาน เมื่อสบโอกาสเหมาะ
“…ชายชราทิ้งสายเบ็ด ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบไว้ เงือดเงื้อฉมวกขึ้นจนสุดแขน ก่อนจะจ้วงแทงลงไปสุดแรงเกิดตรงด้านข้าง หลังแผงครีบอกของมัน ในขณะที่มันลอยตัวสูงอยู่ในอากาศระดับเดียวกับความสูงหน้าอกคน เขาสัมผัสได้ถึงคมเหล็กของฉมวกทิ่มเข้าไปในตัวมัน แล้วใช้น้ำหนักตัวกดทับ ให้คมฉมวกแทงลึกลงไปยิ่งขึ้น…”
และในท้ายที่สุดชายชราก็เป็นฝ่ายมีชัยเหนือปลามาร์ลินยักษ์ตัวนั้น หลังจากอับโชคมาหลายวันคืน ประมงเฒ่าก็ได้เสพสมชัยชนะสมความตั้งใจ พร้อมกับการขานรับในตัวคู่ต่อสู้ ด้วยความรู้สึกศรัทธาและแสดงความเคารพในวิถีการต่อสู้อันสง่างามของเจ้าปลายักษ์ตัวนั้น แต่ความสุขก็หาใช่สิ่งที่ยั่งยืน เพราะชีวิตใช่ว่าจะราบรื่นอย่างที่คาดคิด เพราะปลาที่แกตกได้นั้นดันถูกฝูงปลาฉลามรุมฉีกแทะทึ้งจนเหลือแต่ซาก
“…ฉลามพุ่งหัวของมันขึ้นมาชายชราใช้กำปั้นฟาดตรงโหนกหัวแบน ๆ เขาดึงมีดออกมาแล้วก็แทงซ้ำจุดเดิมอีกครั้ง แต่ปากของมันคงกัดคาเนื้อปลาเช่นเดิม ชายชราแทงที่ตาซ้ายของมัน ฉลามยังไม่ ปล่อยเหยื่อ…”
ชายชรากลับเข้าฝั่งพร้อมกับซากปลายักษ์ ไม่มีใครผู้เห็นการต่อสู้ในครั้งนี้ มีเพียงเด็กหนุ่มที่ตาเฒ่าสอนการตกปลาให้เท่านั้นที่เข้าใจและยังศรัทธาในตัวเขาอย่างเปี่ยมล้น อันสะท้อนออกมาในสนทนาท้ายเรื่องระหว่างเด็กหนุ่มและชายชรา
“ตอนนี้เราก็จะออกทะเลไปหาปลาด้วยกันอีก”
“อย่าเลย ข้ามันคนอับโชค ไร้วาสนาเสียแล้ว”
“ช่างมันปะไร” เด็กหนุ่มกล่าว “ผมจะเป็นตัวนำโชคเอง”
“พ่อแม่แกจะว่ายังไง”
“ผมไม่สนหรอก เมื่อวานผมจับปลาได้ตั้งสองตัว นับแต่นี้เราจะออกจับปลาด้วยกัน ผมยังมีอะไรที่จะต้องเรียนรู้อีกมากมายนัก”
ว่ากันว่าแรงจูงใจหลักในการปลิดชีวิตตนเองของ Hemingway มาจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย อันนำมาซึ่งการลดทอนพลังสร้างสรรค์ผลงานเขียนที่เป็นเหตุผลของการมีชีวิต ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมิอาจยอมรับความพ่ายแพ้นี้ได้ และเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองในท้ายที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับที่เขาเคยเขียนไว้ในเรื่องสั้นชื่อ The Undefeated ความหนึ่งว่า “เมื่อคนเราสูญเสียการแก่นแท้แห่งการดำรงอยู่ของตัวเองเขาก็เหมือนตายไปแล้ว”
การที่ได้หวนกลับมาอ่าน The Old Man and the Sea อีกครั้ง ทำให้ผมเกิดความเชื่อบางประการว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสาปให้ต้องมีเสรีภาพในการบรรลุศักยภาพที่ซ่อนในตัวของเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดก็คือมนุษย์สามารถเลือกทำในสิ่งที่เขาอยากทำหรือปฏิเสธในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ จริงอยู่ ที่มนุษย์เราล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนา แต่เราก็มีศักยภาพพอที่จะควบคุมมันและใช้มันในทางที่ถูกต้องได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้ว่าเสรีภาพจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้ามันได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะปริมาณของเสรีภาพนั้นขึ้นอยู่กับความพยายามดิ้นรนของมนุษย์เพื่อขยายขอบเขตและทำลายบางสิ่งที่จำกัดมันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลายคนเลือกที่จะหยุดตัวเองไว้ยังที่ใดที่หนึ่งก่อนถึงปลายทางของความฝัน และเฝ้าพร่ำบอกตัวเองทุกเมื่อเชื่อวันว่านั้นคือความพ่ายแพ้อย่างหาที่สุดไม่ได้
แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า โดยแก่นเนื้อแท้แล้ว มนุษย์ผู้เปี่ยมล้นความพยายามนั้น มิอาจพ่ายแพ้ลงได้ ในความหมายของการต่อสู้อย่างถึงที่สุด…
ที่มา (https://noijam.com)
หมายเหตุ: มือใหม่หัดเขียน ผิดพลาดประการใด โปรดช่วยชี้แนะ ผมด้วยนะครับ!
อ้างอิง
- หนังสือ นายคำ: ตำนานนักเขียนโลก เขียนโดย อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
- หนังสือ ผู้เฒ่าทะเล (The Old Man and the Sea) แปลโดย เพชร ภาษพิรัช
- หนังสือ เส้นทางนักประพันธ์ เขียนโดย อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
โฆษณา