17 พ.ค. 2019 เวลา 04:03 • การศึกษา
[บทเรียนจาก Teach Like Your Hair’s on Fire]
ถึง คุณครู Rafe Esquith
คุณไม่คิดจะหยุดพักบ้างเลยหรือ? ตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีในการสอนหนังสือที่ผ่านมาของคุณ คุณไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหมือนชาวบ้านร้านตลาดเขาบ้างเลยหรือ?
แม้ว่าจะมีคนยกย่องให้คุณเป็น Disney’s National Teacher of the Year แม้ว่าคุณจะได้รับรางวัล Use Your Life จาก Opah Winfrey เจ้าแม่ทีวีโชว์แห่งอเมริกา และหนึ่งในสตรีผู้ถือได้ว่าส่งทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษนี้
หรือแม้กระทั่งการได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Member of the British Empire โดยสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabeth II แห่งสหราชอาณาจักร และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายมาแล้วก็ตาม คุณก็ยังไม่คิดจะหยุดพักบ้างเลยหรือ?
ผมชักเริ่มรู้สึกว่าบางทีคุณอาจจะเป็นยอดมนุษย์ลงมาจุติขึ้นมาซะแล้วสิ! แม้ว่าคุณจะปฏิเสธไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ผมรู้ตัวเองว่าผมไม่ใช่ยอดมนุษย์” ก็ตามทีเถิด หรือถ้าไม่เช่นนั้น คุณก็อาจจะเพี้ยนไปแล้ว เหมือนอย่างที่ Barbara Tong ภรรยาของคุณว่าเอาไว้ก็เป็นได้
แต่เอาล่ะ! Rafe ผมจะไม่มัวเสียเวลากับการเดาส่งอย่างไร้หลักฐานแบบนี้อีกต่อไป ในฐานะนักเรียนวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผมเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไปของมันและสามารถสืบทราบได้ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง Charles Darwin ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นมาแล้ว ซึ่งผมคิดว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของคุณหรือของใคร ๆ หลายคนบนโลกนี้ ก็คงจะมีที่มาที่ไปอย่างที่ว่ามาเช่นเดียวกัน
ผมจำได้ว่า ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire หรือ ‘ครูนอกกรอบกับห้อง เรียนนอกแบบ’ ในภาคภาษาไทยที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เล่มนี้ของคุณ ตอนที่ผมกำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ชั้นปีสี่
ใช่ครับ! ช่วงนั้นเป็นช่วงแห่งการแสวงหาแรงบันดาลใจและปลุกไฟในการสอนในตัวเองของผม ผมจึงออกตะเวนหาซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับการสอนและการเป็นครูตามร้านหนังสือต่าง ๆ มาอ่านหลายสิบเล่ม อาทิ หนังสือ Creative School ของ Ken Robinson (ผมรู้จักคุณครั้งแรกผ่านหนังสือเล่มนี้!), หนังสือ The One World Schoolhouse ของ Salman Khan, หนังสือ Teaching Outside the Box ของ LouAnne Johnson ฯลฯ
แน่นอนว่า หนังสือทุกเล่มที่กล่าวมา ผมอ่านมันในภาคภาษาไทยทั้งหมด และผมยังได้ตะบี้ตะบันดูหนังที่เกี่ยวกับชีวิตครูหลายสิบเรื่อง อาทิ หนังเรื่อง Dead Poets Society (1998) กำกับโดย Peter Weir, หนังเรื่อง Mona Lisa Smile (2003) กำกับโดย Mike Newell, School of Rock (2004) กำกับโดย Richard Linklater, หนังเรื่อง Bad Teacher (2011) กำกับโดย Jake Kasdan, หนังเรื่อง ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (2010) กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม, หนังเรื่อง คิดถึงวิทยา (2014) กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร ฯลฯ (สองเรื่องสุดท้ายที่กล่าวมา หากคุณได้ดูแล้ว ผมรับรองว่า คุณจะต้องยิ้มทั้งน้ำตา อย่างแน่นอน!) ซึ่งก็ล้วนให้ความรู้ ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผมเป็นอย่างมากมาย
แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังไม่รู้สึกอิ่มเอมและได้แรงบันดาลใจการสอนมากเท่ากับการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของคุณ ผมไม่ได้จะแสร้งเยินยอคุณอย่างออกหน้าออกตาหรอกนะ เพราะในฐานะผู้เสพแล้ว เมื่อเสพซึ้งและรู้สึกเช่นไร ก็พูดและแสดงออกมาไปเช่นนั้น
การที่คุณบอกว่า “ผมทำงานเหมือนกันกับครูที่ทุ่มเทอีกเป็นพัน ๆ ที่พยายามทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น และ ก็เหมือนครูแท้ ๆ ทั้งหลาย ผมล้มเหลวมาโดยตลอด ผมนอนไม่หลับ ตีสองสมก็ยังเฝ้าแต่ห่วงกังวลถึงเด็กคนที่ผมเข้าไม่ถึง การเป็นครูก็เจ็บปวดได้เหมือนกัน”
มันทำให้ผมอดนึกถึงตัวเองไม่ได้ เมื่อครั้งที่ผมไปฝึกสอน ผมพยายามที่จะทำให้ได้อย่างคุณ แม้ว่ามันจะเทียบกับสิ่งที่คุณทำไม่ได้ แต่ผมก็ปรารถนาที่จะเป็นครูที่ดีเหมือนคุณให้ได้ ทั้งในแง่ความคิดและอุดมการณ์ เพื่อที่เด็กนักเรียนของผมจะเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ผมจึงใฝ่ฝันจะทำให้ห้องเรียนของผมเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะเหมือนกับห้องเรียน 56 ของคุณ แต่ถึงกระนั้น ผมก็พบว่า ตัวเองล้มเหลวไม่เป็นท่า
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิชาฟิสิกส์ที่ผมสอนในคาบแรกของการสอน ผมได้สาธิตเกี่ยวกับเรื่องความดัน โดยการให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นไปเหยียบบนถาดไข่ไก่ที่ผมได้จัดเตรียมไว้ แต่ด้วยความสะเพร่า ผมลืมบอกเด็กคนนั้นว่า ตอนก้าวขึ้นเหยียบบนไข่นั้นต้องเหยียบให้เต็มฝ่าเท้าอย่าเอาส้นเท้าลงก่อน
แต่แล้วเธอก็ทำอย่างหลังเข้าจนได้ ผลปรากฏว่า ไข่แตกไปตั้งหลายฟอง ทำให้ฝ่าเท้าของเธอเลอะเยิ้มไปด้วยเมือกเหลว จากนั้นเธอก็หันมามองหน้าผมด้วยใบหน้าแหย ๆ ส่วนผมเองก็มีอาการไม่ต่างจากเธอ ในขณะที่เพื่อนทั้งห้องหัวเราะครืน ๆ อย่างชอบอกชอบใจ และบางคนก็พลางเอ่ยถามทำนองเยาะเย้ยผมว่า “ไหน ๆ หนูไม่เห็นมันจะเป็นเหมือนอย่างที่ครูบอกเลย”
ซึ่งเวลานั้น ผมได้แต่ยิ้มอาย ๆ ก่อนจะสารภาพกับเด็กผู้หญิงคนนั้นไปว่า มันเกิดจากข้อผิดพลาดบางอย่าง ครูต้องขอโทษด้วย พร้อมกับอธิบายว่า เนื่องความดันเกิดจากแรงกระทำกับพื้นที่หน้าตัดเป็นสัดส่วนโดยตรงกับแรงที่กระทำและเป็นสัดส่วนผกผันกับพื้นที่ที่ถูกแรงกรทำ
การที่เด็กคนนั้นเอาส้นเท้ากดลงไปที่ไข่บางฟอง ทำให้เกิดแรงกระทำกับพื้นที่ปริมาณน้อย ๆ ส่งผลทำให้มีความดันที่ไข่มากมันจึงแตกอย่างที่เห็น จากนั้นผมจึงได้บอกให้นักเด็กคนนั้นไปล้างเท้าในห้องน้ำให้สะอาด ก่อนที่เสียงออดเตือนว่าหมดคาบเรียนจะดังขึ้น ขณะที่เพื่อนของเธอทยอยเดินออกไปจากห้องเพื่อเตรียมตัวที่จะไปเรียนวิชาต่อไป เธอคนนั้นเดินเข้ามาหาผมแล้วพูดขึ้นว่า “ครูค่ะ! หนูเข้าใจในสิ่งที่ครูพยายามทำ” แล้วเธอก็วิ่งกลับไปสมทบกับเพื่อน ๆ และปล่อยให้ผมยืนอึ้งค้างอยู่กับคำพูดของเธอ
มันทำให้ผมย้อนนึกถึงตอนที่คุณเล่าว่า ในช่วงที่คุณกำลังรู้สึกผิดที่มัวแต่คิดสงสารตัวเอง คุณได้พบกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนความรู้สึกคิดของคุณไปตลอดกาล นั่นก็คือ ระหว่างที่คุณกำลังสอนวิชาเคมีในขณะที่เด็กนักเรียนคนอื่น ๆ กำลังตื่นเต้นกับการใช้ตะเกียงแอลกอฮอล์อยู่นั้น คุณก็พลันเหลือบเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง งมโข่งง่วนอยู่กับการจุดไส้ตะเกียงไม่ติด ถึงแม้ว่าคุณจะพยายามบอกให้เพื่อน ๆ รอเธอ
แต่เธอก็ดูเหมือนว่าจะไม่อยากให้ตัวเองเป็นตัวถ่วงของใคร และบอกคนอื่นว่าให้ทำกันไปก่อนไม่ต้องห่วงเธอ แม้ว่าปกติแล้วคุณจะไม่เข้าไปแทรกแซงโครงงานวิทยาศาสตร์ของเด็ก เพราะคุณเชื่อว่า ความล้มเหลวก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ แต่ด้วยความที่คุณเห็นว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องขอเครื่องมือ บวกกับห้วงเวลานั้นคุณสนใจเพียงอย่างเดียวว่า “เด็กผู้หญิงคนนี้จะต้องประสบความสำเร็จในการทดลอง” และ “เธอจะต้องกลับบ้านด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า”
อย่างไม่รอช้า คุณจึงยื่นมือเข้าไปอาสาช่วยสาวน้อยคนนั้น แต่เนื่องจากไส้ตะเกียงสั้นกุดเกินกว่า จะจุดได้โดยง่าย คุณจึงโน้มตัวลงเข้าไปใกล้ ๆ ก่อนจะจุดมันด้วยไม้ขีดไฟ พอไส้ตะเกียงติดไฟแล้ว ด้วยอารามดีใจ คุณจึงเงยหน้าขึ้นอย่างผู้มีชัย เพื่อดูรอยยิ้มที่คุณหวังจะได้เห็นบนใบหน้าของแม่หนูน้อยคนนั้น
แต่แล้วก็มีเสียงกรีดร้องด้วยความตกใจดังขึ้น! พร้อมมีเสียงตะโกนโหวกเหวก และสายตาทุกคู่จับจ้องมาที่คุณ นิ้วชี้ทุกนิ้วชี้มาที่หัวของคุณ และแล้วคุณจึงได้รู้ตัวว่า ไฟกำลังลุกบนหัวของตัวเอง ทันใดนั้น เด็ก ๆ พากันวิ่งกู่เข้ามาเอามือปัดไปที่ศีรษะของคุณ มันเป็นเรื่องดูตลกร้าย ทว่าก็แฝงด้วยความน่ารัก อย่างที่คุณพูดติดตลกว่า “จะว่าไปก็เหมือนฝันร้ายเป็นจริง…เด็ก ๆ ได้ตบหัวครูและบอกว่าพวกเขากำลังพยายามช่วยชีวิตครูอยู่”
และคุณยังบอกอีกว่า “สองสามนาทีต่อมา ทุกอย่างก็เรียบร้อย การทดลองดำเนินต่อไป ผมรู้สึก (และมองดู) เหมือนไอ้งั่ง ถึงอย่างนั้น นั่นก็เป็นครั้งแรกในหลายสัปดาห์ที่ผมรู้สึกดีมาก ๆ กับการเป็นครูจนผมเลิกใส่ใจเรื่องงี่เง่าที่ครูผู้ทุ่มเทกับการสอนทั้งหลายต้องเผชิญไปเลย ผมทำทุกอย่างที่ผมทำได้เพื่อช่วยเด็กบางคน ผมทำได้ไม่ดีเท่าไรหรอก แต่ก็พยายามแล้วละ ผมคิดว่าถ้าผมเอาใจใส่การสอนเสียจนไม่รู้ตัวว่าไปกำลังลุกไหม้หัวตัวเองอยู่ละก็ ผมมาถูกทางแล้ว นับจากนั้น ผมได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าผมจะสอนเด็กนักเรียนเหมือนกับมีไฟกำลังลุกไหม้อยู่บนหัวผม”
ผมรู้แล้วว่าความเยี่ยมยุทธ์ของคุณนั้น แท้จริงแล้วมาจากการที่คุณต้องเสียสละ ความผิดพลาด ความพยายามอย่างยิ่งยวด และมันก็ไม่มีทางลัดสำหรับทางสายนี้ คุณรู้ไหม วันนั้นทั้งวัน ผมเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์นี้ และคำพูดของเด็กหญิงคนนั้น ก็ดังก้องสะท้ายในกะโหลกศีรษะของผมตลอดเวลา จนกระทั่งผมได้คำตอบให้กับตัวเองว่า ความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเรา จะเรียนรู้มันหรือไม่ เช่นนนี้แล้ว ผมจึงบอกกับตัวเองนับตั้งแต่นั้นว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก และผมก็คิดอีกด้วยว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว!
ผมชอบมาก ที่คุณนำทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม 6 ระดับของ Lawrence Kohlberg ที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของ Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ มาใช้ในการวิเคราะห์บุคลิกภาพ (personality) ของเด็กนักเรียนของคุณ ซึ่งประกอบด้วย
ระดับที่ 1: ฉันไม่อยากมีปัญหา
เด็กนักเรียนจะใช้ผลของการแสดงพฤติกรรมเป็นเครื่องตัดสินใจว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด อาทิ เมื่อเขาแสดงออกถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หากครูบอกว่าพฤติกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เด็กนักเรียนจะจดจำทันทีว่าสิ่งนั้นผิด และจะไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมนั้นอีก เป็นต้น
ระดับที่ 2: ฉันอยากได้รางวัล
เด็กนักเรียนจะแสดงออกถึงพฤติกรรมตามกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับต่าง ๆ เมื่อทำลงไปแล้วได้รับรางวัลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของหรือคำชื่นชม ซึ่งตรงกับทฤษฎีการเสริมแรงของ B.F. Skinner ที่กล่าวว่า พฤติกรรมมนุษย์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมการกำหนดเงื่อนไขการเสริมแรงการลงโทษ แต่ในขั้นนี้ของ Kohlberg เด็กนักเรียนจะแสดงออกด้วยความพอใจในรางวัลที่ได้รับมากกว่าหวาดกลัวการถูกลงโทษ
ระดับที่ 3: ฉันอยากเอาใจใครสักคน
เด็กนักเรียนจะแสดงพฤติกรรมไปตามสิ่งที่เพื่อนหรือสังคมคาดหวัง และจะแสดงพฤติกรรมลอกเลียนแบบบุคคลที่ตนคิดว่าเป็นคนดี ดังนั้น พฤติกรรมที่ดีสำหรับเด็ก คือพฤติกรรมที่คนอื่นมองว่าดี พอใจ และให้การยอมรับ ซึ่งในขั้นนี้ เด็กจะให้ความสำคัญกับความคาดหวังของคนอื่นมากว่าการได้รับรางวัลและการลงโทษ
ระดับที่ 4: ฉันปฏิบัติตามกฎ
เด็กนักเรียนจะปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎหมายของสังคม รวมทั้งทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด ในชั้นนี้ เด็กจะคำนึงถึงกฎระเบียบมากกว่ารางวัล การลงโทษ และการทำตามความพอใจของคนอื่น
ระดับที่ 5: ฉันรู้จักเกรงใจผู้อื่น
ก่อนที่เด็กนักเรียนจะยอมรับหรือยึดถือปฏิบัติจะมีการใช้เหตุผลไตร่ตรอง ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิดและปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่นโดยจะไม่พยายามริดรอนสิทธิของคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
ระดับที่ 6: ฉันมีจรรยาบรรณของตัวเองที่ฉันยึดถือปฏิบัติ
เด็กนักเรียนจะสร้างอุดมคติและหลักคุณธรรมประจำใจของตัวเองขึ้นมา และจะตัดสินความถูกผิดจากมโนธรรมที่มีความเป็นสากลของตนเอง
แต่กว่านักเรียนจะไปถึงระดับ 6 ได้ คุณบอกว่าจะต้องอาศัย “ประสบการณ์ ความอดทน และบทเรียนจากความล้มเหลว เราสามารถสร้างห้องเรียนที่มีพื้นฐานอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นักเรียนรู้ว่าคุณมีความยุติธรรม และเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ เด็ก ๆ รู้ว่าเวลาที่คุณอยู่ด้วย พวกเขาจะปลอดภัยและคุณมีอะไรให้พวกเขาได้เรียนรู้ ห้องเรียนที่ตั้งอยู่บนรากฐานขอความไว้ใจและปราศจากความกลัวเป็นสถานที่ที่สุดวิเศษสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้”
ซึ่งคุณกำลงชี้ให้เห็นว่า มันจะเกิดความล้มเหลวขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน เราต้องใช้ทั้งความอดทนและพยายามในการเรียนรู้มัน นำบทเรียนจากความล้มเหลวนั้นมาสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จของเรา อย่างเช่นกับที่คุณสร้างมันขึ้นในห้องเรียน 56 ของคุณ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น เป้าหมายของพวกเรา ในฐานะครูคนหนึ่ง ก็คือ การพาเด็กนักเรียนไปให้ถึงระดับ 6 ให้จงได้
ใช่ครับ! Rafe จริงอย่างที่คุณว่า นั่นแหละ เมื่อเราล้มเหลว เราจะเรียนรู้ เมื่อเราเรียนรู้ เราจะสำเร็จ เมื่อเราสำเร็จ และเราจะพัฒนา...
ด้วยความนับถือ
ผมเอง!
ที่มา (https://www.thaihealth.or.th)
หมายเหตุ: มือใหม่หัดเขียน ผิดพลาดประการใด โปรดช่วยชี้แนะ ผมด้วยนะครับ!
อ้างอิง
- หนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ (Teach Like Your Hair’s on Fire) แปลโดย สสค.
- หนังสือ ครูแท้แพ้ไม่เป็น (Real talk for Real teachers) แปลโดย คุณอุบลรัตน์ เต็งไตรรัตน์
โฆษณา