23 พ.ค. 2019 เวลา 13:16 • ครอบครัว & เด็ก
3 ตุลาคม 2018 วิภาวดีสัตวแพทย์ เขียนเล่าเรื่องพี่ดาโน่ หมาชิสุถูกทิ้ง ที่หลังจากเจ้าของมีลูกแล้วก็ปล่อยปละละเลยจนเป็นไข้สูง ตัวผอมเหลือง เห็บเต็มตัว ขี้ตาเกรอะกรัง ก่อนจะนำไปรักษากับทางคลินิก และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่ดาโน่ได้เห็นหน้าคนที่มันรักที่สุดในชีวิต เพราะเจ้าของไม่เคยมารับพี่ดาโน่กลับอีกเลย
หลังจากถูกรักษาจนหายดี พี่ดาโน่อาศัยคลินิกเป็นบ้านชั่วคราว เฝ้ารอเจ้าของมารับด้วยแววตาเศร้าสร้อยหน้าประตูกระจกทุกวัน แต่จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตก็ไม่มีโอกาสจะได้พบพาน
11 กันยายน 2018 ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ชายคนหนึ่งทิ้งโกลเดน รีทรีฟเวอร์ และแมวท้องอ่อน ของตัวเองลงจากอพาร์ตเมนต์ชั้น 21 เพราะภรรยากำลังท้อง
ทั้งหมาและแมวดิ่งลงกระแทกพื้นตายคาที่โดยเจ้าของไม่เหลียวแลแม้แต่น้อย สุดท้ายชาวบ้านต้องช่วยกันนำผ้าห่มเด็กมาห่อและฝังบริเวณนั้นอย่างน่าสังเวช
นี่คือตัวอย่างชะตากรรมของหมาแมวที่เกิดขึ้นหลังจากเจ้าของตั้งท้อง และยังมีอีกหลายชีวิตทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการถูกฆ่าหรือถูกทิ้งไม่ต่างกันนี้ ด้วยเหตุผลว่าพวกมันกำลังจะหมดประโยชน์เพราะเจ้าของมีชีวิตใหม่เข้ามาแทนที่ และพวกมันตกเป็นจำเลยของความเชื่อว่าหมาแมวทำให้คนท้องป่วย ทารกอ่อนแอ ทั้ง ๆ ที่งานวิจัยจากทั่วโลกกำลังบอกว่าเราอาจจะคิดผิด
ความเชื่อที่ผิดเพี้ยน
“เดี๋ยวขนหมาแมวจะเข้าปอด”
“หมาแมวสกปรกเด็กจะเป็นภูมิแพ้”
นี่คือสิ่งที่เราได้ยินเสมอ ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องสัตว์และคนท้อง ก่อนจะนำมาสู่การจากลาที่น่าเศร้าเหมือนหญิงสาวที่ถูกแฟนหนุ่มทอดทิ้งโดยไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด
ในขณะที่ข่าวต่าง ๆ พาดหัวและตีข่าวความน่ากลัวของขนสุนัขที่เข้าไปติดในปอดจนคนเลี้ยงต้องเสียชีวิต หมอทั่วประเทศก็กำลังพยายามสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าขนหมาแมวเข้าปอดคนไม่ได้เช่นกัน
อย่างเช่นเด็กสาวชั้น ป.5 จากจังหวัดตรังซึ่งแม่บอกว่าลูกชอบคลุกคลีกับน้องหมาจนขนเข้าปอดตายนั้น แพทย์ผู้ดูแลอาการได้แจ้งว่าเด็กสาวเสียชีวิตเพราะเป็นวัณโรคปอดและไม่มีขนหมาอยู่ในนั้นแม่แต่เส้นเดียว
ในความเป็นจริงแล้วขนของสัตว์มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะผ่านจมูกเข้ามาในปอดได้ เพราะภายในโพรงจมูกของเรามีขนจมูกที่คอยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่แม้แต่ฝุ่นยังผ่านเข้าไปได้ยาก นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถผลิตน้ำมูกและเสมหะไว้คอยดักจับได้อีกชั้นหนึ่ง การที่ขนสัตว์จะหลุดรอดด่าน18อรหันต์ทองคำนี้ไปฆ่าเราจึงเป็นไปไม่ได้เลย
และไม่เพียงแค่ทำร้ายเราไม่ได้ งานวิจัยของนายแพทย์อีจา เบอร์โกรธ(Eija Bergroth) กุมารแพทย์จากฟินแลนด์ ยังทำลายความเชื่อของเราลงจนป่นปี้ เมื่อคุณหมอออกมาบอกไว้ว่า การเลี้ยงทารกคู่กับหมาแมวกลับยิ่งช่วยให้เด็กสุขภาพดีขึ้นไปอีก
ยิ่งเลี้ยงสัตว์ ลูกยิ่งแข็งแรง
หลังจากติดตามศึกษาเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลคุโอปิโอ(Kuopio) จำนวน 397 คน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2002 - พฤษภาคม 2005 โดยมีทั้งกลุ่มที่ครอบครัวเลี้ยงหมาแมว และกลุ่มที่ไม่ได้เลี้ยง ผลที่ออกมาปรากฏว่าทารกที่มาจากครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์นั้นกลับมีสุขภาพดีกว่าทารกที่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์
คุณหมออีจา เบอร์โกรธได้กล่าวไว้ว่า เด็กที่ทางบ้านเลี้ยงสัตว์นั้นจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่า เพราะจากงานวิจัยนั้นพบว่าทารกมีอาการป่วยต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในเด็กอ่อน เช่น หูอักเสบ ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เป็นไข้ มีน้ำมูก น้อยกว่าเมื่อเทียบกับทารกที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงที่บ้าน และเมื่อมีอาการป่วยก็ใช้กินยาน้อยกว่า หรือแทบไม่ต้องใช้ยาเลย
แม้ว่าสาเหตุที่การเลี้ยงหมา-แมวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่คุณหมอได้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นเพราะเมื่อหมา-แมวเดินเข้าบ้านจะเอาเศษดิน ทราย ฝุ่น และแบคทีเรียเข้ามาด้วย ทำให้ทารกที่สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังลดโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งเลี้ยงสัตว์ ลูกยิ่งฉลาด
นอกจากนี้ในปี 2017 วารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health ยังได้ตีพิมพ์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (Liverpool) ซึ่งได้ทบทวนและประเมินงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของสัตว์เลี้ยงต่อพัฒนาการในเด็กและวัยรุ่นโดยแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ทั้ง อารมณ์ การรู้คิด การศึกษา และสังคม
ในด้านอารมณ์นั้นพบว่าการสัตว์เลี้ยงช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี ทำให้เด็กเห็นคุณค่าและมีความภูมิใจในตัวเอง สามารถลดอาการวิตกจริต ความเหงา และอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี โดยจะมีผลอย่างมากกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ และเด็กที่มีอายุ10ขวบขึ้นไปจนถึงวัยรุ่น
ในการทดลองกับเด็ก 7-12ขวบ ยังพบอีกว่าเมื่อเด็กต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน น้องหมาสามารถช่วยลด Cortisol ทำให้เด็กผ่อนคลายลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าคนใกล้ชิดหรือตุ๊กตาหมาเสียอีก
นอกจากนี้ในเด็กหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขจิต ลูกหมายังสามารถช่วยบรรเทาความเครียดและป้องกันปัญหาลุกลามจนกลายเป็นอาการป่วยทางจิตได้อีกด้วย
ส่วนใครที่กังวลเรื่องผลการเรียนของลูกนั้น จากงานวิจัยได้ระบุว่าเด็กที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุนัข จะมีพัฒนาการในการเรียนรู้ ความสามารถสื่อสารและจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ดีกว่า มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ และที่สำคัญคือการเลี้ยงสัตว์นั้นสามารถพัฒนาทักษะการเข้าสังคม ความเห็นอกเห็นใจ ความรับผิดชอบให้เด็กได้อีกด้วย
โรคขี้แมว ความหวาดกลัวของคนท้อง
แต่เช่นเดียวกับทุกสิ่งบนโลก ถึงแม้ว่าการเลี้ยงสัตว์นั้นจะมีข้อดีแต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะตามมาได้ ทั้งการถูกกัด ข่วน จากหมา-แมว หรือการติดเชื้อต่าง ๆ ที่จะตามมาโดยเฉพาะเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma Gondii) ซึ่งจะนำไปสู่โรคทอกโซพลาสโมซิส(Toxoplasmosis) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคขี้แมวนั่นเอง
เป็นไปตามชื่อ แน่นอนว่าพาหะของโรคนี้ก็คือแมว โดยเกิดจากแมวที่เลี้ยงแบบปล่อยแล้วออกล่ากินหนู นก แมลงต่าง ๆ จนเชื้อปนเปื้อนเข้าสู่ตัวแล้วแพร่กระจายจนมาถึงลำไส้ในที่สุด และติดต่อสู่คนด้วยการไปสัมผัสขี้แมวนั่นเอง ซึ่งมีการประมาณการไว้ว่ามีประชากรโลกถึง 1 ใน 3 ที่คิดเชื้อนี้เลยทีเดียว
เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อเข้าไปในกรณีที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ ต้นคอ แถวมุมกราม หลังใบหู ซึ่งจะหายไปเองในเวลาไม่นาน แต่ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด มีปัญหาด้านการมองเห็น การพูดและการเดิน ได้
สำหรับในคนท้องนั้นอาการจะขึ้นกับว่าได้รับเชื้อช่วงไหน โดยถ้าคุณแม่ติดเชื้อครั้งแรกใน 3 เดือนแรก จะมีโอกาสประมาณ 45 % ที่จะส่งผลถึงเด็ก ซึ่ง60% ของเด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการผิดปกติ 10 % จะแท้งหรือตายเมื่อแรกคลอด  ส่วนอีก 30 %จะมีอาการรุนแรง ถ้าหากเด็กมีชีวิตรอดมักไม่แสดงอาการในช่วงทารก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีอาการ เช่น มีไข้ ตับม้ามโตเหลือง เลือดจางซีด ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ หากเป็นที่สมองก็จะมีอาการชัก น้ำคั่งในสมอง หัวบาตรหรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ เนื้อสมองมีหินปูนเกาะ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน และ ชักในช่วงเด็กวัยรุ่นได้
แต่ทั้งหมดนั้นคุณแม่ทั้งหลายยังไม่ต้องตกใจจนเกินไปเพราะสำหรับคุณแม่ที่เคยรับเชื้อตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่ป้องการติดต่อไปสู่เด็กในท้องอยู่แล้ว ส่วนคุณแม่ที่ยังไม่แน่ใจตัวเองมีภูมิคุ้มกันเชื้อหรือไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อง่าย ๆ ด้วยการ กินอาหารที่ปรุงสุก สะอาดเสมอ กินผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้วเพื่อป้องกันเชื้อท่ีติดมาเปลือก หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดิน ทราย และทรายของแมว ควรให้คนอื่นในครอบครัวทำหน้าที่เก็บอึแทน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังภารกิจเก็บกวาด งดเล่นกับแมวจร เพียงเท่สนี้ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แล้ว
สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปเพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน คุณแม่ส่วนใหญ่นั้นมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่ช่วยป้องกันโรคขี้แมวอยู่แล้ว เว้นแต่คุณแม่ในกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ กำลังให้เคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง และผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ที่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย จึงควรระวังในการสัมผัสกับแมว
ท้องไม่ต้องทิ้ง
จากข้อมูลการสำรวจประชากรหมา-แมวของกรมปศุสัตว์ ในปี 2559 ระบุว่า จำนวนหมาทั้งหมดในประเทศไทยมีอยู่ 6.7 ล้านตัว และเป็นหมาจรจัดราว 7.5 แสนตัว ในขณะที่จำนวนแมวมีอยู่ 3 ล้านตัว และเป็นแมวจรจัดประมาณ 4.8 แสนตัว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากการออกลูกออกหลานและถูกทิ้ง
หมา-แมวจรหลายตัวต้องพบเจอกับการถูกคนทำร้ายทรมาน ไม่ว่าจะถูกตีจนพิการ ถูกมีดฟันจนเป็นแผลรอบตัว ถูกตัดขา ตัดปาก เอาเหล็กแหลมแทงทะลุตา หลายตัวต้องตายเพราะถูกฆ่า ขาดอาหาร ถูกรถชนอย่างน่าสังเวช
ในขณะที่เราสามารถอยู่ร่วมกับหมา-แมวได้แม้ยามท้องและคลอดลูก เพียงแค่จัดสถานที่แยกกันให้เป็นระเบียบ ไม่สัมผัสอึของหมา-แมวโดยตรง รักษาความสะอาดของบ้านและของใช้ต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องทอดทิ้งพวกมันออกไปเผชิญอันตรายจากภายนอก
อย่าเลือกรักเฉพาะในวันที่เราไม่มีใครและทิ้งขว้างเวลาที่เขาหมดประโยชน์เพราะมีสิ่งแก้เหงาสิ่งใหม่ เพราะสัตว์ก็มีหัวใจ มีความเจ็บปวดไม่ต่างกับเราเช่นกัน
อ้างอิง
โฆษณา