18 พ.ค. 2019 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“คลุมถุงชน”
คลุมถุงชน” คือการแต่งงานด้วยการจัดแจงจากพ่อแม่หรือผู้อาวุโสของบ่าวสาว โดยที่คู่สมรสไม่จำเป็นต้องสมัครใจยินยอมกับการแต่งงาน เป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่มีมานานแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะค่อยๆ เสื่อมความนิยม เมื่อสังคมนั้นๆ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่
ในเมืองไทยสมัยก่อน การแต่งงานที่มีการควบคุมแบบเข้มงวดจากพ่อแม่มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่
การคลุมถุงชนเกิดขึ้นเมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ครอบครัวต่างๆ จึงใช้กลไกการแต่งงานเพื่อประโยชน์ในการรักษาสถานะทางสังคมหรือการเมือง เป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในบรรดาชนชั้นสูง
ส่วนคำว่า “คลุมถุงชน” จะถูกใช้แทนการแต่งงานด้วยการจัดแจงของผู้ใหญ่ตั้งแต่เมื่อไหร่ เชื่อว่าน่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นเมื่อมันกลายเป็นธรรมเนียมที่คนทั่วๆไปคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากคำว่า “คลุมถุงชน” นั้นน่าจะมีที่มาจาก “บ่อนไก่” ดังที่ภาษิต จิตรภาษาได้เคยอธิบายไว้ ความว่า
“คลุมถุงชน มาจากการชนไก่. แต่ก่อนการเอาไก่ไปบ่อนเพื่อไปชนนั้น เขาจะเอาถุงคลุมไปแต่บ้านเพื่อกันไก่ตื่น, เมื่อถึงบ่อนก็เปิดถุงออกเอาไก่เปรียบแล้วชนกัน. แต่เจ้าของไก่บางคนกระสันมาก เห็นเพื่ออุ้มไก่มายังไม่ทันเปิดถุงดูรูปร่างหน้าตาก็ท้าชนเลย. เมื่อตกลงกันก็เปิดถุงปล่อยเข้าสังเวียนชนกันเลย ไม่มีข้อแม้เล็ก-ใหญ่. หนุ่ม-สาว ที่ไม่เคยรู้จัก-รักใคร่กันมาก่อน, พ่อ-แม่จัดให้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น มันเหมือนกับการชนไก่แบบนี้ จึงเรียก ‘คลุมถุงชน’.”
ในเมืองไทยแม้การคลุมถุงชนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรแล้ว แต่ที่อินเดีย2ประเพณีนี้ยังคงเข้มแข็ง การสำรวจในปี 2013 พบว่า การแต่งงานในอินเดียกว่า 90% เป็นการคลุมถุงชนทั้งนั้น
และที่น่าแปลกใจก็คือ การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก คู่สมรสกลับใช้ชีวิตคู่กันอย่างยืนยาว โดยในอินเดียการสมรสที่จบลงด้วยการหย่าร้างมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น
แปลกดีเหมือนกันนะครับ
โฆษณา