17 พ.ค. 2019 เวลา 05:07 • การศึกษา
"ภาษีขายสินค้าออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าต้องรู้"
ปัจจุบัน ด้วยความสะดวกสบายในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทำให้พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยค้าขายมาก่อน หันมาเปิดร้านค้าออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะทำเป็นอาชีพหลัก หรือทำควบคู่กับงานประจำ เรียกได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถขายของออนไลน์ได้
ในประเทศไทย การค้าขายออนไลน์ในยุคแรก ๆ นั้น พ่อค้า แม่ค้าสามารถทำรายได้จากการค้าขายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือวิธีการรองรับในการตรวจสอบเกี่ยวกับการโอนหรือฝากเงินสำหรับซื้อขายสินค้า
ทำให้การเรียกเก็บภาษีจากการค้าขายออนไลน์ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ (บุคคลผู้มีเงินได้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่วิธีการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ)
จนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้เพื่อรองรับและปิดช่องโหว่ดังกล่าว
โดยสถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมเฉพาะในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากร
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หมายถึง การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ
การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป หากเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตามกฎหมายนี้ก็คือ เมื่อสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลของบัญชีที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวต่อสรรพากร ข้อมูลส่วนตัวของพ่อค้า แม่ค้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล เลขที่บัญชี จำนวนเงินที่ฝาก โอน สรรพากรจะมีข้อมูลเหล่านั้นทั้งหมด
ทำให้การเรียกเก็บภาษีจากการค้าขายออนไลน์ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะมีข้อมูลสำหรับเรียกเก็บแล้ว
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเรียกเก็บภาษี
มีคำแนะนำง่าย ๆ คือ ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย การเก็บหลักฐานการฝาก โอนทุกครั้ง รวมถึงหลักฐานการซื้อขาย การยกเลิก การเปลี่ยนแปลงการซื้อขาย
เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ยืนยันกับสรรพากรไม่ให้จัดเก็บภาษีเกินความเป็นจริงได้
โดยสถาบันการเงินจะเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2562 เป็นต้นไปและจะส่งข้อมูลให้แก่สรรพากรภายในเดือนมีนาคม 2563
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา