27 พ.ค. 2019 เวลา 04:49 • ข่าว
“นี่คือหลิวเฮ่อ เขาสำคัญกับผมมาก” ประธานาธิบดี #สีจิ้นผิง กล่าวแนะนำชายผมสีดอกเลากับปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐที่เดินทางเยือนปักกิ่งเมื่อปี 2013 หลังจากนั้นชื่อของ #หลิวเฮ่อ ก็ถูกจับตาในฐานะขุนพลเศรษฐกิจข้างกายผู้นำ #จีน ทุกวันนี้เขาคือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลจีนเดินทางไปเจรจาคลายข้อข้อพิพาททางการค้ากับ #อเมริกา
หลิวเฮ่ออาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นเคยแม้แต่คนที่ติดตามเรื่องจีน หากแต่เขาคือหนึ่งในผู้ที่วางพิมพ์เขียวของเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน, หูจิ่นเทา จนถึงสีจิ้นผิง หลายคนเปรียบเทียบเขาเหมือนกับ “หลวงจีนกวาดลานวัด” ใน #แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ผู้ซึ่งเปี่ยมวรยุทธ์แต่สงบเสงี่ยม
หลิวเฮ่อเกิดในปี 1952 หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นได้ไม่นาน บิดาของเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปักกิ่ง 101 สถานศึกษาของบรรดาลูกหลานสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และที่นี่เขาได้รู้จักกับสีจิ้นผิงในวัยเยาว์
ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมทั้งหลิวเฮ่อและสีจิ้นเผิงเผชิญชะตากรรมถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในชนบท แต่หลิวเฮ่อต้องเจ็บปวดมากกว่าเมื่อพ่อของเขาตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างทางการเมือง จนต้องฆ่าตัวตายด้วยวัยเพียง 49 ปี
หลังผ่านพ้นยุคแห่งความปั่นป่วน หลิวเฮ่อจึงได้เข้าทำงานที่โรงงานผลิตวิทยุในปักกิ่ง ก่อนจะได้หวนคืนสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัยเหรินหมิน
หลิวเฮ่อยังเป็นนักศึกษาชาวจีนรุ่นแรก ๆ ที่ได้ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา ความรู้จากการเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด ทำให้เข้าใจทั้งกลไกทุนนิยมตะวันตกและสังคมนิยมแบบจีนเป็นอย่างดี
**** เข้าใจหลิวเฮ่อ เข้าใจเศรษฐกิจจีน ****
เส้นทางชีวิตของหลิวเฮ่อแตกต่างจากผู้นำระดับสูงของจีนอย่างมาก แกนนำในรัฐบาลจีนส่วนใหญ่จะถูกส่งตัวไปสั่งสมประสบการณ์ในท้องถิ่นตามมณฑลต่าง ๆ ก่อนที่จะกลับมาเป็นใหญ่ในปักกิ่ง หากแต่หลิวเฮ่อเป็นนักวิชาการเต็มตัว ทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นคลังสมองผู้วางแผนเศรษฐกิจของแดนมังกร เขามีส่วนในการวางแผนเศรษฐกิจระยะห้าปีของจีนมานานกว่า 27 ปี
หลิวเฮ่อชำนาญในทฤษฎีทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับสถิติ แผนงานต่าง ๆ จึงอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ นักวิชาการที่ก้าวขึ้นกุมอำนาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจแดนมังกรมีเพียงไม่กี่คน นอกจากหลิวเฮ่อแล้วก็มี “โจวเสี่ยวชวน” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานถึง 15 ปี
หลิวเฮ่อเป็น “คนหลังฉาก” มาตลอด จนกระทั่งสีจิ้นผิงขึ้นกุมอำนาจในแดนมังกรในปี 2012 เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ภาพที่หลิวเฮ่อติดตามสีจิ้นผิงไปตรวจงานที่ต่าง ๆ แนวคิดของเขาที่ได้รับการเอ่ยอ้างถึงจากผู้นำจีนมากยิ่งกว่าของนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ทำให้เคยมีเสียงร่ำลือว่าเขาอาจได้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางจีน แต่สีจิ้นผิงได้มองการไกล โดยเลือกให้หลิวเฮ่อเป็นคนข้างกายที่เรียกใช้ได้ตลอดเวลา
ความเป็นนักวิชาการทำให้หลิวเฮ่อมีท่าทีสุขุม แต่ความจริงแล้วเขามั่นคงในจุดยืนอย่างมาก ในการประชุมใหญ่ของสภาประชาชนจีน เขาปรากฏตัวด้วยผมสีดอกเลา แหวกธรรมเนียมของผู้นำจีนที่จะย้อมผมให้ดำขลับ สะท้อนถึงความเป็นตัวของตัวเองของเขาได้เป็นอย่างดี
หลิวเฮ่อระบุในงานเขียนของเขาว่า “เสถียรภาพทางการเมืองคือเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน จีนไม่อาจเดินตามเส้นทาง #ประชาธิปไตย แบบตะวันตก” โดยการที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป และการบริหารสไตล์ลูกบ้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งทำให้จีนมั่นใจว่าทุนนิยมแบบตะวันตกไม่ใช่สูตรสำเร็จอีกต่อไป
**** พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยอง ****
ในยุคที่ต้องเผชิญกับผู้นำระห่ำที่คาดเดาไม่ได้อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จีนวางตัวมืออาชีพ 2 คนเพื่อรับมือกับสหรัฐ คือ หยางเจียฉือ มุขมนตรีที่ดูแลด้านการต่างประเทศ ผู้เป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน และ หลิวเฮ่อ ที่เดินเกมเจรจาด้านการค้า
ทันทีที่เดินทางถึงวอชิงตัน คณะของหลิวเฮ่อถูก “เรียกค่าไถ่” โดยฝ่ายสหรัฐเรียกร้องให้ลดการขาดดุลการค้าที่มีต่อจีนสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาห์ แต่รองนายกฯ จีนก็สามารถหยุดลูกบ้าของทรัมป์ได้ โดยระบุว่าจะเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐเข้าไปในจีนมากขึ้น ซึ่งผู้ที่คุ้นเคยกับเศรษฐกิจจีนอยู่บ้างก็คงรู้ดีว่าตลาดในจีนนั้นมีสภาพกึ่งผูกขาด ถึงแม้จะเปิดตลาดให้สินค้าต่างชาติ ก็ใช่ว่าชนะบริษัทของจีนได้
หลิวเฮ่อเคยกล่าวว่าเขาไม่เคยคิดว่า #สหรัฐ และจีนเป็นศัตรูกัน ศัตรูที่แท้จริงคือการก่อการร้าย, การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
หลิวเฮ่อและสีจิ้นผิงต่างเคยเจ็บปวดจากการปฏิวัติวัฒนธรรม วันนี้ทั้งสองคนกำลังจะ “ทวงคืน” ความยุติธรรมให้ครอบครัวตัวเอง และ “ฟื้นคืน” ความยิ่งใหญ่ของแดนมังกร คนหนึ่งคือประธานาธิบดีที่จะดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด และอีกคนอาจจะเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป
โฆษณา